แบบอย่างชาวพุทธ “ต้นแบบ” อธิบดีสายธรรมะ “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ”

             สำหรับผู้เขียนเป็นเรื่องยากมาก ที่จะเขียนถึงคนใดคนหนึ่งที่จะให้สังคมพุทธหรือคณะสงฆ์เราเห็นภาพ ยกบุคคลใดบุคคลหนึ่งขึ้นมาให้สังคมรับรู้ว่า ควรนำเป็นแบบอย่าง และยิ่งถ้าบุคคลคนนั้นเป็น “เพศฆราวาส” มีตำแหน่ง มียศถาบรรดาศักดิ์ ยิ่งคิดหนักว่า จะเริ่มต้นอย่างไร จะเขียนแบบไหนให้สังคมรู้สึกว่า “มิได้เอาใจหรือพูดจนเกินเลยไป” หรือหวังผลตอบแทนประการใด

            แต่สำหรับ “พี่เก่ง” คุณสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน มิใช่เรื่องยากแต่ประการใดไม่ เพราะเป็นบุคคลที่คณะสงฆ์เรารู้จักดี ยิ่งพระสงฆ์ระดับผู้ใหญ่ยิ่งรู้จัก เพราะชื่อเสียงในวงการคณะสงฆ์รู้จักดีกันดีว่าเป็น “ข้าราชการสายธรรมะ” ควรเป็นบุคคคลต้นแบบ “สำหรับชาวพุทธ”

            ผู้เขียนรู้จักกับพี่เก่ง ตอนเป็นหัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยคือปี 2548

            รู้จัก!!   เพราะผู้เขียนเชิญรัฐมนตรีมาออกรายการ กรองสถานการณ์ช่อง 11” ซึ่งต้องประสานงานกันในด้านข้อมูล

            รู้จัก!!   เพราะผู้เขียนให้พี่เก่งช่วยเหลืออำนวยความสะดวกเรื่องการขอสัญชาติไทยให้กับคนมอญสังขละบุรี จ.กาญจนบุรี

            รู้จัก!!   เพราะผู้เขียนเชิญรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยไปมอบทุนการศึกษาให้กับพระภิกษุ -สามเณรมอญ เมื่อปลายปี 2548 ณ วัดสุธรรมวดี กรุงเทพมหานคร ในนาม ชมรมส่งเสริมพัฒนาการศึกษาพระสงฆ์มอญ” ปัจจุบันก็คือ “มูลนิธิรามัญรักษ์” ที่ผู้เขียนเป็นเลขานุการอยู่

            ยุคนั้น..ไม่มีใครเชื่อว่ารัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยจะไป วัดมอญที่ทรุดโทรม ศาลาการเปรียญที่ผุพัง มีต่างด้าวอาศัยอยู่จำนวนมาก  แม้เจ้าอาวาสก็ไม่เชื่อว่ารัฐมนตรีจะไปมอบทุนให้

            แต่ด้วยอิทธิฤทธิ์ของ พี่เก่ง” รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยมาเป็นประธานมอบทุน พร้อมกับถวายเงินทำบุญให้ด้วย..หากจำไม่ผิด 3 หมื่นบาท

            ชื่อเสียงพี่เก่ง เริ่มเป็นที่รู้จักและได้สร้างความฮือฮาให้กับชาวพุทธกลายเป็น “โมเดล จนทุกวันนี้ นั่นคือ โครงการผู้ว่าหิ้วปิ่นโตเข้าวัด” โดยให้ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประธานชุมชน ร่วมเป็นตัวแทนผู้ว่า หิ้วปิ่นโตไปถวายวัดทั้งหมดในจังหวัดนครนายก รวมทั้งสิ้น 200 กว่า วัด ทุกวันพระ

            ตอนนี้หลายจังหวัด หลายท้องถิ่น ก็ถือเป็นแบบอย่างเป็นโมเดล หิ้วปิ่นโตเข้าวัด ทุกวันพระ

           หรือแม้กระทั้งโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 เกิดตอนพี่เก่ง เป็นผู้ว่าสระบุรี ก็มีส่วนร่วมผลักดันไม่ใช่น้อย

            ตอนไปเป็นผู้ว่าชัยนาทก็เคยเชิญมาออกรายการที่ช่อง 11 หลายครั้ง พร้อมทั้งชวนให้ทำบุญบริจาคให้กับเด็กและคนยากไร้ตามแนวชายแดนหลายครั้งหลายคราว ชวนทีไรไม่เคยปฎิเสธ

            ตอนหลังทราบว่า..ภรรยาท่านเป็นคนมีสตางค์

ความจริงผู้เขียนกับ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ก็พอรู้จักกัน ครั้งหนึ่ง ดร.วันดี” เคยชวนไปผลิตสารคดีเกี่ยวกับพลังงาน แต่ตอนนั้นงานช่อง 11 รับผิดชอบหลายรายการ ทั้งไม่รู้ว่า ดร.วันดี คือ ภรรยาของพี่เก่ง  จึง “ตอบปฎิเสธ”..

            มารู้..ไม่กี่ปีมานี่เอง

             ยิ่งยุคนี้ในสังคมไทย สังคมสงฆ์ ไม่มีใครไม่รู้จัก “โคก หนอง นา  โครงการนี้มีเบื้องลึกเบื้องหลังความเป็นมาอย่างไร ผู้เขียนไม่ทราบ แต่คนที่ “สปีดเครื่องจักร” เต็มที่ประเภทถวายหัว นั่นคือ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และมีข้าราชการกรมพัฒนาชุมชนร่วมลุย เสริมทัพให้แข็งแกร่ง ปูพรมทั่วประเทศ เคยคุยกับคนพัฒนาชุมชน บางคนไม่เคยออกแดด ตากฝน ลุยโคลน แต่งตัวใส่ผ้าไทยอยู่แต่ในออฟฟิต ยุคนี้กรมพัฒนาชุมชน กู้ภาพ “เช้าชาม เย็นยามประชุมทั้งวัน” ให้กับวงการข้าราชการได้ไม่ไช่น้อย

            และโครงการ “โคก หนอง  นา” เป็นโครงการระดับต้นของรัฐบาลที่ประชาชนต่างจังหวัดชื่นชอบมากที่สุดโครงการหนึ่ง

             ล่าสุดมีคนมากระซิบบอกว่า “สมเด็จพระวันรัต” วัดบวรนิเวศ เห็นว่าโครงการนี้ประชาชนได้รับประโยชน์วัดบวรมีที่ดินอยู่ประมาณ 200 ไร่ที่ไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ยินดีให้กรมพัฒนาชุมชนไปพัฒนา เป็นโครงการโคก หนอง นา ,วัดระฆังโฆสิตาราม ก็มีที่ดินอยู่ราชบุรีนับร้อยไร่ หรือแม้กระทั้งเจ้าคณะจังหวัดพิจิตร หากกรมพัฒนาชุมชน จะไปทำโคก หนอง นา  ก็ยินดีมอบที่ดินวัดให้ไปทำ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประชาชนนี่คือ.. “ความเมตตาจากพระสงฆ์”

            ด้วยบุคลิกที่ยิ้มแย้มแจ่มใส  อ่อนน้อมถ่อมตนอยู่ตลอดเวลา พระสงฆ์องค์เจ้าจึงชอบ ทั้ง ๆ ที่ เป็นข้าราชการระดับชั้นผู้ใหญ่ หรือหากจะพูดถึงความรวยยุคนี้คงไม่มีอธิบดีคนไหนมีทรัพย์สินเงินทองเทียบเท่า อธิบดีสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ได้  ป.ป.ช. เพิ่งเปิดข้อมูลมาไม่นานว่ามีทรัพย์สินกว่า “หมื่นล้าน”

            แต่..ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นคนชอบทำบุญ ชอบเข้าหาพระสงฆ์ จึงเป็น ขวัญใจ และได้รับความเมตตาจากพระผู้ใหญ่หลายรูปโดยเฉพาะ “สมเด็จพระมหาวีรวงศ์” เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช

             ที่เล่าให้ฟัง มิได้เลยเกินจากความเป็นจริง ที่เล่าเพราะอยากให้ชาวพุทธดูเป็นแบบอย่าง ดูเป็นบุคคลต้นแบบในการดำเนินชีวิต แม้จะเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แม้จะมีเงินทองทรัพย์สินเป็นหมื่นล้าน ก็ไม่ทิ้ง หลักธรรมในพระพุทธศาสนา คือ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความเสียสละ การเข้าหาพระสงฆ์ “ผู้เป็นนาบุญ”  ของสังคม

            ในขณะที่มีหน้าที่ตำแหน่ง ก็มุ่งหวังทำงาน เพื่อชาติ เพื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และเอื้อประโยชน์ให้กับสังคมสงฆ์และพุทธศาสนาไปในตัวได้ด้วย

             “ส่องกล้อง มองสงฆ์” วันนี้นำบุคคลตัวอย่างที่ผู้เขียนรู้จัก มาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับชาวพุทธ ซึ่งนับวัดห่างหายไปจากสื่อมวลชน นับวันห่างจ่างหายไปจากสังคม และนับวันห่างหายไปจากพระพุทธศาสนา ด้วยปัจจัยทางสังคมและวิถีชีวิตของคนไทยที่เปลี่ยนไป!!.

 

 

 

Leave a Reply