เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 จากกรณีที่นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย อดีตผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ผู้แต่งกาพย์เห่เรือกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค อดีตพระมหาเปรียญธรรม 9 ประโยค ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว”ทองย้อย แสงสินชัย” แสดงความห่วงใยต่อกรณีที่สำนักเรียนบาลีตามต่างจังหวัดปิดตัวลงโดยตั้งเป็นคำถามเริ่มต้นว่า “ใช้หนี้พระศาสนากันบ้างหรือยัง” นั้นพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุูธยาได้แสดงความเห็นว่า
อาจารย์ปู่ตั้งคำถาม หากอ่านเผินๆ คล้ายกับว่าจะถามคำถามง่ายๆ แต่หากอ่านบรรทัดต่อบรรทัดจะเห็นความเป็นเอกภาพ สัมพันธภาพ และสารัตถภาพของชุดความคิดและเนื้อหาที่คมลึกอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อรับผิดชอบต่อการตอบคำถามดังกล่าว จึงขออนุญาตใช้ศาสตร์สมัยใหม่ที่ได้ร่ำเรียนมา ทั้งการตลาด การบริหาร มุมมองทางธุรกิจ ผสานพุทธศาสตร์ บางคำที่ใช้อาจจะบาดหูและดูไม่เหมาะสมสำหรับบางท่าน ผู้เขียนจึงต้องขอโทษเอาไว้ตั้งแต่เบื้องต้นก่อน และพร้อมรับผิดชอบต่อทุกตัวหนังสือต่อไปนี้
การที่จะตอบคำถามนี้ได้ชัดแจ้งก็ต้องย้อนกลับไปมองเจตนารมณ์ดั้งเดิมของผู้ที่ก่อตั้งบริษัทนี้ขึ้นมาภายใต้ Brand ที่ว่า “พุทธบริษัท” การสร้างบริษัทในระยะเริ่มแรกนั้น ต้องพึ่งบารมีของพุทธองค์ โดยที่พระองค์ได้ทดลองใช้สินค้ามาหลายชนิดที่มีการขายตามท้องตลาด สุดท้ายได้ค้นพบสูตรสำเร็จของสินตัวค้าที่สามารถโจทย์ตัวเองได้สำเร็จ
หลังจากนั้น จึงได้นำสินค้าไปทดลองตลาดโดยการให้ลูกค้ากลุ่มแรกได้ลองชิมดู กลุ่มนั้น คือ “พระปัญจวัคคีย์” แม้แรกเริ่มอาจจะรำคาญเซลล์ที่เสนอขายสินค้า แต่เมื่อมีการทดลองใช้สินค้าแล้ว จึงเกิดคำอุทานขึ้นมาว่า “อัญญาโกณทัญญะรู้แล้วหนอ” นั่นหมายความว่า สินค้าชนิดนี้ สามารถได้ผลจริง ตอบโจทย์ทั้ง Emotion และ Function ต่อมาทั้งวัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ก็ช่วยยืนยันคุณภาพของสินค้าดังกล่าว
นั่นคือจุดเริ่มต้นของการการผลักดันให้พุทธองค์ออกแบบและสร้างบริษัทขึ้นมาในลักษณะบริษัทจำกัด (Company Limited) โดยตั้งชื่อบริษัทนี้ว่า “#พุทธบริษัท” ผู้ถือหุ้นของบริษัทนี้ ประกอบด้วยกลุ่มคน 4 กลุ่ม คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา จะเห็นว่าช่วงแรกเริ่มก่อตั้งนั้นมีผู้ถือหุ้น 3 กลุ่ม คือ ภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา ต่อมาจึงมีกลุ่มผู้ถือหุ้นเพิ่มคือ “ภิกษุณี”
สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ เมื่อครั้งที่มารได้เพียรพยายามกราบนิมนต์ให้พระองค์ปรินิพพาน พระองค์ในฐานะผู้ก่อตั้งบริษัท (Founder) ก็ยืนยันเสียงแข็งว่า เราจะไม่ยอมปรินิพพานจนกว่าพุทธบริษัทที่เราขึ้นจะเข้มแข็งและมั่นคงเพียงพอจนกว่าจะมั่นใจได้ ตัวชี้วัดของคำว่า “มั่นคง” คือ พุทธบริษัทต้องสามารถศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม เผยแผ่ธรรม และปกป้องธรรม”
คำกล่าวของอาจารย์ปู่ที่ว่า “หากคิดจะรักษาศาสนา เราต้องเปลี่ยนแนวคิดจากตัวบุคคลมาเป็นคณะหรือองค์” นั้นน่าจะสอดรับกับสิ่งที่อาตมาอภิปรายมาตั้งแต่ประโยคแรก เพราะพระองค์ย่อมทราบดีกว่า ลำพังพระองค์แต่เพียงผู้เดียวมิอาจจะแบกรับและส่งต่อพระพุทธศาสนา (เอตัง พุทธานสาสนัง) นี้ให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป จึงได้จัดตั้งพุทธบริษัทนี้ขึ้นมารองรับและขยายผล ในขณะที่พระองค์ยังมีพระชนม์อยู่หรือปรินิพพานไปแล้ว
จากแนวทางนี้ จะเห็นร่องรอยได้ชัดจากประโยคที่พระองค์ตรัสก่อนปรินิพพาน หรือภาษาชาวบ้านคือตายว่า “เมื่อเราตายไปแล้ว ธรรมและวินัยจะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย” พระองค์จึงมิได้ตั้งใครเป็นประธานบริษัททดแทนพระองค์ หากแต่ให้ผู้ถือหุ้นช่วยกันรักษาดูแลบริษัทกันต่อไป หากติดขัดตรงไหนก็ให้นำ “ธรรมนูญบริษัท” มาพิจารณาดู
พระองค์จึงย้ำในหลายสถานการณ์ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” หรือ “ไม่ว่าจะตถาคตจะเกิดหรือไม่ก็ตาม ธรรมะก็มีอยู่ เป็นอยู่ในธรรมชาติ” นั่นคือการแสดงนัยของการมอบความเป็นใหญ่ไปที่ธรรม กระบวนการคิด การตัดสินใจ การสื่อสาร และการแสดงกระทำต่างๆ ของผู้ถือหุ้นในบริษัท จึงต้องขึ้นตรงกับธรรม ไม่ใช่เทน้ำหนักให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นเจ้าของธรรมหรือผูกขาดธรรม
คำว่า “องค์กร” ในความหมายของอาจารย์ปู่ อาตมาจึงเรียกว่า “พทธบริษัท” นั่นเอง ฉะนั้น บริษัทนี้ จะเจริญหรือเสื่อมก็ขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้นในบริษัทนี้ บริษัทนี้ จึงมีหน้าที่ในการออกแบบสินค้า ผลิตภัณฑ์ และรูปแบบบริหารจัดการได้อย่างคล่องตัวให้สอดรับกับบริบทและความเป็นไปของยุคสมัย ด้วยเหตุนี้ เราต้องแยกให้ออกระหว่างกลุ่มผู้ถือหุ้นบริษัท รูปแบบในการบริหารจัดการบริษัท กับธรรมนูญบริษัท
การที่บริษัทหรือองค์กรจะเจริญก้าวหน้านั้น จึงต้องให้ความสำคัญกับตัวแปรอย่างน้อย 3 ประการ (1) จิตวิญญาณ หรือ Core Vaues ของตัวบริษัท หากมองตามแนวนี้ คือการตระหนักรู้ในหลักการ 3 อุดมการณ์ 4 และวิธีการ 6 (2) รูปแบบการบริหารจัดการบริษัทว่าสอดรับกับวิถีของโลกที่เปลี่ยนไป และสนองตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้มากน้อยขนาดไหน และ (3) กลุ่มคนที่เข้าเข้ามาทำหน้าที่บริหารจัดการบริษัทนั้น เข้าใจจิตวิญญาณของบริษัทหรือไม่ มีทักษะในการบริหารจัดการหรือไม่ เข้าใจตัวเอง และวิถีโลกที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่? อย่างไร?
ต่อประเด็นที่ว่า “กระผมคิดเรื่องนี้จนอยากจะตกลงใจว่า-แบบนี้ก็ตัวใครตัวมันเถอะ เอาตัวรอดก่อนดีกว่า พระศาสนารอดเราก็รอด พระศาสนาไม่รอดเราก็ยังรอด ดีกว่าพระศาสนาก็ไม่รอด เราก็ไม่รอด” หากพิจารณาจากเจตนารมณ์การจัดตั้งบริษัทแต่เริ่มแรกนั้น ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าต้องการให้พุทธบริษัทผนึกกำลังกันทำงานรับใช้บริษัท ผลตอบแทนมิใช้เงินตรา เกียรติยศชื่อเสียง หรือลาภยศสรรเสริญ หากแต่เป็นความหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งระยะสั้นระยะกลาง และระยะยาว เพื่อเข้าถึงความสุขที่แท้จริง “นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” ฉะนั้น เป้าหมายหลักของการพัฒนาบริษัทคือ “นิพพานสัจฉิกรณัตถายะ” เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน
การที่บริษัทจะรอดหรือไม่รอด จึงต้องพิจารณาจากรูปแบบการบริหารจัดการบริษัท ทีมงานผู้บริหารที่ผู้ถือหุ้นได้แต่งตั้งมา และตัวผู้ถือหุ้นเอง ยังยึดมั่นและใส่ใจต่อจิตวิญญาณ หรือ Core Values ของบริษัทมากน้อยขนาดไหน ตรงนี้ต่างหากคือคำตอบที่สำคัญ ก็ในเมื่อผู้ก่อตั้งบริษัทออกแบบองค์กรขึ้นมา หรือภาษาธุรกิจใช้คำว่า “Business Model” เช่นนี้ เราเห็นว่าบริษัทนี้น่าจะมีอนาคต เราจึงศรัทธาเข้ามาถือหุ้นในบริษัทนี้ เสียงของผู้ถือหุ้นจะส่งต่อไปยังคณะผู้บริหารบริษัทว่า คณะผู้บริหารได้ทำหน้าที่สอดกับความการของผู้ถือหุ้น ในการนำพาไปสู่เป้าหมายหลักของการก่อตั้งบริษัทนี้หรือไม่? อย่างไร? ยิ่งถือหุ้นยิ่งขาดทุน ยิ่งถือหุ้นยิ่งไม่เห็นอนาคต มิสู้ขายหุ้นนี้ออกไป แล้วไปซื้อหุ้นตัวใหม่ที่ตอบโจทย์ตัวเองไม่ดีกว่าหรือ?
ในที่สุดของบทสรุปตรงนี้ จึงเหลือช่องทางให้ผู้ถือหุ้นจะต้องตัดสินใจ (1) หมดความศรัทธาในอุดมการณ์ของบริษัทนี้ จึงขายหุ้นทิ้งทั้งหมด แล้วหนีไปถือหุ้นบริษัทอื่น (2) เพราะมีความหวังจึงระดมกันปรับเปลี่ยนทีมงานผู้บริหารเพื่อให้ตอบโจทย์มากขึ้น (3) เพราะยังมีความศรัทธาต่ออุดมการณ์ แต่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนผู้บริหารได้ จึงตัดสินใจจับมือกันไปก่อตั้ง “กลุ่มเล็กๆ” เป็นกลุ่มๆ ขึ้นมา โดยไม่ขึ้นตรงกับคณะผู้บริหารที่ผู้ถือหุ้นเพื่อพากันโหวตให้ไปบริหาร และ (4) เพราะเชื่อมั่นในอุดมการณ์ผู้ก่อตั้ง จึงยังคงอยู่ในบริษัทนี้ หากแต่แยกตัวไปทำงานเงียบๆ คนเดียว ตามสติปัญญาและความสามารถที่จะพึงมี ไม่ต้องมากมาย น้อยแต่ตอบโจทย์หัวใจตัวเองและอุดมการณ์ผู้ก่อตั้ง
เชื่อว่า ทั้ง 4 ช่องทางนี้ ไม่ว่าจะเลือกช่องทางไหน? หัวใจสำคัญจึงอยู่ที่ “ธรรมนูญพุทธบริษัท” นั่นคือ “ธรรมวินัย” เพราะธรรมวินัยจะเป็นเครื่องมือ “ดุจแพข้ามข้ามฝาก” ที่จะนำทางทุกคนไปสู่เป้าหมายหลักของบริษัทนี้ หากกลุ่มนักบริหารตระหนักรู้ในภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้มาทำงานยังมั่นคงต่ออุดมการณ์นี้ ก็จะนำพาให้บริษัทเจริญรุ่งเรืองได้กำไรทั้งต่อตัวเองและผู้ถือหุ้น
หากในที่สุด เรามิอาจเปลี่ยนผู้บริหารได้เพราะเหตุผลใดก็ตาม แต่ด้วยศรัทธาต่อหลักการ อุดมการณ์และวิธีการของผู้ก่อตั้ง เรายังคงอยู่ถือในบริษัทนี้ต่อไป อาจจะจับมือกับคนอื่นๆ หรือในที่สุดแม้จะไม่มีคนจับมือกับเรา เราเองจะตั้งใจปฏิบัติตามภารกิจ โดยการ “ศึกษาธรรมให้เข้าใจ ปฏิธรรมให้ถึงแก่น เผยแผ่ให้แพร่หลาย และปกป้องธรรมอย่างแกล้วกล้า” ให้สอดรับกับสิ่งที่พุทธองค์ในฐานะผู้ก่อตั้งบริษัทได้ย้ำเตือนว่า “เธอทั้งหลาย จงเที่ยวไป เพื่อเพื่อกูล เพื่อความสุข เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก”
ท้ายที่สุด อนุโมทนาขอบคุณอาจารย์ปู่ทองย้อย แสงสินชัย ที่อุทิศกายใจเป็นหนึ่งในหลักชัยในการให้สติปัญญาแก่ลูกหลาน ที่สำคัญได้เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นที่คอยย้ำเตือนมิให้พวกเราหลงลืม และพลัดหลงจาก “ธรรมนูญบริษัท” อีกทั้งคอยช่วยระวังภัยนอก และภัยในอย่างต่อเนื่อง สอดรับทิศทางของพุทธองค์ผู้ที่ได้ออกแบบและก่อตั้งบริษัทนี้เอาไว้
ถ้าเราเชื่อและมั่นใจในวิสัยทัศน์ของพุทธองค์ เราจะยังยืนหยัดทำงานตามพันธกิจที่ได้รับมอบหมายมา จากเจตนารมณ์การออกแบบบริษัทนั้น ทุกกลุ่มมีคุณค่าและสำคัญเท่ากัน แต่หน้าที่แตกต่างกัน เพราะปฏิบัติตามหน้าที่จึงถือเป็นการปฏิบัติตามธรรมที่พระองค์ได้ออกแบบไว้ แล้วใช้ธรรมเป็นเครื่องมือในปกป้องคุ้มครองรักษาภัยที่จะเกิดกับองค์กรและพาตนให้หลุดจากภัยในวัฏสงสาร
ฉะนั้น นี่คือเหตุผลสำคัญที่อาจารย์ปู่และพวกเราจะต้องรักษาพุทธบริษัทนี้เอาไว้ ก็เพื่อให้บริษัทนี้ได้ช่วยกระตุ้นเตือน นำทาง ประคับประคอง เป็นกัลยาณมิตร และโอบอุ้มเรา รวมถึงชาวโลกให้เข้าถึงเป้าหมายสูงสูด อันได้แก่มรรคผลนิพพาน ตามเจตนารมณ์ที่พุทธองค์ในฐานะผู้ก่อตั้งบริษัทได้ย้ำเตือนผู้ถือหุ้นบริษัทก่อนที่จะปรินิพพาน หรือตายจากพวกเราไป
Leave a Reply