เปิดทัศนะ จำนงค์ ทองประเสริฐ ว่าด้วย “การสละสมณเพศตามกฎหมาย”

       สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ นายสิปป์บวร แก้วงาม   ผู้ตรวจการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะโฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับพระสงฆ์ เมื่อต้องคดีอาญาแล้วถูกกักขัง แม้ไม่ได้กล่าวคำลาสิกขา ทำนองว่า “ขาดจากความเป็นพระ” จนเป็นที่กล่าวขานและตื่นตระหนกตกใจในหมู่คณะสงฆ์เป็นอย่างมาก

       เพื่อความกระจ่างเรื่องนี้ วันนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ จำนงค์ ทองประเสริฐ (ราชบัณฑิต) ได้เปิดแนวคิดในประเด็นว่าด้วย “การสละสมณเพศตามกฎหมาย”  ดังรายละเอียดมีดังนี้

       กรณีที่เจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แถลงข่าว เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ส่งผลให้สังคมเข้าใจว่า การแถลงข่าวดังกล่าวเป็นมติของมหาเถรสมาคม“สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเสมือนได้ประกาศให้สังคมเข้าใจว่า พระสงฆ์ที่ถูกคุมขัง ได้ขาดจากความเป็นพระภิกษุไปแล้ว ตามผลของกฎหมายมาตรา ๒๙ และ มาตรา ๓๐ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ”  ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง การตีความข้อกฎหมาย โดยใส่ความคิดเห็นของตนเข้าไปในข้อกฎหมาย เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามหลักเจตนารมณ์ของกฎหมาย อาจส่งผลกระทบ เกิดความเสียหายต่อคณะสงฆ์ และพระพุทธศาสนาอย่างใหญ่หลวง

        การให้พระภิกษุสละสมณเพศ ตามเจตนารมณ์ของมาตรา ๒๙ นั้น ต้องจัดการให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย โดยต้องมีเจตนาเปล่งวาจาลาสิกขาต่อหน้าผู้รู้ความ ตามแนวของคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๗๘๒/๒๕๔๓ “การจะขาดจากความเป็นพระภิกษุ ตามมาตรา ๒๙ พระภิกษุรูปนั้น ต้องมีการกล่าวคำลาสิกขา” 

       จากแนวคำพิพากษาศาลฎีกานี้ เป็นการยืนยันได้ว่า ถ้าไม่ได้จัดการลาสิกขาตามขั้นตอนพระธรรมวินัย โดยมีเจตนาเปล่งวาจาลาสิกขา ถือได้ว่า ไม่เป็นการสละสมณเพศ ตามมาตรานี้

         แต่ปรากฎว่า พระสงฆ์วัดสระเกศ กับ วัดสามพระยา ไม่ได้เปล่งวาจาลาสิกขา และในวันที่ต้องถูกคุมขัง ก็ปรากฎข้อเท็จจริงว่า “ไม่มีพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการให้มีพระสงฆ์รูปใด จากวัดใด มาจัดการดำเนินการให้สละสมณเพศ ทั้งไม่ปรากฏพยานเอกสาร และพยานบุคคล และไม่ปรากฎว่า มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรของพระภิกษุรูปที่มาดำเนินการ ให้สละสมณเพศ ที่จะต้องลงความเห็นว่า ท่านได้ลาสิกขาไปแล้ว”

         ยังปรากฎข้อเท็จจริงอีกว่า ในการนำสืบคดีต่อศาล มีการถามเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกปาก ตั้งแต่ตำรวจที่จับกุม ก็เบิกความต่อศาลว่า  “ขณะจับกุมยังเห็นท่านใส่จีวร” ตำรวจที่สอบสวน ก็เบิกความต่อศาล ว่า “ขณะที่สอบสวนก็ยังเห็นท่านใส่จีวร” ตำรวจทุกปากยืนยันตรงกันว่า ไม่ได้มีการจัดให้ท่านสละสมณเพศ ทั้งขณะส่งตัวไปศาล ก็ปรากฏต่อศาล ว่า “ท่านยังใส่จีวร” และขณะจะนำตัวท่านเข้าไปที่เรือนจำ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็ยังเห็นท่านใส่จีวรเช่นเดียวกัน

        จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จึงเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้จัดให้มีการสละสมณเพศ ตามมาตรา ๒๙ ประกอบกับคำพิพาษาศาลฎีกาที่ ๖๗๘๒/๒๕๔๓ ที่ได้วางแนวทางปฏิบัติไว้”

        เมื่อดำเนินการให้สละสมณเพศ ตามมาตรา ๒๙ แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมาย ปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งของศาล ต้องรายงานการดำเนินการดังกล่าวต่อศาล ตามมาตรา ๓๐ แต่ปรากฎข้อเท็จจริงในวันดังกล่าว ไม่ปรากฎว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีอำนาจตามกฎหมาย ได้รายงานเรื่องการสละสมณเพศให้ศาลทราบอีกด้วย

            ทั้งนี้ องค์ประกอบการสละสมณเพศตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการให้ครบองค์ประกอบของมาตรา ๒๙ และมาตรา ๓๐ กล่าวคือ ท่านต้องมีเจตนาลาสิกขา และ ได้กล่าวคำลาสิกขา ตามมาตรา ๒๙ และ เจ้าหน้าตำรวจผู้มีอำนาจตามกฎหมายต้องรายงานต่อศาล ตามมาตรา ๓๐ ถ้าไม่ครบองค์ประกอบทั้งสองมาตรา ถือว่า ไม่เป็นไปตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดไว้

            ดังนั้น จึงเป็นการยืนยันทั้งทางข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย พระธรรมวินัย และแนวทางปฏิบัติของคำพิพากษาศาลฎีกาว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีการดำเนินการให้ท่านสละสมณเพศ ตามที่เจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติชี้แจงต่อสื่อมวลชน

           ส่วนการถูกคุมขังและการใส่ชุดขาวนั้น ไม่ใช่ประเด็นที่จะนำมากล่าวอ้างว่า เป็นสิ่งที่ทำให้ท่านขาดจากความเป็นพระไปแล้ว เพราะสาระสำคัญของความเป็นพระภิกษุจะสมบูรณ์หรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่การถูกคุมขัง แต่อยู่ที่ ข้อวัตร ปฏิบัติ ของความเป็นพระภิกษุตามพระธรรมวินัย

            อนึ่ง ที่ต้องใส่ชุดขาว ก็มีเหตุจำเป็นที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของเรือนจำ ไม่ได้ทำให้ความเป็นพระภิกษุหมดไป เช่น เวลาพระสงฆ์อาพาธต้องเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ก็ต้องถอดจีวรเพื่อใส่ชุดตามระเบียบของโรงพยาบาล เมื่อหายอาพาธแล้ว ก็กลับมาใส่จีวรเหมือนเดิม หรือ เมื่อมีโจรขโมยจีวรไป ก็สามารถใส่ชุดอื่นไปพลางก่อนได้

           นอกจากนั้น ชาวไทยก็ทราบดีว่า การลาสิกขาของพระสงฆ์ไทย จะกล่าวคำลาสิกขาต่อหน้าพระภิกษุด้วยกันเท่านั้น จะไม่กล่าวคำลาสิกขาต่อหน้าฆราวาส ซึ่งผู้ที่เคยผ่านการบวชเรียนเขียนอ่านมา ก็ย่อมรู้ว่า ไม่ได้ลาสิกขาต่อหน้าฆราวาส แต่จะลาสิกขาต่อหน้าพระภิกษุสงฆ์ หรือพระอุปัชฌาย์ อาจารย์ เท่านั้น

          อย่างไรก็ตาม โฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ยังได้อ้างถึง มาตรา ๒๘ ว่า  “พระภิกษุรูปใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย ต้องสึกภายในสามวันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด” นั้น เป็นกรณีของพระภิกษุกับคดีล้มละลาย หรือพระภิกษุถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย กล่าวคือ พระภิกษุเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว และไม่สามารถใช้เงินคืนได้ จึงถูกลูกหนี้ฟ้องล้มละลาย ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องที่วัดสระเกศ และวัดสามพระยา ถูกกล่าวหา จึงไม่ควรนำมากล่าว จะเป็นการชี้นำให้สังคมเกิดความสับสน

           สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีหน้าที่สนองงานคณะสงฆ์ ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา ควรทบทวนบทบาท และหน้าที่ให้ชัดเจน เพื่อเป็นการรักษาพระธรรมวินัย และรักษาคณะสงฆ์ ให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองสืบไป

*****

ขอบคุณข้อมูล : https://thesender.co/

Leave a Reply