ที่ปรึกษาปลัด มท. สืบสานพลัง “บวร” เยี่ยมแปลง “ครูไทย หัวใจ โคก หนอง นา” เขียนตำราลงบนแผ่นดินไว้ให้ลูกหลาน

วันที่ 29 กรกฎาคม 2565 พระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ และที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย พระนักพัฒนาที่ให้การสนับสนุน เสียสละ และร่วมมือในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นมาโดยตลอดตามหลัก “บวร” หรือบ้าน วัด โรงเรียน ราชการ” ลงพื้นที่เยี่ยมชมแปลงโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” งบประมาณโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ปี พ.ศ.2564 กรมการพัฒนาชุมชน พื้นที่ 1 ไร่ ของครัวเรือนต้นแบบ นางอนุชิตาภรณ์ กันทะสา บ้านดอนชี หมู่ที่ 8 ตำบลหนองขอน อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

โอกาสนี้ พระพิพัฒน์วชิโรภาส ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เมตตากล่าวว่า ขอชื่นชมความสำเร็จในการดำเนินงาน “โคก หนอง นา โมเดล” ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ปี พ.ศ.2564 กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่สะท้อนให้เห็นถึงคำพูดที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว บนโคกมีป่าพอกิน ป่าพอใช้ ป่าพออยู่ มีความอุดมสมบูรณ์ แก้แล้ง แก้ท่วมได้จริง ไม่ใช่วาทกรรม แต่หากเป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้น ท่านจงมาดูเถิด จากนั้น ก่อนเดินทางออกจากแปลง ยังได้ปลูกต้นไม้ไว้ 1 ต้น เพื่อความเป็นสิริมงคล และยังถือเป็นการสร้างปอดให้เมืองอุบลฯ อีกด้วย

จากนั้น พระพิพัฒน์วชิโรภาส ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เดินทางไปยังแปลง “ครูไทย หัวใจ โคก หนอง นา” หรือสวนสุขกันเถอะเรา ของนายบัวผัน ปลุกใจ บ้านดอนชี หมู่ที่ 8 ตำบลหนองขอน อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ที่ใช้ทุนส่วนตัวและทำด้วยใจรัก เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน โดยเฉพาะเด็กเยาวชน และแปลงของนักเรียนด้วย โดยการให้นักเรียนมาฝึกทำนา และปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งผลผลิตและข้าวที่ได้มา จะมอบให้เป็นกองทุนอาหารกลางวันนักเรียน โรงเรียนบ้านดอนชี

พระพิพัฒน์วชิโรภาส ได้เมตตากล่าวอำนวยอวยพรให้แก่ครูบัวผันว่า “พื้นที่อุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว บนโคกมีป่าพอกิน ป่าพอใช้ ป่าพออยู่ แก้แล้ง แก้ท่วมได้จริง ไม่ใช่วาทกรรม แต่หากเป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้น ท่านจงมาดูเถิด เนื่องจากคุณครูท่านนี้มีใจรักในโคก หนอง นา เพราะตนเองทำแล้วได้ผลดี จึงได้ชักชวนญาติพี่น้อง เข้าร่วมโครงการกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย อีก 3 แปลง ในปี 2564 ก่อนกลับได้ปลูกต้นไม้ไว้ 1 ต้น ถือเป็นการเขียนตำราลงบนแผ่นดินไว้ให้ลูกหลานด้วย”

Leave a Reply