มหาดไทยร่วมหารือ Airbnb เดินหน้าส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวชุมชนเข้มแข็ง

กระทรวงมหาดไทยร่วมหารือ Airbnb เดินหน้าส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวชุมชน สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมดำรงธรรม อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมหารือ ระหว่างกระทรวงมหาดไทย และบริษัท แอร์บีเอ็นบี (Airbnb) ร่วมกับ นางมิช โกห์ (Ms. Mich Goh) หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน และอินเดีย Airbnb นางแชงการี คิรุปปัลลินี (Ms. Shangari Kiruppalini) ผู้จัดการด้านนโยบายสาธารณะประจำอาเซียน Airbnb และคณะ โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ร้อยตรี สรมงคล มงคละสิริ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย นายเกรียงไกร กลิ่นหอม ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สำนักส่งเสริมภูมิปัญหาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ขอขอบคุณ Airbnb ที่ให้เกียรติกับกระทรวงมหาดไทยอีกครั้งหนึ่งในการร่วมหารือเพื่อขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้กับพี่น้องประชาชนผ่านกลไกการท่องเที่ยวชุมชนซึ่งถือเป็นนโยบายที่สำคัญที่กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง โดยตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น Airbnb และกระทรวงมหาดไทย ต่างเป็นภาคีเครือข่ายระหว่างกันในการสร้างโอกาส สร้างการมีส่วนร่วมให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยการส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนในชนบทท้องถิ่นห่างไกล ได้พัฒนาปรับปรุงอาคารบ้านเรือนที่อยู่อาศัยมาใช้เป็นสถานที่รับรองแขกผู้มาเที่ยว ซึ่งมีเสียงสะท้อนจากพี่น้องประชาชนผู้ประกอบการในพื้นที่ต่างปลื้มใจที่ได้ทำให้บ้านธรรมดา ๆ หลังหนึ่งได้หลายเป็นบ้านที่มีผู้คนจากต่างประเทศมาท่องเที่ยว มาดื่มด่ำวิถีชีวิต มาสัมผัสภูมิปัญญาอันล้ำค่าของชุมชน นอกจากนี้ เพื่อเป็นการต่อยอดการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวชุมชนให้เกิดความหลากหลายและเป็นการชวนให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับกลิ่นไอของความเป็นชุมชนไทยดั้งเดิม กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ที่มีมากกว่า 40,000 แปลงในครัวเรือนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งหากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มีความสนใจที่จะไปศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตในชนบทแบบดั้งเดิม ไปชื่นชมประเพณีวัฒนธรรมชุมชน โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบฯ นี้ ก็จะเป็นอีก Destination หนึ่งที่ Airbnb สามารถที่จะลงไปช่วยกันพัฒนาให้คำแนะนำเพื่อให้พื้นที่โคก หนอง นา ในชุมชนต่าง ๆ ได้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันน่าหลงใหลของนักท่องเที่ยวชาติต่าง ๆ ในอนาคต

นางมิช โกห์ (Mich Goh) กล่าวว่า ขอขอบคุณกระทรวงมหาดไทยที่เป็นภาคีเครือข่าย เป็นพันธมิตรในการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนร่วมกับ Airbnb อย่างเข้มแข็งและยาวนาน ซึ่งนับเป็นเวลากว่า 4 ปีแล้วที่ ได้ทำงานร่วมกัน และเราจะร่วมกันทำงานเพื่อขับเคลื่อนส่งเสริมให้ประชาชนคนไทยในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ได้ดึงเอาจุดแข็งของชุมชนมาเป็นหมุดหมายที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยว ซึ่งในปีนี้ Airbnb ได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย เพราะประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในขณะนี้สนามบินต่าง ๆ ของประเทศไทย มีนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางเพื่อเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ มากขึ้นจากสองสามเดือนก่อน เพราะการท่องเที่ยวฟื้นตัว คนทั่วไปนิยมที่จะกลับมาท่องเที่ยวกันอีกครั้งหลังต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา และพบว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีวิธีเดินทางที่แตกต่างกัน เพราะคนนิยมการท่องเที่ยวแบบยืดหยุ่น และนิยมเดินทางในช่วงเวลาที่ไม่ใช่ช่วงการท่องเที่ยว และอีกหลายส่วนนิยมเดินทางแบบเมื่อคิดจะไปก็ไปทันที ดังนั้น “ความยืดหยุ่น” จึงเป็นเรื่องที่น่าแปลกใหม่ นอกจากนี้ Airbnb ยังพบการเพิ่มขึ้นของการจองที่พักในพื้นที่ที่ไม่ใช่เมืองขนาดใหญ่ในช่วงไตรมาสที่ 2 โดยเปรียบเทียบกับปี 2019 สะท้อนให้เห็นว่า นักท่องเที่ยวมีการเดินทางไปยังพื้นที่ใหม่ ๆ ที่ไม่ได้รับความนิยมมาก่อน และยังพบว่านักท่องเที่ยวจะพัก ณ ที่พักเป็นเวลานานกว่าเดิม เช่น สองสัปดาห์ หรือมากกว่าหนึ่งเดือน โดย Airbnb ได้ทำการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้ทันกับแนวโน้มใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ในรูปแบบ Airbnb category ครอบคลุมทั้งเป้าหมายการเดินทาง การจองตั๋ว จองที่พัก ด้วยการนำเสนอภาพที่พักแบบไหน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเดินทาง ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเซิร์สและชมภาพสวยงามจำนวนมาก ทั้งพื้นที่หมู่บ้าน/ชนบท ชายฝั่ง เกาะ วิลล่าริมทะเล เป็นที่พักที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน เป็นเส้นทางใหม่ที่คนไม่ค่อยเดินทางไป จึงเป็นแนวคิดใหม่ที่จะร่วมกับกระทรวงมหาดไทย มุ่งกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวไปยังชุมชนท้องถิ่น และการส่งเสริมการบริหารจัดการการท่องเที่ยว ด้วยการพัฒนาผู้ประกอบการรายย่อย ผ่านการ workshop เป็นต้น

นางแชงการี คิรุปปัลลินี (Ms. Shangari Kiruppalini) กล่าวว่า เป้าหมายของ Airbnb จะขยายเส้นทางการท่องเที่ยวให้ครอบคลุมพื้นที่ชุมชนในประเทศไทยเพื่อให้เป็นประโยชน์ในพื้นที่ต่าง ๆ โดย Airbnb จะทำ landing page เพื่อทำให้ประเทศไทยและชุมชนมีบทบาทและมีชีวิตชีวาขึ้นจริง ทั้งประเภท farm tropical beach และ beachfront โดยเพจนี้สามารถสร้างการโฟกัสหรือไฮล์ไลท์ เช่น local alive มาร่วมกันในการบริหารจัดการชุมชนเพื่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเมื่อสมาชิกคลิ๊กเข้าไปหาหมุดหมายการเดินทาง ก็จะได้เห็นถึงรายละเอียดของสถานที่ท่องเที่ยว และจะได้เจอกับพื้นที่ที่ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะเจอได้ด้วย ผ่านการใช้โซเชียลมีเดียในการสร้างความตื่นเต้น ทั้งอินสตาแกรม เฟสบุ๊ก เพื่อสร้างความตระหนักรู้ของชุมชน ทั้งนี้ จะร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการของประเทศไทยได้รับการเทรนนิ่งเพื่อเตรียมการต้อนรับนักท่องเที่ยวตามเทรนนิยมใหม่ ๆ สร้างพลวัตและภาคีในชุมชนต่าง ๆ เพื่อให้เขามีความโดดเด่นมากขึ้น โดยมีทูตด้านการท่องเที่ยว หรือ influencer มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์

“Airbnb ขอขอบคุณกระทรวงมหาดไทยที่ได้ให้การสนับสนุนให้มีการจดแจ้งที่พักจัดตั้งที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมตามกฎหมาย ซึ่งการส่งเสริมพัฒนาเหล่านี้จะมีส่วนช่วยให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชน เพราะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมากขึ้น และมักจะไปในที่ที่คนทั่วไปไม่ไปกัน อันทำให้เกิดการกระจายรายได้อย่างครอบคลุมทั่วประเทศ” นางมิช โกห์ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทย วัฒนธรรมไทย มีอะไรมากมายที่น่าสนใจ และน่าหลงใหล น่ามาเยือน น่ามาสัมผัส ซึ่งการดำเนินการร่วมกันของกระทรวงมหาดไทยและ Airbnb ในครั้งนี้ ยังเป็นส่วนหนุนเสริมตามพันธกิจที่กระทรวงมหาดไทยได้รับมอบหมายจากรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน (ความยากจน) ให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งขณะนี้ กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการไปในลักษณะระยะสั้น ด้วยการเร่งช่วยเหลือให้เขาพ้นจากความเดือดร้อน และสำหรับระยะกลาง ระยะยาว เราต้องการสร้างทีมในท้องถิ่น ในตำบล/หมู่บ้านให้เกิดความเข้มแข็ง ตามพันธสัญญาที่ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศได้ร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน ไว้กับองค์การสหประชาชาติ (UN) ประจำประเทศไทย ในเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืน “1 จังหวัด 1 คำมั่นสัญญา” โดย Airbnb สามารถมาช่วยทำให้การขับเคลื่อนนี้บรรลุผลเป็นไปอย่างสมบูรณ์ ด้วยการเปิดพื้นที่ของชุมชนให้เขาสามารถดูแลพัฒนาตนเองจนมีความเข้มแข็งในบริบทที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจนเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการที่เขาสามารถดูแลประเพณีวัฒนธรรม พื้นที่ชุมชน ให้ยังคงเป็นชุมชน ตำบล หมู่บ้านที่มีความเป็นอัตลักษณ์ของเขาอยู่ การเปิดประตูให้แขกนอกประเทศมาเป็นกำลังใจ มาพักผ่อน มาศึกษาเรียนรู้ จึงเป็นเรื่องที่ดีมาก นอกจากนี้ “การสร้างทีมที่เข้มแข็ง” เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ โดยมีท่านนายอำเภอทั้ง 878 อำเภอ ลงไปสร้างทีมในระดับหมู่บ้าน/ตำบล เป็นทีมภาคประชาสังคมในระดับพื้นที่ เพื่อปิดจุดอ่อนของระบบราชการ เพราะแม้ว่า ท่านนายอำเภอต้องย้าย ต้องเกษียณอายุราชการ ถูกโปรโมท ถูกเลื่อนตำแหน่ง แต่ทีมประชาสังคมนี้จะเป็นทีมถาวร เพราะเขาจะอยู่ในชุมชนตลอดไป ไม่ไปไหน และเมื่อนายอำเภอคนใหม่ย้ายเข้ามา ก็จะมีทีมที่มีความพร้อม มีใจ และเป็นภาคีเครือข่ายที่เสียสละในการทำงานกับนายอำเภอเพื่อดูแลชุมชน ตำบลหมู่บ้าน

“Airbnb มีประสบการณ์ในการนำเสนอสิ่งที่ดีกับชุมชนโดยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี น่าสนุกสนาน ตื่นเต้น และหลังจากนี้ ยังมีอีกหลายประการที่กระทรวงมหาดไทย และ Airbnb จะได้ช่วยกันค่อย ๆ ส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่การท่องเที่ยวชุมชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนให้เกิดความยั่งยืนไปด้วยกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ท้าทายที่เราจะทำให้ทุกหมู่บ้าน/ชุมชน ซึ่งมีอยู่มากกว่า 80,000 หมู่บ้าน เป็นหมู่บ้านที่คนในท้องถิ่นลุกขึ้นมาดูแลตัวเอง ดูแลนักท่องเที่ยว อันจะยังผลประโยชน์ให้กลับคืนสู่พี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

Leave a Reply