ทางออก..ปัญหาเพศเดียวกัน

    มีการนำเสนอข่าวในช่วงส่งท้ายปี ๒๕๖๑ ว่า “คณะรัฐมนตรี เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต ซึ่งเป็นการรับรองสถานะ และให้บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิดสามารถจดทะเบียนกันได้ เพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยสาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ. ได้กำหนดให้คู่ชีวิตมีสิทธิและหน้าที่ช่วยเหลือ อุปการะเลี้ยงดูกัน รวมทั้งให้มีสิทธิในฐานะคู่ชีวิต อาทิ สิทธิในการยินยอมรักษาพยาบาล การดำเนินคดีอาญาแทนคู่ชีวิต การจัดการทรัพย์สิน และการรับมรดก เป็นต้น โดยถือเป็นร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต ไทยถือเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีกฎหมายลักษณะนี้ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ชาย-ผู้ชาย และผู้หญิง-ผู้หญิง จดทะเบียนกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย”

            อ่านข่าวนี้เสร็จ ผู้เขียนชั่งใจว่า ถ้าจะพูดคุยกันในประเด็นนี้อย่างไรให้ได้ความรู้ และเข้าใจในบริบทความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ควรจะให้ผ่านไปเปล่า

            ก่อนอื่น คำที่ชวนให้น่าคุยกันก่อนคือ เรื่องสิทธิมนุษยชน (Human Right) ที่ถือว่าทุกคนมีสิทธิทางด้านกฎหมาย คือ การมีสิทธิในการใช้ชีวิตโดยไม่ถูกรุกล้ำ ไม่ถูกเบียดเบียนหรือข่มเหงด้วยการกระทำหรือคำพูด เมื่อมีการล่วงละเมิดสิทธิกัน สังคมจะต้องเข้ามารับรู้และสร้างความชอบธรรมให้เกิดขึ้น เพื่อเยียวยาผู้ถูกละเมิด  เป็นการสร้างบรรทัดฐานความเท่าเทียมหรือเสมอภาคให้แก่คนในสังคม เพื่อระงับปัญหาความรุนแรง ปัญหากดขี่สตรี ปัญหาผู้อพยพ และปัญหารักร่วมเพศ เป็นต้น

ถ้าเรามองด้านประโยชน์ก็คือว่าเป็นการยกระดับเรื่องสิทธิของมนุษย์ให้เท่าเทียมกันในแง่กฎหมาย

ขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งก็ยกเรื่องปัญหาทางศีลธรรมเข้ามาพิจารณา ดังคำถามธรรมศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ที่ถามว่า ในฐานะที่นักเรียนศึกษาอุโบสถศีลมาแล้ว ผู้ที่บกพร่องทางเพศ เช่น กะเทย เกย์ ตุ๊ด ทอม เพราะวิบากกรรมอะไร คำตอบคือการประพฤติผิดในกาม จนกลายเป็นประเด็นปัญหาที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ถึงความคับแคบทางศาสนาที่ตัดสินคนเหล่านี้ตั้งแต่เกิด สะท้อนให้เห็นว่าศีลธรรมละเลยเรื่องสิทธิหรือความเท่าเทียมไปหรือไม่

            มาถึงตรงนี้ ผู้อ่านข่าวต้องศึกษากันให้ละเอียดก่อนด่วนสรุป

            เพราะศีลธรรมที่เรากำลังพูดถึงนั้น เกี่ยวข้องกับบุคคลมากกว่าหลักธรรมชาติจริง ๆ เช่น ทุกคนล้วนเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นต้น มุมมองนี้ช่วยแยกบุคคลให้เห็นชัดขึ้นด้วยหลักศีลว่าควรมีระดับความเป็นอยู่แบบไหนจึงจะเหมาะสมตามอัตภาพ ถ้าจะยกตัวอย่าง เช่น เด็ก ผู้หญิงท้อง คนแก่ และคนเจ็บ เราก็ต้องรู้ว่าจะต้องดูแลบุคคลเหล่านั้น เพราะเขามีศักยภาพการดำเนินชีวิตไม่เท่าคนอื่น อาจต้องรับการช่วยเหลือจากคนอื่น สังคมพิจารณาเขาในระดับใดและควรช่วยเหลืออย่างไรบ้าง

แต่สำหรับคนที่เป็นเพศเฉพาะตน (ใช้คำนี้เพื่อระบุถึงตนเป็นผู้เลือกเพศมากกว่าสังคม) จึงต้องเข้าใจขีดจำกัดบางอย่างของตนเองในสังคมที่วางมาตรฐานสำหรับคนส่วนใหญ่ในสังคม แล้วจึงมาวางระดับของคนอื่นให้มีการปฎิบัติที่เข้ากันได้กับคนส่วนใหญ่เหล่านั้นตามมา เช่นเดียวกับพระวินัยของพระภิกษุก็เกิดจากการคล้อยตามกฎหมายบ้านเมือง เมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นจากญาติโยม พระพุทธองค์จะประชุมพระภิกษุเพื่อชี้แจงให้เห็นความถูกผิดตามนั้น และพระภิกษุสงฆ์ก็ต้องปฏิบัติตามพระวินัยในฐานะของคนในสังคมที่เป็นส่วนน้อยของสังคมส่วนใหญ่ เป็นต้น

ถ้ามองถูกและมองอย่างเข้าใจจะพบว่า การที่ศีลธรรมพูดถึงกะเทย เป็นต้นก็เพื่อวางข้อปฎิบัติที่จะช่วยคนกลุ่มนี้ให้ปฎิบัติได้อย่างเข้าใจมากขึ้นว่า บางทีตัวเองก็ต้องมองจากขีดจำกัดของชีวิตเพื่อให้สังคมสงบสุขและเป็นไปได้

            สุดท้าย ไม่ว่ากฎหมายหรือศีลธรรมก็ล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ “ความสุขสงบของสังคม” ทีนี้แค่ลองใคร่ครวญดูกันสักนิดว่า กฎหมายและศีลธรรมทำหน้าที่ได้ดีแค่ไหน อย่าวัดจากใคร วัดจากตัวเราเท่านั้นพอ..

////////////////////////////////////////

คอลัมน์ : ตื่นข่าว

ผู้เขียน :  กิตติเมธี

Leave a Reply