“ป.ธ.9” แจง!! “การบรรลุธรรม” และความเป็นพระอนาคามี 5 ประเภท?

วันที่ 26 เม.ย. 67  นายบุญเชิด กิตติธรางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนา จังหวัดปทุมธานี ดีกรี เปรียญธรรม 9 ประโยค ศิษย์เก่าวัดชนะสงคราม และ พุทธศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้โพสต์เฟชบุ๊คส่วนตัว “Ch Kitti Kittitharangkoon” อธิบายการลำดับบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนา พร้อมความหมายของคำว่า “อนาคามี” สืบเนื่องจากในสังคมไทยปัจจุบันกรณีมีกลุ่มบุคคล บุคคลมักอ้างว่าบรรลุธรรมบ้าง เป็นอวตารเทพต่าง ๆ บ้าง ดังนี้

บรรลุธรรมในทางพระพุทธศาสนานั้นจะเป็นไปตามลำดับขั้น จากระดับต่ำสุดไปจนถึงระดับสูงสุด โดยอาศัยการละสังโยชน์เป็นเกณฑ์วัด เพื่อให้เกิดความเข้าใจในสภาวะการบรรลุธรรมแต่ละระดับนั้นพึงศึกษาสังโยชน์ 10ประการก่อน

“สังโยชน์” หมายถึงเครื่องผูกพันน้อยใหญ่ กิเลสอันผูกสัตว์ไว้ เป็นธรรมที่มัดใจสัตว์ไว้กับทุกข์ หรือผูกกันไว้กับภพ ร้อยรัดสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ผูกติดอยู่กับความทุกข์ทำให้ไม่สามารถสลัดหลุดออกมาได้ เป็นเครื่องพันธนการ เพราะสังโยชน์เหล่านี้ ย่อมผูกคือตามผูกสัตว์ทั้งหลายไว้ในภพ อีกนัยหนึ่งย่อมเชื่อมภพไว้ด้วยภพ (ศึกษาเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกมีอุปมาเกี่ยวกับสังโยชน์ไว้เพื่อให้เข้าใจง่าย ยิ่งขึ้น)
ว่าด้วยการบรรลุอนาคามี :

พระอนาคามี หมายถึง ผู้จะปรินิพพานในที่สุด ไม่เวียนกลับมาอีก คือ ผู้จะ ปรินิพพานในที่ผุดเกิดขึ้นในสุทธาวาสพรหมโลกนั้น ไม่เวียนกลับมาเกิดในโลกนี้อีก โดยเป็นผู้ทำได้บริบูรณ์ในศีล ทำได้บริบูรณ์ในสมาธิ ทำได้พอประมาณในปัญญา ละสังโยชน์เบื้องต่ำ 5ข้อ คือ สักกายทิฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะและปฏิฆะได้เด็ดขาด

พระอริยบุคคลชั้นนี้ ระดับมรรค เรียกว่า อนาคามิมรรค ระดับผลเรียกว่า อนาคามิผล มี 5 ประเภท คือ

1) อันตราปรินิพพายีอนาคามี หมายถึง พระอนาคามีผู้ปรินิพพานในระหว่าง คือ เกิดในสุทธาวาสภพใดภพหนึ่งแล้วอายุยังไมถึงกึ่งก็ปรินิพพาน

2) อุปหัจจปรินิพพายีอนาคามี หมายถึง พระอนาคามีผู้เกิดในสุทธาวาส
ภพใดภพ หนึ่งแล้วจวนจะถึงปรินิพพาน คือ อายุพ้นกึ่งแล้วจวนจะสิ้นอายุจึงปรินิพพาน ต้องใช้ความเพียรมาก

3)อสังขารปรินิพพายีอนาคามีหมายถึงพระอนาคามีผู้ปรินิพพานโดยไม่ต้องใช้ความเพียีมาก

4) สสังขารปรินิพพายีอนาคามี หมายถึง พระอนาคามีผู้เกิดในสุทธาวาสภพ ใดภพหนึ่งแล้วปรินิพพานโดยต้องใช้ความเพียรมาก

5) อุทธังโสโตอกนิฏฐอนาคามี หมายถึง พระอนาคามีผู้มีกระแสในเบื้องบน ไปสู่อกนิฏฐภพ คือ พระอนาคามีผู้ที่แก่กล้าในสัทธินทรีย์เกิดในพรหมโลกชั้นอวิหาภูมิ ผู้ที่แก่กล้าในวิริยินทรีย์เกิดในชั้นอตัปปาภูมิ ผู้ที่แก่กล้าในสติทรีย์เกิดในชั้นสุทัสสาภูมิ ผู้ที่แก่กล้าในสมาธินทรีย์เกิดในชั้นสุทัสสีภูมิ และผู้ที่แก่กล้าในปัญญินทรีย์เกิดในอกนิฏฐาภูมิ แล้วจึงปรินิพพานในภพนั้น

หมายเหตุ สังโยชน์ คือ กิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์, ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์ หรือกิเลสเครื่องร้อยรัดจิตใจให้จมในวัฏฏะ มี 10 อย่าง คือ
โอรัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์เบื้องต่ำ 5 ได้แก่
1. สักกายทิฏฐิ – มีความเห็นว่าขันธ์ 5 คือตัวตน
2. วิจิกิจฉา – มีความสงสัยลังเลในคุณของพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
3. สีลัพพตปรามาส – มีความยึดมั่นถือมั่นอยู่ในสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือศีลพรตภายนอกพระพุทธศาสนา หรือการถือข้อปฏิบัติที่ผิด
4. กามราคะ – มีความพอใจในกามคุณ
5. ปฏิฆะ – ความกระทบกระทั่งในใจ ความหงุดหงิดขัดเคือง
อุทธัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์เบื้องสูง 5 ได้แก่
6. รูปราคะ – มีความพอใจในรูปสัญญา
7. อรูปราคะ – มีความพอใจในอรูปสัญญา
8. มานะ – มีความถือตัว ความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ความรู้สึกสำคัญตัวว่าดีกว่า เลวกว่า หรือเสมอกัน
9. อุทธัจจะ – มีความฟุ้งซ่าน
10. อวิชชา – มีความไม่รู้ในอริยสัจ 4

พระโสดาบัน   ทำสังโยชน์ 3 ข้อให้สิ้นไปได้ คือ สักกายทิฏฐิ, วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส

พระสกทาคามี ทำสังโยชน์ 3 ข้อให้สิ้นไปได้ และมีราคะ โทสะ โมหะ เบาบาง

พระอนาคามี ทำสังโยชน์เบื้องต่ำ 5 ข้อ หรือโอรัมภาคิยสังโยชน์ให้สิ้นไปได้

พระอรหันต์   ทำสังโยชน์เบื้องต่ำและเบื้องสูงทั้ง 10 ข้อให้สิ้นไปได้

Leave a Reply