เรื่องเล่าครอบครัวชาว “โคก หนอง นา” (ตอน 2)

           การเดินทางไปภาคอีสานเพื่อไปดูงาน “โคก หนอง นา” แบบนกขมิ้นครั้งนี้ มีเป้าหมายอยู่ที่อำเภอแวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น สำหรับผู้เขียน ถือว่าเป็น “ครั้งแรก” ที่ขับรถไปเองแบบคนเดียว โดยมี GPS เป็นที่พึ่งระยะทางกว่า 400 กิโลเมตร เสมือนคนตาบอด รู้สึก “ตื่นเต้นและเร้าใจ” ผสมกับความกลัวอยู่นิด ๆ ที่กลัวเหตุเพราะ หากเกิดเป็นอะไรขึ้นมาระหว่างทางไม่รู้จะพึ่งใคร แต่ก็ตอบตกลงไปตามคำเชิญชวนของฝ่ายประชาสัมพันธ์ของกรมการพัฒนาชุมชน

            การขับรถเริ่มออกจากกรุงเทพตอนเที่ยง “ขับแบบเที่ยว”  คือ สบาย ๆ  ขับไปดูบรรยากาศสองข้างทางไปด้วย    ตั้งแต่เลย “ลำตะคอง”ไป จะไม่เข้าทางหลัก แต่หักมุมไปทางอ.โนนไทย อ.ขามสะแกงแสง อ.คง และ อ.บัวใหญ่ เพื่อทะลุไปยัง อ.แวงใหญ่ จ.ขอนแก่น

            ตลอดเส้นทางผ่านหมู่บ้าน ทุ่งนา ไร่อ้อย ไร่มัน ภูมิศาสตร์ไม่เหมือนกับภาคกลางและภาคเหนือที่มีภูเขาค่อนข้างมาก  แต่ภาคอีสานเป็นทุ่งมีผืนแผ่นดินกว้างใหญ่  ส่วนใหญ่เป็นทุ่งนา คันนาส่วนใหญ่มีต้นไม้ใหญ่ และมีต้นไม้เป็นกระจุก ๆ ก็ตั้งคำถามอยู่ในใจตลอดว่า “ทำไมคนอีสานไม่ตัดต้นไม้บนคันนา” หากภาคกลางเหี้ยน ไม่เหลือเพราะเชื่อกันว่า ต้นไม้จะบังผลผลิตไม่ให้เจริญงอกงาม

            ช่วงใกล้ค่ำผ่านหมู่บ้านบางแห่งในอำเภอคงและบัวใหญ่ ชาวบ้านกำลังต้อนวัวกลับบ้าน บางบ้านมีคอกวัวใต้ถุนบ้าง บริเวณบ้านบ้าง ทำให้นึกถึงบรรยากาศภาพ “สมัยเป็นสามเณร” เมื่อประมาณ 30 กว่าปีแล้ว เคยไปเที่ยวในหมู่บ้านชนบทประเทศพม่า “บรรยากาศคล้ายคลึง”กันมาก คือ มีกลิ่นอายวิถีชีวิตแบบบริสุทธิ์ อยู่กับธรรมชาติ ใช้ชีวิตแบบธรรมชาติ ไม่ต้องปรุงแต่งเหมือนคนเมือง ที่ทุกอย่างล้วนเป็นของปลอม เช่น คิ้วปลอม ผมปลอม จมูกปลอม ผิวปลอม บางคราวก็มี “คำพูดปลอม” คือ “คนเมืองยุคนี้ทุกอย่างมันปลอมไปเกือบหมด”

            เนื่องจากไปคราวนี้ไปดูงาน “โคก หนอง นา” ของกรมการพัฒนาชุมชนเป็นหลัก ตลอดทางจึงพยายามสังเกต “การทำโคก หนอง นา” สังเกต “การขุดสระ” และแหล่งน้ำ เป็นสำคัญ

            เท่าที่ดูภาคอีสานมิใช่ “เป็นภาคขาดน้ำ” เพราะตลอดเดินทางผ่านแหล่งน้ำหลายแห่ง บางทีผ่านทุ่งนาก็มีแหล่งน้ำเล็ก ๆ วัว ควายลงไปแช่น้ำอยู่

            หากเชื่อตามคำพูดของ “พระอาจารย์สังคม ธนปญฺโญ” ปรมาจารย์ด้านบริหารจัดการน้ำ ที่บอกว่า “ภาคอีสานไม่ได้ขาดน้ำ แต่ขาดการบริหารจัดการน้ำที่ดีต่างหาก”

            และ “ผู้เขียน” ก็เชื่อแบบพระอาจารย์สังคมจริง ๆ  เพราะบนดินหน้าแล้งแบบนี้ก็มีน้ำ ใต้ดินขุดไม่ถึง 50 เมตรก็มีน้ำ ในขณะที่ภาคเหนือปัจจุบันขนาดแม่น้ำ “แห้งขอด” แหล่งน้ำหลายแห่งไม่มีน้ำ ใต้ดินไม่ต้องพูดถึง ภาคเหนือ ภาคกลาง ขุดบ่อบาดาลแต่ละบ่อ “หลักแสน” ขึ้นทั้งนั้น

            เมื่อเข้าสู่ อ.แวงน้อย จังหวัดขอนแก่น ฟ้าเริ่มมืดค่ำ ฝนทำท่าจะตก ผสมกับพายุพัดค่อนข้างแรงสังเกต จากใบไม้และต้นไม้ ตามถนนนาน ๆ จึงจะมีรถผ่านมาสักคัน เริ่มมีอาการ “หวั่น” พยายามสังเกตวัดและสำนักสงฆ์  คิดว่าหากทำท่าไม่ดี “มีวัดเป็นที่พึ่ง”  ยามนี้มีแค่ GPS” เป็นเพื่อนนำทาง ขอยังเดียวแบตอย่าเพิ่งหมด เพราะที่ชาร์ตแบตในรถใช้การไม่ได้

            เมื่อเจอลมแรง ใบไม้ปลิวว่อนตามถนนจึงพอเข้าใจได้ว่า  บรรพบุรุษคนอีสานที่ไม่ตัดต้นไม้ตามทุ่งนาอาจเป็นเพราะ “ภูมิปัญญาของคนอีสาน” ว่า “ต้นไม้ต้านลมแรง” ได้ดี  เพราะสังเกตเห็นลมพายุภาคอีสานแรงมาก มันมาเป็นระลอก เป็นแนว ๆ มองไกล ๆ เหมือนเป็นเส้น ๆ ต่างกับภาคกลางที่เคยเจอ

            สุดท้ายเจอพายุฝนลมแรง เมื่อเข้าสู่ อ.แวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น พยายามขับช้า ๆ ท่ามกลางอากาศที่มืดมัว ขนาดไป “ร้านอาหาร” จุดนัดพบ ต้องวนขับหา 3 รอบ เพราะเจ้า GPS พารวนไปหมด

           “จังหวัดขอนแก่น เป็นจังหวัดขนาดใหญ่จังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน มี 26 อำเภอ 198 ตำบล 2,331 หมู่บ้าน และ389 ชุมชนมีครัวเรือนประมาณ 534,715 ครอบครัว..”

             จังหวัดขอนแก่นมีผู้เข้าร่วมโครงการโคก หนอง นา “ทั้งหมด 516 ครัวเรือน อบรมไปแล้วจำนวน 5 รุ่นจากทั้งหมด 11 รุ่น และสามารถจ้างเกษตร บัณฑิตจบใหม่ ผู้ว่างงาน กลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิดถูกเลิกจ้างอีก 312 คน..”

            “จังหวัดขอนแก่น ไม่มีปัญหาเรื่องช่างเหมือนกับจังหวัดอื่น ๆ  เพราะที่จังหวัดขอนแก่นมีพัฒนาการอำเภอแวงใหญ่ คุณปลวัชร วรรณจงคำ เป็นช่างรางวัดมาก่อน เขียนแบบ ดูแบบได้ และซ้ำท่านก็ให้น้อง  ๆ นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบหรือ นพต. ที่กรมพัฒนาชุมชนจ้างไว้ ก็ให้ช่วยออกไปสำรวจ วัด ร่วมกับช่างในท้องถิ่นด้วย ตอนนี้ในทีมจังหวัดขอนแก่นเป็นกันเกือบทุกราย จังหวัดขอนแก่นเรื่องปัญหาช่าง ไม่มีปัญหา..”

            จากข้อมูลนี่แหละ “ผู้เขียน” จึงต้องมาเพื่อมาดูงาน “ขอนแก่นโมเดล” โคก หนอง นา เพราะการทำโคก หนอง นา ตอนนี้กรมการพัฒนาชุมชนประสบกับปัญหาหนึ่งคือ “ไม่มีช่างออกแบบ ดูแบบ เขียนแบบ และควบคุมงานตามแบบ”

            แต่โชคดีของกรมการพัฒนาชุมชนที่นำโดย “คุณสุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ที่ว่า โคก หนอง นา นี้ เป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ  ที่พระองค์มีพระราชดำริที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอด แนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ตามพระบรมราชชนกของพระองค์ในหลวงรัชกาลที่ 9  เพื่อให้พสกนิกรของพระองค์มีชีวิตที่ดี มั่นคง ยิ่งประชาชนคนไทยยุคนี้ประสบปัญหาได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19  คนแห่กลับถิ่นฐานกันมากมาย นักศึกษาจบใหม่ก็ไม่มีงานทำหากไม่มีโครงการ โคก หนอง นา รองรับ “ชีวิตประชาชนคนไทยไร้ที่พึ่ง” กันเป็นจำนวนมาก อยู่เมืองก็อยู่ไม่ได้ กลับบ้านก็ไม่มีงานทำ

            ด้วย “พระบารมี” ตรงนี้ การทำงานของอธิบดีสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ที่ทำงานแบบ “ถึงลูก ถึงคน ประเภทติดดิน”  อยู่แล้ว จึงค่อนข้าง “ราบรื่น” หน่วยงานภาครัฐ ทหาร ภาคเอกชนรวมทั้งท้องถิ่น “เอามื้อ” คือ สามัคคีกัน ช่วยเหลือกันเต็มที่ อาจจะมีคน “งอแง” บ้าง อันนั้นก็คือ  “ธรรมชาติ”  ของมนุษย์

            และเท่าที่คุยกับ “คุณปลวัชร วรรณจงคำ” พัฒนาการอำเภอแวงใหญ่ ก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ ท่านบอกว่า

             “..การทำงานมันต้องมีส่วนร่วมทุกฝ่าย ทำให้เป็นสาธารณะให้ได้ มิใช่ให้ประชาชนทำอยู่ฝ่ายเดียว คือ ต้องตั้งคณะทำงาน การขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล เป็นการสั่งการโดย กรมการพัฒนาชุมชนอยู่แล้ว ให้ทุกอำเภอทำ  ในโครงการสร้างคณะทำงาน มันก็มีนายอำเภอ มีส่วนราชการต่าง ๆ ผู้นำองค์ท้องถิ่น มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  รวมทั้งภาคประชาชนเข้ามาร่วมด้วย ทุกอย่างมันต้องมีส่วนร่วมงานมันจึงจะราบรื่นและประสบความสำเร็จ..

             ผมจบช่างมาโดยตรง ปัญหาที่เกิดทั่วประเทศเกี่ยวกับช่าง ที่นี่ไม่มีปัญหา  ที่นี่น้อง ๆ นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบหรือ นพต.ของเรามี 10 คน  ตอนนี้ก็ เป็นช่างไปแล้วในตัว เพราะออกงานกับผมเกือบทุกวัน บางพื้นที่ช่างท้องถิ่นของ อบต.เทศบาล ที่เรายืมตัวให้มาช่วย เวลาเจอแบบผิด หรือ เป็นแบบที่ชาวบ้านเขาไม่ต้องการ ช่างท้องถิ่นมาถามคน พช. เราก็ตอบเขาไม่ได้ เพราะงานขุด งานโคก หนอง นา นี้เป็นงานใหม่สำหรับคนของกรมพัฒนาชุมชน..”

           “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข”  คือ หน้าที่ของคนกระทรวงมหาดไทย การขับเคลื่อน โคก หนอง นา คือ ตัวชี้วัดและคำตอบที่เด่นชัดที่สุดในยุคปัจจุบันที่ประชาชนสัมผัสได้อย่างเป็นรูปธรรม !!

 

Leave a Reply