พ่อเมืองลำพูน ประกาศจัดตั้งธนาคารขยะครบ 100% ทั้ง 57 อปท. มีธนาคารขยะ 252 แห่ง

วันนี้ (11 มี.ค. 67) นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า จังหวัดลำพูนได้นำแนวทางของกระทรวงมหาดไทยในการขับเคลื่อนธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการทำให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดีและยั่งยืน ด้วยการจัดให้มีระบบจัดการและกำจัดขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพ สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านอื่น ๆ โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนขยะ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนได้มีการคัดแยกขยะรีไซเคิลในครัวเรือน เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม Change for Good ทำให้เกิดธนาคารขยะในทุกพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม โดยจังหวัดลำพูนได้จัดงาน “MOI Waste Bank Week – มหาดไทยปักธงประกาศความสำเร็จ 1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1 ธนาคารขยะ” ประกาศความสำเร็จการจัดตั้งธนาคารขยะครบทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดลำพูน ณ วัดสันติวนาราม หมู่ที่ 4 บ้านท่าหลุก ต.หนองล่อง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน โดยมีทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น เข้าร่วมงาน

นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า จังหวัดลำพูนมีนโยบายในการดำเนินการขับเคลื่อนธนาคารกองทุนขยะ “1 อปท. 1 กองทุนขยะ เพื่อสวัสดิการ” ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 ปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 57 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดลำพูน ได้จัดตั้งธนาคารขยะ รวมจำนวน 252 แห่ง ซึ่งสมกับที่จังหวัดลำพูนได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดจังหวัดสะอาด 5 สมัย และได้รับยกย่องเป็นจังหวัดต้นแบบจัดการขยะชุมชนยั่งยืน ทั้งนี้ ความสำเร็จทั้งหมดเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาคราชการ วัด/ศาสนา สถานศึกษา สถานประกอบการ/โรงงาน ภาคเอกชน และภาคประชาชน

นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวต่อว่า กระทรวงมหาดไทยได้มีนโยบายกำหนดให้จังหวัดขับเคลื่อนธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง มีเป้าหมาย 1 อปท. 1 ธนาคารขยะ ภายใน 60 วัน โดยเริ่ม Kick-off ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในพื้นที่จังหวัดลำพูนได้ร่วมกับหมู่บ้านชุมชนในพื้นที่ ดำเนินการจัดตั้งธนาคารขยะตามแนวทางของกระทรวงมหาดไทย ครบทั้ง 252 แห่ง และขอชื่นชมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง โดยเฉพาะเทศบาลตำบลหนองล่อง ที่เป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนธนาคารขยะที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน และเป็นเจ้าภาพการจัดงานในครั้งนี้ รวมถึงอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในตำบลหนองล่อง ที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) อย่างจริงจังและต่อเนื่องมาโดยตลอด ส่งผลให้เทศบาลตำบลหนองล่องสามารถลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะ อีกทั้งยังนำรายได้จากขยะกลับมาพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาสิ่งแวดล้อมในชุมชน แทนที่จะต้องจ่ายให้กับผู้ประกอบการรับจ้างกำจัดขยะอีกด้วย

สำหรับแนวทางในการดำเนินการในระยะต่อไป ขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดลำพูนทุกแห่ง สนับสนุนการดำเนินงานร่วมกับชุมชน เพื่อให้มีการขับเคลื่อนธนาคารขยะอย่างจริงจัง ผ่านการรับสมัครสมาชิกให้เพิ่มมากขึ้น ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อหารายได้เข้าธนาคารขยะ และนำรายได้ไปจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิก และขอความร่วมมือให้ทุกภาคีเครือข่ายร่วมกันดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ตามแนวทาง “ลำพูนไม่ลำพัง รวมพลังเพื่อลำพูน” เพื่อให้สมกับเป็นจังหวัดต้นแบบจัดการขยะชุมชนยั่งยืน” นายสันติธรฯ กล่าวในช่วงท้าย

โอกาสนี้ นายเพลิน วรพงศ์วัฒนา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองล่อง กล่าวว่า เทศบาลตำบลหนองล่อง ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนดำเนินการและขับเคลื่อนกองทุนขยะมาตั้งปี พ.ศ. 2558 จนถึงปัจจุบัน มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการบริหารจัดการขยะในพื้นที่ จำนวน 20 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนขยะเพื่อสวัสดิการผู้สูงอายุตำบลหนองล่องและทุกหมู่บ้าน รวม 10 กองทุน กองทุนบริหารจัดการขยะทั่วไปตำบลหนองล่อง 1 กองทุน และกองทุนกาดนัดขยะชุมชน 9 กองทุน/หมู่บ้าน รวมทุกกองทุนฯ มีสมาชิกทั้งหมด จำนวน 2,604 ครัวเรือน มีการนำเงินที่ได้จากการดำเนินการมาใช้ในการจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิก และใช้ในกิจกรรมสาธารณประโยชน์ในชุมชน/หมู่บ้าน โดยตั้งแต่เริ่มจัดตั้งกองทุนฯ จนถึงปัจจุบัน มีการจ่ายค่าสวัสดิการและกิจกรรมสาธารณประโยชน์ จำนวน 369,962.22 บาท มีเงินคงเหลือรวมทุกกองทุนฯ จำนวน 553,579.90 บาท โดยเทศบาลตำบลหนองล่อง จะดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางและนโยบายของกระทรวงมหาดไทยอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอต่อไป

Leave a Reply