สนองพระดำริสมเด็จเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ฯ ปลัดกระทรวงมหาดไทยลงพื้นที่เยี่ยมศูนย์เรียนรู้ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย “วิชชาลัยดอนกอย วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน”  จังหวัดสกลนคร

 วันที่ 27 พ.ย. 65  เวลา 09:00 น. ที่ศูนย์เรียนรู้ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย “วิชชาลัยดอนกอย วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน” หมู่ที่ 2 ตำบลสว่าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายวรงค์ แสงเมือง ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน นายสุรพล แก้วอินธิ ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย “วิชชาลัยดอนกอย วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยมี นายวีระ ฤกษ์วาณิชย์กุล ปลัดจังหวัดสกลนคร นายสมาน พั่วโพธิ์ พัฒนาการจังหวัดสกลนคร ดร.ชูพงศ์ คำจวง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร นายยรรยง พรมศร นายอำเภอพรรณานิคม นายพลชัย ชุมปัญญา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสกลนคร เขต 2 นายมนตรี ฮมแสน พัฒนาการจังหวัดนครพนม นายกัมปนาทจักรวาล วิเวศ ศรีพุทธา พัฒนาการจังหวัดอุดรธานี นายองอาจ ซองทุมมินทร์ พัฒนาการจังหวัดมุกดาหาร ผู้อำนวยการกลุ่มงาน พัฒนาการอำเภอ เกษตรอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายสมเกียรติ ทิลารักษ์ นายกเทศมนตรีตำบลบัวสว่าง และสมาชิกกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย ร่วมให้การต้อนรับและนำตรวจเยี่ยม

     นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นบุญอย่างใหญ่หลวงของพี่น้องกลุ่มทอผ้าบ้านดอนกอยได้รับพระกรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้จากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงรัก คิดถึง และห่วงใยพี่น้องกลุ่มทอผ้าบ้านดอนกอยอยู่ทุกลมหายใจของพระองค์ ซึ่งสะท้อนให้พวกเราทุกคนได้สัมผัส ได้เห็นกับตา เมื่อครั้งพระองค์เสด็จเยี่ยมพี่น้องบ้านดอนกอย พระองค์ได้พระราชทานพระวินิจฉัยแนะนำ และเมื่อคนดอนกอยได้น้อมนำมาช่วยกันพิสูจน์ มาทดลองทำตามพระวินิจฉัย และเกิดผลดีตามทันตาเห็น ทำให้พระองค์ทรงปลื้มปีติที่เห็นพวกเรามีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้ที่เพิ่มพูนมากขึ้น จากรายได้ 700 บาทต่อคนต่อเดือน เพิ่มพูนเป็นคนละหมื่นกว่าบาทต่อเดือน ดังนั้น การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจพี่น้องบ้านดอนกอยในวันนี้ จึงเป็นการอัญเชิญแนวพระดำริ เรื่อง หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) พี่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระกระแสรับสั่งให้ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย มาพูดคุยกับพี่ ๆ น้อง ๆ ทุกคน อันแสดงถึงความรักความห่วงใยที่พระองค์ท่านมีต่อพวกเราชาวดอนกอย และชาวไทยทุกคน โดยแนวพระราชดำริเรื่องหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) นี้ หลังจากเรามีพัฒนาการด้านการทอผ้าย้อมคราม ย้อมสีธรรมชาติ ด้วยการปลูกฝ้ายปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปลูกต้นไม้ให้สีธรรมชาติแล้ว ทรงแนะนำให้ 1) ไม่ว่าจะพัฒนาเรื่องใด ต้อง “พัฒนาคน” ก่อน โดยการสร้าง “ทีมอำเภอ” “ทีมตำบล” ลงมาคลุกคลีตีโมง ทำให้คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ทุกหมู่บ้านในตำบลดอนดอยมีความเข้มแข็ง เป็น “ผู้นำต้องทำก่อน” ต้องหมั่นลงมาพูดคุย มาประชุม สร้างพลังความรัก ความสามัคคีของคนในชุมชน ให้เกิดความเหนียวแน่น เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งเมื่อชุมชนมีความเข้มแข็ง บ้านเมืองก็จะมีความสะอาด สวยงาม และเกิดความอุดมสมบูรณ์ ทั้งที่เป็นความมั่นคงด้านอาหาร ด้วยการน้อมนำพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” มาขับเคลื่อนในทุกครัวเรือน ปลูกผักเป็นรั้ว เป็นอุโมงค์ในบ้านในถนนหนทางของหมู่บ้าน และขอให้เป็นครั้งสุดท้ายที่ราชการต้องนำพันธุ์ต้นไม้มาให้ปลูก ด้วยการช่วยกันเก็บเมล็ดพันธุ์แจกจ่ายขยายผลให้กับคนในชุมชน และกระจายไปยังหมู่บ้านอื่น ๆ เฉกเช่นที่พระองค์ทรงปลูกพืชผักสวนครัวด้วยพระองค์เองในวังศุโขทัย และทรงเก็บมาทำเครื่องเสวยด้วยพระองค์เอง ทั้งยังพระราชทานเมล็ดพันธุ์ให้กับข้าราชบริพารไปใช้ในครัวเรือน 2) นำผักแปลงรวมและพืชผลทางการเกษตรต่าง ๆ มาแปรรูปเพื่อถนอมอาหาร สำหรับจัดเลี้ยง และจำหน่ายให้กับหน่วยงาน/องค์กร/กลุ่มบุคคลที่มาศึกษาดูงาน 3) ช่วยกันน้อมนำหลักการพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตั้งแต่ “ต้นน้ำ” ด้วยการรวมกลุ่มปลูกคราม ต้นไม้ให้สี ให้จำนวนมาก ๆ ในพื้นที่ว่าง ทั้งหัวไร่ปลายนา ที่วัด ริมถนนหนทาง และรวมกลุ่มขยายพันธุ์ด้วยตนเองได้  “ต้องมีโรงเพาะชำกล้าไม้” “ธนาคารเมล็ดพันธุ์” ซึ่งนอกจากจะปลูกเพื่อย้อมผ้าในกลุ่มเองแล้ว ยังจะทำให้คนที่มาศึกษาดูงานหาซื้อไปใช้ได้อีกด้วย พร้อมทั้งตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ช่วยกันส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ พัฒนาการตลาด พัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกในกลุ่ม เพื่อทำให้พระองค์ทรงเห็นว่า พวกเรามีความมุ่งมั่นในการทำสิ่งที่พระองค์ท่านพระราชทานคำแนะนำอย่างเต็มกำลังความสามารถ และ 4) นอกเหนือจากทุกครัวเรือนจะมีถังขยะเปียกลดโลกร้อนแล้ว สิ่งที่ต้องทำขยายผลให้เกิดขึ้นในครัวเรือน ในชุมชน คือ ต้องมีการบริหารจัดการขยะตามหลัก 3Rs ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) นำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ด้วยการรวมกลุ่มจัดตลาดนัดขยะทองคำ เงินที่นำมาได้ก็รวมใส่บัญชีครัวเรือน เป็นเงินส่วนกลาง มีคณะกรรมการบริหาร กำหนดกฎระเบียบในการใช้เงิน เพราะสิ่งที่พระองค์ท่านปรารถนาในการทำให้ชีวิตของพวกเราทุกคนดีขึ้นอย่างยั่งยืน คือ อยากให้เราดูแลตนเอง รักษาสิ่งแวดล้อม และขอให้นำต้นแบบนี้ไปขยายผลตามภูมิสังคมอย่างไร เพื่อให้เกิดการขยายผลหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ในทุกอำเภอ ตำบล หมู่บ้านของจังหวัดสกลนคร และทุกจังหวัด

     “ขอให้จังหวัดสกลนคร ท่านนายอำเภอพรรณานิคม ได้มีความตั้งใจในการทำหน้าที่เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขพี่น้องประชาชนร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคผู้นำวิชาการ ภาคผู้นำศาสนา ภาคภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน ทั้งผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ ซึ่งจังหวัดสกลนครมีผู้นำวิชาการที่เข้มแข็ง ทั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตสกลนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ที่เป็นผู้นำในการส่งเสริมและต่อยอดองค์ความรู้ และโรงเรียนบ้านดอนกอย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสกลนคร เขต 2 ที่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ของโรงเรียนในการก่อสร้างศูนย์เรียนรู้ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย “วิชชาลัยดอนกอย วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ให้ลูกหลาน และเมื่อลูกหลานเหล่านั้นเติบโตขึ้น ก็จะเป็นกำลังสำคัญในการสืบสานพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เติบโตเติบใหญ่เป็นคนดี ด้วยการช่วยทำนุบำรุงรักษาต่อยอดภูมิปัญญาผ้าดอนกอย เพื่อให้บรรพบุรุษที่ได้ส่งต่อภูมิปัญญามาให้ ได้มีแต่ความสุข และยังถือเป็นความมั่นคงด้านเครื่องนุ่งห่ม อันเป็น 1 ในปัจจัย 4 ที่สถานการณ์โควิด-19 ได้สะท้อนให้ทุกคนได้เห็นแล้วว่า เราไม่รู้หรอกว่าอนาคตข้างหน้าจะเกิดโรคระบาด การสั่งซื้อใยสังเคราะห์หรือฝ้าย หรือเครื่องจักร จากประเทศต่าง ๆ ไม่สามารถทำได้ เพราะเราไม่สามารถติดต่อกับประเทศอื่น ๆ ได้ และประเทศอื่น ๆ ก็ไม่สามารถจะแลกเปลี่ยนอะไรกับเราได้ ถ้าเราสามารถทอผ้าเองเป็น ปลูกฝ้าย ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็น ก็จะมีเครื่องนุ่งห่มของตนเอง เสริมสร้างความมั่นคงให้กับประเทศชาติ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับคนในชาติ” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวต่ออีกว่า การก่อตั้ง “ศูนย์เรียนรู้ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย “วิชชาลัยดอนกอย วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน”” นี้ นับเป็นการก่อสร้างถาวรสถานแห่งความจงรักภักดีเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เนื่องในวาระทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา ในวันที่ 8 มกราคม 2566 อันเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ โครงการแรกของทั้งประเทศ ที่ได้ร่วมกันทำเพื่อถวายแด่พระองค์ท่าน ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณ แสดงให้เห็นว่า คนดอนกอยเป็นบัวพ้นน้ำ เพราะคนดอนกอยไม่ยึดติด ไม่อคติว่าตนเองรู้แล้ว ทำเป็นแล้ว ด้วยการน้อมนำพระราชวินิจฉัยมาทดลองทำ ปรับเปลี่ยนสีการย้อมผ้า จากน้ำสิบ เหลือน้ำ 1 2 3 4 ปรับปรุงลวดลาย ทำลายใหม่ เอาลายเก่ามาประยุกต์ ทำให้เกิดความสวยงาม ถูกใจลูกค้า รายได้ก็เพิ่มพูนขึ้น จนสามารถยกระดับกลายเป็น “ต้นแบบ” สู่การเป็นวิชชาลัยดอนกอยฯ และประการสำคัญที่สุด คือ คนดอนกอยเป็นต้นแบบของคนในชาติที่แสดงความกตัญญูกตเวทีและสนองพระกรุณาธิคุณ ด้วยการช่วยทำให้พระปณิธานของพระองค์ที่ทรงมุ่งมั่นแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการเอาภูมิปัญญาผ้าไทย งานหัตถศิลป์หัตถกรรมของบรรพบุรุษมาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยการพร้อมใจกันทั้งหมู่บ้าน ช่วยกันยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในตำบล/หมู่บ้าน พัฒนาหมู่บ้านเป็น “หมู่บ้านเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวาระทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา ในวันที่ 8 มกราคม 2566

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า กิจกรรมทั้งหมดนี้ เป็นการร่วมกันทำ ร่วมกันสนองพระกรุณาธิคุณโดยเห็นพ้องต้องกัน ทำจากการมีส่วนร่วมของทุกคน  ซึ่งเมื่อทุกคนในหมู่บ้านบ้านดอนกอยได้ช่วยกันหารือจนเกิดความเข้าใจและลงมือทำ ก็สามารถใช้ประโยชน์ได้ ทุกอย่างเป็นเรื่องดี ถ้าทำต่อเนื่องก็เกิดประโยชน์กับลูกหลาน และจะต้องไม่ทอดทิ้งพี่น้องประชาชนในชุมชนคนที่ไม่ได้ทอผ้า “ต้องมีมุทิตาจิต” ด้วยการส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วม เช่น ช่วยกันใช้ ช่วยกันพูด ช่วยกันสื่อสาร ว่าประโยชน์ของการสวมใส่ผ้าไทย ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย เมื่อใส่แล้วดี ใส่แล้วเงินทองไม่รั่วไหลไปต่างประเทศ และเกิดความมั่นคงของเศรษฐกิจฐานรากบ้านดอนกอย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า “ชาวบ้านดอนกอยทุกคนช่วยสนับสนุนกลุ่มทอผ้าบ้านดอนกอยให้มีรายได้ ด้วยพระบารมีและขอให้ได้ช่วยกันสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้วยการนำพระดำริ พระวินิจฉัย และพระกรุณาธิคุณมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือ ตำรับตำรา เพื่อใช้ในการศึกษาเรียนรู้ของเด็ก เยาวชน นักเรียน ในพื้นที่ อันจะส่งผลให้เกิดการน้อมนำแนวพระดำริมาปฏิบัติจนเป็นวิถีชีวิต เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนชาวบ้านดอนกอยดีขึ้นอย่างยั่งยืน”

นอกจากนี้ ดร.ชูพงศ์ คำจวง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร ได้กล่าวว่า ชาวสกลนครรู้สึกตื้นตันใจในพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่มาทรงช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ดังนั้น อบจ.สกลนคร ขอรับหนุนในทุกเรื่องที่จะต้องช่วยกันพัฒนาซึ่งส่วนราชการหรือชุมชนขาดงบประมาณในการดำเนินการ

จากนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ตรวจเยี่ยมครัวเรือนนายสมพร ศรีสุทัศน์ บ้านเลขที่ 20 หมู่ที่ 2 และครัวเรือนนายนำสมัย ศรีสุทัศน์ บ้านเลขที่ 174 หมู่ 2 ซึ่งน้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง”  “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร และการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนในแปลงที่ดินภายในบริเวณบ้าน และร่วมปลูกต้นมะเขือและต้นพริกกับพี่น้องประชาชนในหมู่บ้านดอนกอย

Leave a Reply