“พระพรหมบัณฑิต” ระบุมิติการสร้างสันติภาพในชุมชนต้องผ่าน “บวร”

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 นิสิตสันติศึกษาระดับปริญญาโทและเอก สาขาสันติศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ลงพื้นที่เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงภายใต้วิชาแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับสันติศึกษา ซึ่งนำโดยพระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์ ศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มจร และคณาจารย์หลักสูตรเจ้าหน้าที่หลักสูตร ร่วมแสดงสามีจิกรรมแด่พระพรหมบัณฑิต ศ.ดร. เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส กรรมการมหาเถรสมาคม และอุปนายกสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อาจารย์ประจำหลักสูตรสันติศึกษา มจร

พระพรหมบัณฑิต ในฐานะอาจารย์ประจำหลักสูตรสันติศึกษา มจร ได้บรรยายพิเศษภายใต้หัวข้อ “กระบวนการสร้างสันติภาพในมุมมองพุทธศาสนา” โดยได้อธิปรายถึงความหมายของคำว่า สันติภาพ ระดับและกระบวนการสร้างสันติภาพตามแนวพุทธศาสนาตามปธาน 4 รวมถึงการแก้ไขความขัดแย้งตามแนวทางของอธิกรณสมถะ 7

พระพรหมบัณฑิตยังระบุด้วยว่า การสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนจะต้องมุ่ง Soft Power มากกว่าการใช้ Hard Power เพราะวิธีชนะมี 3 ประเภท คือ 1)สงครามวิชัย ชนะด้วยกำลัง : Stick 2)อามิสวิชัย ชนะด้วยของกำนัล : Carrot 3)ธรรมวิชัย ชนะด้วยธรรม : Idea/Valuesสอดรับกับภาวนาปธาน โดยมุ่งสาราณียสูตร ซึ่งจะสร้างสันติภาพ 2 ประการ คือวัฒนธรรมแห่งความรุนแรง : Culture of Violence และ วัฒนธรรมแห่งสันติภาพ : Culture of Peace สอดรับกับ UN ประกอบด้วย 1) ส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งสันติภาพผ่านการศึกษา 2)ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน 3)การพัฒนาความเข้าใจด้วยขันติธรรมและความสามัคคี

โดยกิจกรรมของสันติศึกษาจะต้องมุ่ง 2 ประการ คือ 1)Discovery of Others หมายถึง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน 2)Projects of Shared Purpose หมายถึง แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง ทำให้เกิดอนุรักขนาปธาน ผ่านพุทธพจน์ว่า เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ทำให้สะท้อนถึงเนลสัน ประเด็นการแยกผิวสี สุดท้ายนำมาซึ่งการพูดคุยหาทางออกร่วมกัน

“ส่วนมิติการสร้างสันติภาพในชุมชนจะต้องผ่าน บวร คือ บ้าน วัด โรงเรียน ที่นี่จึงมีคำว่า ย่านกะดีจีน 6 ชุมชน 3 ศาสนา 4 ความเชื่อ คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา โดยเฉพาะการรับรางวัลจากยูเนสโกสิ่งสำคัญคือ ชุมชนมีส่วนร่วม” พระพรหมบัณฑิต กล่าว

Leave a Reply