กระทรวงมหาดไทย ร่วมประชุมคณะกรรมการอุปถัมภ์โครงการจัดทำพระไตรปิฎก ฉบับภาษาอังกฤษ (Tipitaka English Version) หวังเผยแพร่พระไตรปิฏกสู่สากล และทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้คงอยู่คู่ผืนแผ่นดินไทย

วันนี้ (19 กันยายน 2565) เวลา 10.00 น. ณ ห้อง War Room อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการอุปถัมภ์โครงการจัดทำพระไตรปิฎก ฉบับภาษาอังกฤษ (Tipitaka English Version) ครั้งที่ 1/2565 ในฐานะคณะกรรมการอุปถัมภ์โครงการจัดทำพระไตรปิฎก​ ฉบับภาษาอังกฤษ (Tipitaka English Version) ผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Meeting) โดยมี นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง​ ทั้ง 20 กระทรวง และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 356/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการอุปถัมภ์โครงการจัดทำพระไตรปิฎก​ ฉบับภาษาอังกฤษ (Tipitaka English Version) ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 เข้าร่วมการประชุม

ในการนี้ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประธานการประชุม กล่าวว่า โครงการจัดทำพระไตรปิฎก ฉบับภาษาอังกฤษ (Tipitaka English Version) นั้น คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบการดำเนินงานโครงการฯ ในนามรัฐบาลไทย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ของประเทศไทย และประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการจัดทำพระไตรปิฏก ฉบับภาษาอังกฤษ (Tipitaka English Version) จำนวน 2 คณะ ได้แก่ (1) คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำพระไตรปิฏกฯ โดยมีสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นประธานกรรมการ กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นกรรมการ พระพรหมบัณฑิต เป็นกรรมการและเลขานุการ และ (2) คณะกรรมการอุปถัมภ์โครงการจัดทำพระไตรปิฏกฯ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นรองประธานกรรมการ คนที่ 1 รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานกรรมการ คนที่ 2 ปลัดกระทรวง จำนวน 20 กระทรวง นายกราชบัณฑิตยสภา ผู้อำนวยการศูนย์พหุภาษา การแปลและล่ามแห่งอาเซียน เป็นกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และอธิบดีกรมการศาสนา เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม ซึ่งต่อมาประธานคณะกรรมการอุปถัมภ์ของการจัดทำพระไตรปิฎกฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจำนวน 3 คณะ คือ (1) คณะอนุกรรมการจัดทำพระไตรปิฎกฯ โดยมีพระพรหมบัณฑิต เป็นประธานอนุกรรมการ รองอธิบดีกรมการศาสนาและรองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม โดยมีหน้าที่และอำนาจในการวางแผนและจัดทำพระไตรปิฎกให้แล้วเสร็จตลอดจนถึงการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อสนับสนุนการจัดทำพระไตรปิฎก (2) คณะอนุกรรมการแปลพระไตรปิฎกฯ โดยมีพระพรหมบัณฑิต เป็นประธานอนุกรรมการ พระธรรมวัชรบัณฑิต เป็นรองประธานอนุกรรมการ คนที่ 1 พระคำหมาย ธมฺมสามิ เป็นรองประธานอนุกรรมการ คนที่ 2 พระศรีธวัชรเมธี เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ และ (3) คณะอนุกรรมการบรรณาธิการพระไตรปิฎกฯ โดยมีพระพรหมบัณฑิต เป็นประธานอนุกรรมการ พระเทพเวที กรรมการและเลขานุการ ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการอุปถัมภ์โครงการจัดทำพระไตรปิฏกฯ ได้เสนอขอพระราชทานโครงการฯ ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ของมหาเถรสมาคม และขอพระราชทานกราบบังคมทูลสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์โครงการจัดทำพระไตรปิฏกฯ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการขอพระราชทานโครงการดังกล่าวไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมนี้ให้ศูนย์ประสานงานโครงการจัดทำพระไตรปิฏก​ ฉบับภาษาอังกฤษ (Tipitaka English Version) ณ วัดประยูรวงศาวาส เขตธนบุรี จังหวัดกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางในการดำเนินโครงการฯ เพื่อเป็นสถานที่จัดเก็บเอกสาร เป็นศูนย์ประสานงานระหว่างผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพระไตรปิฏกต่อไป ซึ่งการแปลนั้นเป็นการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมัน โดยใช้หนังสือพระไตรปิฏกบาลีอักษรไทย ฉบับสยามรัฐ เป็นต้นฉบับในการแปล โดยจากผลการดำเนินการที่เกิดขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 แปลได้ทั้งสิ้น​ 4,507 หน้า (ร้อยละ 20.07 ของหน้าการแปลทั้งหมด) ซึ่งมากกว่าเป้าหมาย คือ 4,470 หน้า (ร้อยละ 20 ของหน้าการแปลทั้งหมด)

สำหรับสาระสำคัญของการประชุมในครั้งนี้เป็นการหารือร่วมกันเรื่องกรอบแผนการดำเนินงานและข้อเสนอขอรับการจัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายโครงการจัดทำพระไตรปิฏก ฉบับภาษาอังกฤษ (Tipitaka English Version) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งกรมการศาสนา ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ ได้จัดทำกรอบแผนการดำเนินงาน และร่างขอรับการจัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 19,113,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้เพิ่มงบประมาณในส่วนของการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าวให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ จึงส่งผลทำให้การขอรับการสนับสนุนงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพิ่มขึ้นเป็น 22,000,000 บาท และได้มีการหารือเกี่ยวกับการแต่งตั้งอนุกรรมการแปล และอนุกรรมการบรรณาธิการพระไตรปิฏก ฉบับภาษาอังกฤษ (Tipitaka English Version) เพิ่มเติม โดยให้มีการแต่งตั้งอนุกรรมการแปล คือ ศาสตราจารย์ ดร.รวินทร ปานฑ์ (Prof. Dr. Ravinda Panth) อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยนาลันทา ประเทศอินเดีย และอนุกรรมการบรรณาธิการฯ คือ ศาสตราจารย์ ดร.การาม เดช สิงห์ ซาเรา (Prof. Dr. Karam Tej Singh Sarao) อดีตหัวหน้าภาควิชาพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยเดลี ประเทศอินเดีย เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ นอกจากนี้ยังได้มีการหารือประเด็นว่าด้วยการใช้โปรแกรมในการช่วยแปลภาษา เพื่อช่วยในการตรวจสอบไวยากรณ์ และการสะกดคำผิด รวมถึงช่วยบรรณาธิการเรียบเรียงคำให้ข้อความมีความถูกต้องในการแปล มีความสมนัยสอดคล้องกัน สามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย ตลอดจนช่วยลดการใช้คำศัพท์ที่มีความหลากหลายจากผู้แปล สร้างมาตรฐานเดียวกันในการแปล และสร้างฐานข้อมูลจัดเก็บความหมายของคำศัพท์ สำหรับให้ผู้ใช้งานทุกคนสามารถเข้าถึงและนำไปใช้ได้ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบในประเด็นดังกล่าว

ด้าน ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า กระทรวงมหาดไทยในฐานะกรรมการคณะกรรมการอุปถัมภ์โครงการจัดทำพระไตรปิฎก ฉบับภาษาอังกฤษ (Tipitaka English Version) ยินดีให้การสนับสนุนการดำเนินการตามโครงการดังกล่าวอย่างเต็มกำลังความสามารถด้วยกลไกตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เนื่องจากเป็นโครงการที่มีประโยชน์อย่างยิ่งยวดในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติไทยให้ดำรงสถาพรอยู่บนผืนแผ่นดินไทย อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการเผยแพร่หลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระไตรปิฏกให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายสู่ระดับนานาชาติผ่านการแปลเป็นฉบับภาษาอังกฤษ ซึ่งภาษาอังกฤษนั้นถือได้ว่าเป็นภาษาสากลและภาษาราชการที่นานาอารยะประเทศต่างต้องใช้ร่วมกันในการติดต่อสื่อสาร นอกจากนี้ยังได้ถวายเป็นพระราชกุศลและเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และทรงประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก ซึ่งกระทรวงมหาดไทยมีความปลื้มปิติเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้

.

Leave a Reply