“สมเด็จธงชัย” ย้ำ “ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมสุจริต”

        วันที่ 26 สิงหาคม 2564  วันนี้เป็นที่ 2 ในการสัมมนาบูรณาการการใช้หลักธรรมสร้างสังคมไม่ทนต่อการทุจริต ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

       สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญหนกลาง ได้ปาฐกถาพิเศษในเรื่อง “หลักธรรมกับการขับเคลื่อนพลัง บ-ว-ร ต่อต้านทุจริต” สรุปความว่า

       ขอแสดงความชื่นชมยินดี ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ดำเนินโครงการบูรณาการแนวทางความร่วมมือทางศาสนาในการต่อต้านการทุจริต โดยการประยุกต์หลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนากับหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา (Anti-Corruption Education) สำหรับการประชุมสัมมนาในครั้งนี้ มีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย พระสังฆาธิการ พระสงฆ์ พระธรรมวิทยากรและพระสอนศีลธรรม ในเขตปกครองคณะสงฆ์หนกลาง รวมทั้งผู้บริหารและบุคลากรของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ส่วนกลาง  วิทยาเขตและวิทยาลัยสงฆ์ในโซนภาคกลาง เข้าร่วมประชุมสัมมนาโดยผ่านระบบออนไลน์

       การปลูกฝังคุณธรรมให้เกิดมีแก่บุคคลในชาติ ด้วยการสร้างจิตสำนึกในการต่อต้านการทุจริต ประพฤติมิชอบ เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง หลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาที่ควรนำมาบูรณาการกับหลักสูตรต้านทุจริตศึกษานั้น ในที่นี้จะขอกล่าวถึงหลักธรรมสำคัญที่ปรากฏในสังวรสูตร คือหลักสัมมัปปธาน หรือความเพียรชอบ 4 ประการ กล่าวคือ (1) สังวรปธาน หมายถึง เพียรระวังหรือเพียรป้องกันบาปอกุศลที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น (2) ปหานปธาน หมายถึง เพียรละหรือเพียรกำจัดบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้เบาบางลงหรือหมดไป (3) ภาวนาปธาน หมายถึง เพียรเจริญหรือทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดมีขึ้น และ (4) อนุรักขนาปธาน หมายถึง เพียรธำรงรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เพิ่มพูนยิ่ง ๆ ขึ้นไป

เมื่อพิจารณาถึงหลักสัมมัปปธาน 4 ประการดังกล่าว แล้วนำมาประยุกต์เข้ากับหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ที่คณะกรรมการได้จัดทำขึ้นนั้น ก็จะพบว่ามีกระบวนการใหญ่ ๆ อยู่ 2กระบวนการ คือ

1.กระบวนการระงับดับปัญหาการทุจริต ด้วยหลักสังวรปธานและปหานปธาน กล่าวคือ เป็นกระบวนการจัดการกับสารพันปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้นได้อย่างครบวงจร

2.กระบวนการสร้างวัฒนธรรมแห่งความสุจริต ด้วยการใช้หลักภาวนาปธานและ    อนุรักขนาปธาน กล่าวคือ เป็นกระบวนการของการสรรสร้างวัฒนธรรมแบบใหม่ที่ยังไม่เกิดให้เกิดมีขึ้นและต้องธำรงรักษาวัฒนธรรมแบบใหม่นี้ให้คงอยู่สถาพรตลอดไป

     “การสร้างสังคมสุจริต เป็นบทบาทหน้าที่ของทุกภาคส่วนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์ พุทธศาสนิกชน หรือบุคคลทั่วไป หากทำได้เช่นนี้สังคมก็จะปราศจากปัญหาการทุจริต เพราะบุคคลในสังคมจะมีความเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตน นอกจากนี้ ยังเป็นการปลูกฝังคุณธรรมแก่บุคคลในสังคมให้มีหิริโอตตัปปะ คือความอายชั่วกลัวบาป ไม่ประพฤติทุจริตในทุกกรณี และมีความสุจริตทั้งทางกาย วาจาและใจ พัฒนาและส่งเสริมให้เกิดสังคมอุดมสุขและอุดมปัญญาอย่างยั่งยืน

     จึงขอฝากหลักธรรมในบวรพระพุทธศาสนาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงประทานไว้เป็นหลักในการดำเนินงานและดำเนินชีวิต ตามมรรควิถีอันจะเป็นเกราะป้องกันการทำทุจริตหรือปฏิบัติผิดทำนองคลองธรรม ตลอดจนกฎหมายอันเป็นบรรทัดฐานของสังคมสืบไป”

 

 

Leave a Reply