มท.น้อมนำพระปณิธานเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ coaching ผู้ประกอบการผ้าไทยจังหวัดปักษ์ใต้

กระทรวงมหาดไทย น้อมนำพระปณิธาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ลงพื้นที่ coaching ผู้ประกอบการผ้าไทยจังหวัดปักษ์ใต้ เพื่อสร้างสรรค์ผ้าไทยที่ทันสมัย สร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 เวลา 09.40 น. ที่โรงแรมบุรีศรีภู อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย (Coaching ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา) กิจกรรมจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้า และอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย จุดดำเนินการที่ 4 โดยมี นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิธร จันทมฤก ประธานแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นางดาเรศ จิตรัตน์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสงขลา

นายยงยุทธ สุวรรณบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ นางอรัญญา สุวรรณบุตร นายกเทศมนตรีตำบลแพรกษา นายเมธากุล สุวรรณบุตร สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ คุณธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ คุณรติรส จุลชาต ดร.ศรินดา จามรมาน กรรมการที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก คุณกุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการนิตยสารโว้กไทยแลนด์ คุณศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทรนด์และแฟชั่น หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ผลิต และผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและช่างทอผ้าจากจังหวัดสงขลา นราธิวาส นครศรีธรรมราช ปัตตานี กระบี่ พังงา พัทลุง ยะลา สตูล สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ตรัง และจังหวัดระนอง รวม 60 กลุ่ม ร่วมกิจกรรม

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า นับเป็นความภาคภูมิใจของพวกเราทุกคนที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสนองแนวพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่พระองค์ท่านทรงทุ่มเท เสียสละ ด้วยความมุ่งมั่น ในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และด้วยทรงมีพระกตเวทิตาคุณอันยิ่งใหญ่ ด้วยการทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการช่วยทำให้พวกเราทุกคนได้มีโอกาสที่ดีของชีวิตในการสร้างสรรค์ผลงาน ด้วยการนำเอาภูมิปัญญา ผ้าไทย ผ้าประจำถิ่น ผ้าอัตลักษณ์ และงานหัตถศิลป์ หัตถกรรมทุกรูปแบบที่ทำจากหนึ่งสมองสองมือ ให้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี ผ่านการขับเคลื่อนโครงการพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” โดยเสด็จพระดำเนินลงมาช่วยยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องผู้ประกอบการผ้าไทย และกลุ่ม OTOP ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งมีนัยสำคัญ คือ ทรงช่วยทำให้ทุกสถานที่ที่เสด็จพระดำเนินไปทรงงาน เกิดกระแสสังคมที่ตื่นตัว คึกคัก ในการใช้สินค้าภูมิปัญญาบรรพบุรุษของพวกเราทุกคน อันเป็นเสมือนแสงสว่างที่มาส่องให้งานหัตถศิลป์ หัตถกรรมเกิดความโดดเด่น เป็นที่รับรู้อย่างแพร่หลายในหมู่ประชาชน ทั้งนี้เพราะทุกลมหายใจของพระองค์ทรงทำเพื่อประโยชน์สุขแห่งพวกเราคนไทยทุกคน

“ขณะเดียวกัน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีพระราชปณิธานที่มุ่งมั่นในการสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ดังใจความตอนหนึ่งของพระราชดำรัส โอกาสเสด็จฯทรงเปิดงานวันสตรีไทย เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ความว่า “…ข้าพเจ้ามีความตั้งมั่นที่จะสนองพระเดชพระคุณ พระมหากรุณาธิคุณ ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานแห่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เหมือนดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด และแผ่ขยายพระบารมีแห่งสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี…”” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า นับเป็นบุญของพวกเราทุกคนที่พระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ไม่ทอดทิ้งพวกเรา ทำให้ได้มีวันนี้ “วันที่ผ้าไทยได้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง” เพราะในยุคหนึ่ง คนไทยจะคุ้นชินกับวัฒนธรรมการแต่งกายกระแสนิยมจากต่างประเทศ หรือที่เรียกว่า “5 ย คือ ผมยาว เสื้อยืด กางเกงยีน รองเท้ายาง สะพายย่าม” ทำให้ในขณะนั้น ผ้าไทยกำลังจะสูญหายไปแล้ว แต่ด้วยน้ำพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้นของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงอุทิศพระกำลังกาย พระสติปัญญา และพระกำลังราชทรัพย์ ทุ่มเทเสียสละให้พวกเรา เป็นที่มาของคำว่า “ขาดทุนคือกำไร” ทรงปรารถนาอยากให้เกษตรกรได้มีรายได้เสริมด้วยพรสวรรค์ที่มือสองมือของคนไทยทำอะไรก็สวยงาม โดยทรงนำผ้าไหมไทยของชาวบ้านมาตัดฉลองพระองค์ และทรงสวมใส่ในทุกวาระโอกาส ทำให้ผ้าไทยกลับมาเฉิดฉายงดงามให้คนไทย และคนทั่วโลกได้สัมผัส ได้เห็น ไดเชยชมอีกครั้งหนึ่ง กอปรกับผู้นำประเทศ คือ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เป็นผู้นำในการสวมใส่ผ้าไทยในทุกการดำเนินชีวิตประจำวัน ยิ่งทำให้เกิดกระแสค่านิยมการแต่งกายผ้าไทยของคณะรัฐมนตรี ข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนในทั่วประเทศ

“ขอให้พวกเราทุกคนเป็นผู้นำในการสวมใส่ผ้าไทยในทุกวัน ทุกโอกาส เพื่อให้สมาชิกในบ้าน ญาติมิตร ได้เกิดกระแสนิยมและสวมใส่กันทุกวัน เพราะนัยสำคัญของพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ที่พระราชทานนั้น หมายความรวมถึง คนทุกเพศ ทุกวัย ใส่ได้ในทุกโอกาส โดยทรงทำให้ผู้ประกอบการผ้า ช่างทอผ้า ตัดเย็บผ้า ได้รู้จักการออกแบบ การตัดเย็บ ให้ถูกใจคนทุกเพศทุกวัย และถูกวาระโอกาสของงานอย่างเหมาะสม เช่น ชุดทำงาน ชุดท่องเที่ยว ชุดลำลอง เป็นต้น เพื่อให้คนในสังคมได้ฉุกคิดว่า ผ้าอัตลักษณ์ของพวกเราทุกคนสามารถสวมใส่ได้ ซึ่ง “ผ้าไทย” นอกเหนือจากความภาคภูมิใจในบรรพบุรุษที่ได้ตกทอดมาให้พวกเราคนไทยที่มีหัวใจของคนที่มีจิตอาสา มีความเสียสละ นึกถึงประโยชน์สุข ประโยชน์ของส่วนรวมของประเทศชาติแล้ว เงินที่จ่ายไปทุกบาททุกสตางค์ทำให้เรามีเครื่องนุ่งห่มที่สวยงาม ที่ถูกใจ แล้วยังประโยชน์ให้กับคนปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ทอผ้า เย็บผ้า จนถึงคนขายผ้าที่เป็นคนไทย จะได้มีรายได้ไปเลี้ยงดูครอบครัว เงินหมุนเวียนกลับสู่คนในชนบท ในภูมิภาคต่าง ๆ อันเป็นการเสริมสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศอีกด้วย” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระทัยที่แน่วแน่มั่นคงและมุ่งมั่นในการต่อยอดภูมิปัญญาลวดลายผ้าไทยให้มีความทันสมัย เกิดการเพื่มมูลค่าทางเศรษฐกิจครัวเรือน ชุมชน และประเทศชาติ โดยทุกครั้งที่พระองค์ท่านเสด็จเยี่ยมเยียนช่างทอผ้าและผู้ประกอบการผ้าไทย จะทรงให้ความใกล้ชิด เป็นกันเอง ทอดพระเนตรผลงานด้วยความตั้งใจจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพวกเราทุกคน ด้วยทรงมีความรักใคร่เมตตา ทุกครั้งที่ทรงมีพระวินิจฉัย จะทรงช่วยแนะนำด้วยความสุข ส่วนกลุ่มที่ผลงานดีอยู่แล้ว จะทรงพระราชทานคำชมเชย เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ โดยจะทรงเน้นย้ำอยู่เสมอว่า “ภูมิปัญญาของพวกเรา สามารถดัดแปลง พัฒนา คิด ริเริ่ม ทั้งในเรื่องรูปแบบ ลวดลาย เทคนิค เช่น การด้นมือ เป็นงานศิลปะที่จะทำให้เกิดการรักษาเนื้อผ้าในประณีตงดงามกว่าการเย็บด้วยจักร และด้วยพระอัจฉริยภาพ ทรงเชื้อเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านผ้า ด้านการออกแบบ Fashionis สมัยใหม่ เช่น หมู อาซาว่า จ๋อม เธียเตอร์ โจ ธนันท์รัฐ โรจน์ อิชชู่ ฟอร์ด กุลวิทย์ เป็นต้น มาเป็นจิตอาสาในการให้คำแนะนำ คำปรึกษา ด้านการออกแบบลวดลาย การร้องเรียงเรื่องราว (Story) อันเป็นการนำภูมิปัญญามาทำให้เกิดผลงานอันทรงคุณค่า เป็นที่ต้องการของตลาดได้มากขึ้น เพราะผ้าไทยไม่ได้เป็นเพียงความมั่นคงของชาติ แต่เป็นความมั่นคงของคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ รายได้ ของพี่น้องประชาชน

“สิ่งที่สำคัญที่พระองค์ทรงมีสายพระเนตรอันกว้างไกลและน้ำพระทัยที่เมตตายิ่ง นั่นคือ ทรงเล็งเห็นถึงความยั่งยืนของการส่งเสริมผ้าไทย ด้วยทรงส่งเสริมให้พวกเราทุกคนยึด “หลักการพึ่งพาตนเอง” ทั้งการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย ปลูกพืชที่ให้เส้นใย ให้สีธรรมชาติตามภูมิสังคมที่เราอยู่อาศัย ได้ด้วยตนเอง เพื่อลดต้นทุน เช่น นำต้นกล้วยมาทำเส้นใย ทั้งนี้ ทรงให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่ง โดยทรงให้แนวทาง อันได้แก่ 1) ใช้สีธรรมชาติ ไม่ใช้สีเคมี เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยการทดลองจนได้สูตรที่ตายตัวและจดบันทึกไว้ เพื่อให้มีสูตรของสีคงที่ 2) รู้จักปลูกต้นไม้ที่ให้สีธรรมชาติ เพื่อทดแทนต้นไม้ให้สีที่ได้ใช้ไป และ 3) คิดค้นที่จะทำให้มีหลายเฉดสี ตามสมัยนิยม ดังที่ทรงคิดค้น ค้นคว้า วิจัย ศึกษา ด้วยพระองค์เอง ด้วยการทรงพยากรณ์คาดเดารสนิยมความนิยมชมชอบของลูกค้าในอนาคต นำมาสู่หนังสือ THAI TEXTILES TREND BOOK อันเป็นการแสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงให้ความสำคัญและพระราชทานแนวทางในทุกกระบวนการตั้งแต่ “ต้นน้ำ” คือ มีวัตถุดิบ ถ่ายทอดองค์ความรู้ บันทึกองค์ความรู้ ผลิตเองโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม “กลางน้ำ” ด้วยการพัฒนา ออกแบบ กำหนดลวดลาย ศึกษาเรื่องสี ผ่านการพระราชทานหนังสือเทรนบุ๊ก และ “ปลายน้ำ” คือ ท่านผู้นำทางสังคมทั้งหลาย และพวกเราทุกคน พร้อมใจกันสวมใส่ผ้าไทย อันจะส่งผลให้พวกเราอยู่ดีมีสุข ประเทศชาติมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ที่พระราชทานให้พวกเรานี้ เป็นการลดเวลาในการพัฒนา เพราะทรงเห็นว่า งานศิลปหัตถกรรม งานผ้าไทย ผ้าอัตลักษณ์ จำเป็นต้องมีเส้นชัยไว้ให้พวกเราได้แข่งขัน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยพระราชทานเหรียญรางวัลที่มีลักษณะอันงดงามและสูงค่ายิ่ง คือ มีพระพักตร์ที่สวยงาม เปี่ยมไปด้วยความเมตตา และมีดอกแคทลียาควีนสิริกิติ์ที่พระเกศา อันเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นเครื่องยืนยันว่าพระองค์ทรงมีพระกตเวทีตาคุณต่อสมเด็จพระบรมราชนนีพันปีหลวงอย่างสูงยิ่ง และพระราชทานพระนามย่อ ส.ร. (สิริวัณวรี) ภายใต้พระจุลมงกุฎย่ออยู่ด้านหลังเหรียญ เพื่อเป็นกำลังใจให้พวกเราได้เร่งรัด ได้ใช้เวลาทุกนาทีให้เป็นประโยชน์ นำเอาผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญาไปผลิตเป็นชิ้นงาน และส่งเข้าประกวด เพื่อนำเหรียญรางวักลับมาเป็นเกียรติเป็นศรีกับวงศ์ตระกูลและกลุ่มของพวกเราให้ได้” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย

สุดท้าย นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ขอให้พวกเราทุกคนได้ช่วยกันระลึกนึกถึงอยู่เสมอว่าทุกครั้งที่เราสวมใส่ผ้าไทย คุณภาพชีวิตของพี่น้องคนไทยจะดีขึ้น และขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องผู้ประกอบการผ้าไทย และผู้ประกอบการ OTOP ผู้เป็นความหวังในการสืบสานรักษาและต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทย 14 จังหวัดภาคใต้ ทุกท่าน ได้มุ่งมั่นในการปฏิบัติตามพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการผลิตสร้างสรรค์ผลงานผ้าไทยให้ทันสมัย ให้พี่น้องประชาชนได้เลือกซื้อ เลือกหา เลือกสวมใส่ในทุกโอกาส ดังโครงการพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และขอให้กรมการพัฒนาชุมชน ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และทุกหน่วยงานได้ร่วมกันสร้างการรับรู้ผ่านทุกช่องทางให้พี่น้องประชาชนได้รู้ว่า เงินทุกบาท ทุกสตางค์ ที่ได้จับจ่ายซื้อหาผ้าไทยนั้น จะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลกับพี่น้องประชาชนคนไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

Leave a Reply