มจร จับมือ ศูนย์คุณธรรม สร้าง “อยุธยาโมเดล” เปิดพื้นที่ “ครอบครัวไร้ความรุนแรง” นำร่องปูพรมครบทุกตำบลภายในปี’ 65

วันที่ 27 ต.ค. 64   ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวไทยที่นับวัน ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนติดอันดับประเทศที่มีความรุนแรงในครอบครัวสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก สาเหตุเกิดจากหลากหลายปัจจัย ซึ่งปัจจุบันมีหลายองค์กรร่วมออกมาแก้ไขปัญหาและหาทางออก

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)   จึงได้ ผนึกกำลังสร้างพลังบวกระดับพื้นที่ ผ่านการสนับสนุนทุนวิจัยจากศูนย์คุณธรรม (องค์กรมหาชน) ภายใต้แผนงานวิจัยเรื่อง “ครอบครัวไทยไร้ความรุนแรง” ดำเนินการวิจัยเรื่อง “Family against Violence in Dysfunctional Family” นำร่องพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาสร้างโมเดล 1 หมู่บ้าน 1 ตำบลขับเคลื่อนชุมชนไร้ความรุนแรง สร้างครอบครัวคุณธรรมด้วยพี่เลี้ยงชุมชน” ซึ่งต่อยอดจากการขับเคลื่อนงานวิจัยนำไปสู่การต่อยอดเป็นกิจกรรม โดยทีมที่ปรึกษาบูรณาการงานชุมชนแบบไร้รอยต่อ อาทิ นางสาวนฤมล พงศ์สุภาพ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางสาวมยุรี จำจรัส ผู้อำนวยการสำนักงานยุติธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางกุสุมา  พนอนุอุดมสุข ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสถาบันครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว นางสาวสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม นายยงจิรายุ อุปเสน ผู้จัดการสำนักส่งเสริมและขับเคลื่อนเครือข่ายทางสังคม ศูนย์คุณธรรม (องค์กรมหาชน) นอกจากนี้ยังได้ยกระดับการขับเคลื่อนในระดับเด็กและเยาวชนกับมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา อีกด้วย

 ผศ.ดร.ขันทอง วัฒนะประดิษฐ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย ฯ ได้เปิดเผยว่า ทางโครงการได้การประชุมวานนี้ ณ  ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุวาสนะเวศม์ ตำบลบ่อโพง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมติในที่ประชุมได้พร้อมใจกันยิงพิกัดนำร่องไปที่พื้นที่ อบต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา และ อบต.ปากจั่น อำเภอนครหลวง โดยจะมีการนำร่องเพื่อขยายผลปูพรมเป็นพื้นที่ต้นแบบ ซึ่งจะมีการปูพรมให้ครบทุกตำบลในจังหวัดพระศรีอยุธยาภายในปี 2565 ด้วยพลังบวกของผู้นำชุมชน และหน่วยงานในพื้นที่ มาร่วมสร้าง “ครอบครัวคุณธรรม ล้อมรั้วปลอดภัยให้ชุมชนและสังคม”  สร้างวัฒนธรรม ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย และไม่กระทำความรุนแรง  มองเห็นว่าความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัว…แต่เป็นเรื่องของทุกคน ซึ่งจะสำเร็จได้ต้องอาศัยการบูรณาการของหน่วยงาน เครือข่ายมาร่วมผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมในฐานะที่ปรึกษา ส่งเสริมให้พี่เลี้ยงชุมชนครอบครัวพลังบวกได้ก้าวต่อไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน

      “จากการประชุมร่วมกับหน่วยงาน และภาคีระดับผู้นำชุมชน อย่างผู้ใหญ่บ้าน ก็ได้รับความร่วมมือเข้าผนึกกำลังร่วมกันแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวโดยเริ่มตั้งแต่จุดเล็ก ๆ ซึ่งถือเป็นการป้องกัน แก้ไข พัฒนา เพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยหวังให้ชุมชนร่วมเป็นตาสัปปะรด สอดส่อง ร่วมกันลด หรือหยุดยั้งปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และไม่เพิกเฉยต่อความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในครอบครัว”

Leave a Reply