“ปลัด มท.” ลงพื้นที่ “ศูนย์เรียนรู้ 19 พอเพียง” อำเภอเมืองขอนแก่น 1 ในทีมอำเภอนำร่องแก้จนตามแนวพอเพียง

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 เวลา 08:45 น. ที่ศูนย์เรียนรู้ 19 พอเพียง ต.พระลับ อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายจารึก เหล่าประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายศุภชัย ลีเขาสูง ปลัดจังหวัดขอนแก่น พัฒนาการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ เยี่ยมชมกิจกรรมศูนย์เรียนรู้ 19 พอเพียง โดยมี นายประจวบ รักแพทย์ นายอำเภอเมืองขอนแก่น นายวินัย ทองทัพ กำนันตำบลพระลับ พร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน และภาคีเครือข่าย ร่วมให้การต้อนรับ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในวันนี้นับเป็นโอกาสดีที่ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานที่สำคัญยิ่งของการพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชน ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งได้รับการสืบสาน รักษา และต่อยอด โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาขับเคลื่อนปฏิบัติขยายผลในพื้นที่อำเภอเมืองขอนแก่น โดยมีท่านนายอำเภอ ท่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กรรมการหมู่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงทีมอำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการฯ อันเป็นการตอกย้ำว่า เป็นการรวมพลังครั้งสำคัญที่จะทำให้คุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนตำบลพระลับ อำเภอเมืองขอนแก่น และตำบลอื่น ๆ ในอำเภอเมืองขอนแก่นมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ อำเภอเมืองขอนแก่น มีโอกาสอันดีที่ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 76 อำเภอทั่วประเทศ ให้นำเสนอถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการที่ท่านนายอำเภอจะลุกขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของพื้นที่อำเภอ ด้วยการสร้างทีมทำงานขับเคลื่อนร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่าย ไม่ใช่การทำงานคนเดียวแบบ One Man Show เพราะ “นายกรัฐมนตรีของอำเภอต้องเป็นผู้นำของทุกกระทรวง ทุกกรม ในพื้นที่อำเภอ และนำนโยบายของทุกกระทรวง ทุกกรม มาขับเคลื่อน” ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีในการทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุขเพิ่มมากขึ้น ความทุกข์มลายหายไป ดังเจตนารมณ์ของชาวมหาดไทยที่ตั้งปณิธานว่า “เราจะเป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มุ่งมั่นทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชนอย่างเต็มสติกำลัง”

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ชาวตำบลพระลับถือเป็นต้นแบบของพสกนิกรผู้จงรักภักดี ซึ่งพื้นที่แห่งนี้มีองค์ความรู้ มีสิ่งที่ดีที่ให้ทุกคนสามารถมาเรียนรู้ได้ดีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ต้องทำหลังจากนี้ คือ วางแผนการบริหารจัดการ เช่น วางแผนปลูกผักสวนครัวให้มีระบบที่ทำให้เรามีผักสวนครัวกินในทุกวัน โดยมีวิธีการ มีขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือนั่งคุยกัน อันเป็นการ “พัฒนาคน” ระดมสมองภาคีเครือข่าย สร้างความรู้ความเข้าใจในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ หรือแม้แต่โครงการพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” ทรงทำให้พวกเราทุกคนเห็นว่า ผักสวนครัวในบ้านเป็นความมั่นคงหนึ่งของชีวิต เพราะชีวิตต้องมีอาหารกินทุกวัน เพื่อให้ร่างกายอยู่ได้ และอยู่ได้ด้วยผักที่ปลอดสารพิษ ไม่ก่อโรคร้ายกับร่างกาย และขอให้จังหวัดขอนแก่นได้หารือการดำเนินการจัดการน้ำเสีย ร่วมกับองค์การจัดการน้ำเสีย และหน่วยงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันดำเนินการระบบบำบัดน้ำเสียรวมและระบบบำบัดน้ำเสียครัวเรือน เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาน้ำเสียชุมชนที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ยังเป็นการสื่อให้เห็นว่า สิ่งที่กำลังขับเคลื่อนนี้ยังเป็นการขับเคลื่อนตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ของสหประชาชาติ เพื่อ Change for Good สร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ทั้งการให้ความรู้ การให้การศึกษา ทำให้คนมีคุณธรรม เพื่อตอกย้ำอุดมการณ์ของชุมชน ช่วยกันวางแผน ช่วยกันคิด ช่วยทำให้ชุมชนเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

“ขอให้มุ่งมั่นพัฒนาคนและนำองค์ความรู้จากศาสตร์พระราชามาพัฒนาพื้นที่ เพื่อให้พื้นที่สร้างความมั่นคงให้กับคุณภาพชีวิต ทำให้เป็นวิถีชีวิต ความยั่งยืนจึงจะเกิดขึ้น สร้างชุมชนที่เข้มแข็ง ทำให้ชุมชนเป็นชุมชนจิตอาสาที่มีความรัก ความสามัคคี ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะชีวิตหยุดนิ่งไม่ได้ ต้องเดินหน้าพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามบริบทภูมิสังคมที่เหมาะสมกับพื้นที่ อันจะยังผลให้เกิดการมีส่วนร่วม และเป็นพลังที่เข้มแข็งในการแก้ไขทุกปัญหาของพื้นที่ ต่อยอดพัฒนาเป็น “ทีมอำเภอ” “ทีมตำบล” และ “ทีมหมู่บ้าน” ที่สร้างสรรค์ประโยชน์ในทุกเวลาตลอดไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

นายประจวบ รักแพทย์ นายอำเภอเมืองขอนแก่น กล่าวว่า อำเภอเมืองขอนแก่น ได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนจังหวัดขอนแก่น ให้เข้าร่วมโครงการอำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการ และสร้างนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง และได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ผ่านการนำเสนอโครงการ “ลำห้วยพระคือ สายน้ำแห่งชีวิต ฟื้นเศรษฐกิจชุมชน” ประกอบด้วย 8 โครงการย่อย ได้แก่ 1) โครงการการกำจัดผักตบชวา 2) โครงการบำบัดน้ำเสียด้วยผักตบชวาและลูกบอลจุลินทรีย์ 3) โครงการบ้านนี้รักษ์น้ำ 4) โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียแหลมผักเบี้ยที่หนองเลิงเปลือย 5) ปลูกผักสวนครัว(รั้วกินได้) 6) โครงการผักตบชวาสร้างรายได้ 7) โครงการส่งเสริมการตลาดจำหน่ายผลผลิตของชุมชน 8) สร้างฐานเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีใหม่ โดยบูรณาการภาคีเครือข่ายเป็นฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชาสู่ความยั่งยืน

นายวินัย ทองทัพ กำนันตำบลพระลับ กล่าวว่า ศูนย์เรียนรู้ 19 พอเพียง เป็นการดำเนินงานศูนย์เรียนรู้แห่งใหม่ของตำบลพระลับ โดยฝ่ายปกครองตำบลพระลับ ประชุมมีมติที่จะจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชนแห่งนี้ จึงได้ก่อตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอำเภอเมืองขอนแก่น โดยมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ อสม. และชาวบ้านเป็นผู้ดำเนินงานร่วมใจกันสร้าง และทุกหมู่บ้านได้รวมเงินบ้านละ 5,000 บาท เป็นทุนเริ่มต้นในการดำเนินงาน ซึ่งการจัดทำศูนย์เรียนรู้ 19 พอเพียงนี้จะเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงโดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาปฏิบัติ บนเนื้อที่ 379 ไร่ นำจุดเด่นของ 19 หมู่บ้านในตำบลพระลับมาไว้ที่ศูนย์แห่งนี้ เพื่อให้เป็นสวนสุขภาพที่กินได้ เป็นแหล่งเรียนรู้ของประชาชนทั่วไป ประการสำคัญมีแนวทางที่จะนำน้ำเน่าเสียในพื้นที่หนองเลิงเปือยที่เป็นปัญหาใหญ่ของเมืองขอนแก่น มาทำให้เกิดประโยชน์ สามารถพัฒนาพื้นที่ให้ปรับเปลี่ยนเป็นเงินได้ โดยมีการจัดทำฐานเรียนรู้ตามแนวทางทฤษฎีใหม่ และโคก หนอง นา ประกอบด้วย ฐานที่ 1 คนรักสุขภาพ ฐานที่ 2 เพาะชำไม้ดอกไม้ประดับ ฐานที่ 3 คนรักษ์น้ำ ฐานที่ 4 คลองไส้ไก่ ฐานที่ 5 คนรักษ์ดิน ฐานที่ 6 ปุ๋ยหมักรักษ์โลก ฐานที่ 7 คนมีน้ำยา ฐานที่ 8 คนรักษ์ป่า ฐานที่ 9 คนมีไฟ และฐานที่ 10 สิ่งแวดล้อม

ต่อจากนั้นนายสุทธิพงษ์ พร้อมคณะได้เดินทางไปที่แปลง โคก หนองนา พุทธอารยเกษตร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) วิทยาเขตขอนแก่น เพื่อร่วมกิจกรรม “พลังบวร” โคกหนองนาพุทธอารยเกษตร “มจร” วิทยาเขตขอนแก่น เพื่อแก้ความยากจนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

Leave a Reply