เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังกรุงเทพมหานคร ได้ยกระดับ 7 ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ เป็นโรงพยาบาลสนาม โดยศูนย์พักคอย เขตสาทร วัดสุทธิวราราม ถือเป็นหนึ่งใน 7 แห่งที่กำลังเตรียมการเป็นโรงพยาบาลสนาม สามารถรองรับผู้ป่วยสีเขียวได้ 108 เตียง แบ่งเป็น พระสงฆ์ ที่ส่งต่อมาจากโรงพยาบาลสงฆ์ 30 เตียง ส่วนที่เหลือเป็นของประชาชนทั่วไป ซึ่งขณะนี้เตียงเต็มแล้ว โดยทางวัดได้เปิดศูนย์การเรียนรู้ ชั้น 3 และชั้น 4 รองรับผู้ป่วยสีเขียว ส่วนชั้น 2 เตรียมไว้สำหรับผู้ป่วยสีเขียวที่มีอาการแย่ลง จนเป็นผู้ป่วยสีเหลือง จนต้องย้ายลงมาชั้นนี้ โดยวันนี้ มีทั้งหมด 3 ราย ที่กำลังติดต่อหาเตียงเพื่อรอการส่งต่อ
เรียกได้ว่า ศูนย์พักคอยแห่งนี้ ทำงานแบบ one stop service ตั้งแต่รับผู้ป่วย ส่งต่อผู้ป่วยซึ่งมีรถตู้สแตนบาย 2 คัน โรงครัวทำอาหาร จุดรับบริจาคสิ่งของยารักษาอาการเบื้องต้น อุปกรณ์ป้องกันโควิด เพื่อนำไปแจกให้กับประชาชนในพื้นที่ ที่ติดเชื้อแล้วไม่มีเตียง ต้องดูแลตัวเองแบบ HI มีรับบริการเผาศพผู้ติดเชื้อโควิดให้ฟรี ตลอดจนดูแลแรงงานต่างด้าวที่เข้าไม่ถึงการรักษา โดยในแต่ละวัน เพื่อให้ภารกิจการดูแลผู้ป่วยผ่านไปด้วยดี ก็ทำงานร่วมกับ จิตอาสา โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ และกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม บรรยากาศตลอดทั้งวัน ผู้มีจิตศรัทธา ก็ทยอยเข้ามาบริจาคสิ่งของอย่างต่อเนื่อง
พระสุธีรัตนบัณฑิต,รศ.ดร. เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม กล่าวว่า หากกรุงเทพมหานคร ประสานงานมาว่า ให้ศูนย์พักคอย วัดสุทธิวราราม เป็นโรงพยาบาลสนาม ที่เป็นไปตามเงื่อนไขและระบบ โดยเฉพาะการดูแลขยะติดเชื้อ แพทย์ประจำ ก็ยินดีที่จะให้ความร่วมมือ แต่ก็ต้องหาจิตอาสาเพิ่ม เพื่อทำโรงครัว เพราะต้องทำส่งหลายร้อยคน ดังนั้น สิ่งที่ต้องพูดคุย กัน คือ 1.ระบบการรักษา ที่ต้องมีแพทย์อยู่ประจำ 2. ทีมกรุงเทพมหานครที่ต้องดูแลความปลอดภัยและขยะติดเชื้อ ระบบสุขลักษณะพื้นฐาน 3.อาหาร เนื่องจากทุกวันนี้ไม่ได้มีงบประมาณจากรัฐ หรือ กทม. แต่เป็นงบจากการบริจาคและงบของวัดที่มาช่วยเหลือเรื่องอาหาร
ทั้งนี้ เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม มองว่า หากภาครัฐ ยังไม่มีการควบคุมแรงงานต่างด้าวในสถานประกอบการขนาดเล็ก เช่น คนส่งแก๊ส คนเข็นดอกไม้ คนเข็นผัก โดยเฉพาะตามตลาดสด ที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว ก็จะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้น ประกอบกับไม่มีศูนย์พักคอยให้การดูแลโดยเฉพาะ เพราะเข้าไม่ถึงระบบการรักษา ก็จะเป็นปัญหาของกรุงเทพมหานครต่อไป
ขณะเดียวกัน ทางวัดจึงได้จัดห้องไว้ต่างหาก เพื่อดูแลกลุ่มแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ ไว้ประมาณ 30 คน เพื่อจะดูแลอาหาร ที่อยู่ รวมไปถึงยารักษาตามอาการเท่านั้น ซึ่งเป็นการช่วยเหลือนอกระบบ และดูแลในฐานะมนุษยธรรม
Leave a Reply