เน้นย้ำ ทำหน้าที่ “ครูจิตอาสาผู้มีจิตใจกล้าแข็ง” เป็นทหารเสือพระราชาผู้บอกเล่าประวัติศาสตร์ชาติไทยในทุกโอกาส ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 เวลา 10.00 น. ที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนพิษณุโลก ตำบลวังทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ปี 2567 รุ่นที่ 13 โดยได้รับเกียรติจากนายกองเอก ธารณา คชเสนี (ครูป๊อด) นายหมวดตรี น้ำเพ็ชร คชเสนี สัตยารักษ์ (ครูปั๊ม) ดร.ลักษิกา เจริญศรี (ครูป้ายู) ร่วมเป็นวิทยากร โอกาสนี้ นายทรงพล วิชัยขัทคะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก อาจารย์ขวัญทอง สอนศิริ (อ.โจ้) ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ร้อยตรี สรมงคล มงคละสิริ ผู้อำนวยการสถาบันดำรงราชานุภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ผู้เข้ารับการอบรมจาก 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดกำแพงเพชร และจังหวัดพิจิตร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมกว่า 200 คน ร่วมพิธี
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ปี 2567 รุ่นที่ 13 ทุกท่านเป็นความหวังของประเทศในการบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติไทยและที่สำคัญยิ่งคือเป็นผู้สนองพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งวันนี้ตนมาด้วยความหวังและความศรัทธาที่ทุกท่านมีจิตอาสาเข้ามาเรียนรู้ศึกษาสิ่งที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เพื่อที่หลังจากผ่านการฝึกอบรมแล้วจะได้ไปช่วยกันสนองพระราชปณิธานของล้นเกล้าฯ ทั้ง 2 พระองค์ให้เกิดขึ้นจริง ด้วยการบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติไทยไปสู่ลูกหลานเพื่อทำให้คนในชาติเกิดความกตัญญูกตเวที รู้ถึงความเสียสละเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อรักษาผืนแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์อันเป็นแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง หรือที่เรียกว่า “ดินแดนสุวรรณภูมิ” เพื่อให้เกิดความรักและหวงแหนแผ่นดินไทยของเรา
“สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระองค์ทรงตระหนักและให้ความสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่จะมีผลต่อความมั่นคงของชาติ และความปกติสุขของผู้คนในสังคม จึงทรงมีพระราชดำรัสต่อมหาสมาคม เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ความตอนหนึ่งว่า “เพราะเราจะพูดถึงความยิ่งใหญ่ของประเทศไทย ที่บรรพบุรุษของเราสละชีวิตมาเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินมาด้วยเลือดเนื้อ ด้วยชีวิต แต่เสียดาย …ไม่ให้เรียนประวัติศาสตร์แล้วนะ…ตอนที่ฉันเรียนอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ไม่มีประวัติศาสตร์อะไรเท่าไหร่ แต่เราก็ต้องเรียนประวัติศาสตร์ของสวิส แต่เมืองไทยนี่ บรรพบุรุษเลือดทาแผ่นดิน กว่าจะมาถึงที่ให้พวกเราอยู่ นั่งอยู่กันสบาย มีประเทศชาติ เรากลับไม่ให้เรียนประวัติศาสตร์…อย่างที่อเมริกาถามไปเขาก็สอนประวัติศาสตร์บ้านเมืองเขา ที่ไหนประเทศไหน เขาก็สอน แต่ประเทศไทยไม่มี ไม่ทราบว่าแผ่นดินนี้ รอดไปอยู่จนบัดนี้เพราะใคร หรือว่ายังไงกัน อันนี้น่าตกใจ ชาวต่างประเทศยังไม่ค่อยทราบว่า นักเรียนไทยไม่มีการสอนประวัติศาสตร์ชาติเลย”” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อไปอีกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานที่มุ่งมั่นแน่วแน่ในการทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข ดังพระปฐมบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 67 ความว่า “เราจะสืบสานรักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” โดยทรงเพียรพยายามในการทำให้พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เป็นจริง ซึ่งต่อมาได้พระราชทานพระราชดำรัสต่อข้าราชบริพารในการขยายและแสดงพระราชปณิธานแน่วแน่ เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 63 ความว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เพราะพระองค์ทรงปรารถนาที่อยากให้คนในชาติตระหนักด้วยการช่วยกันแก้ไขในสิ่งผิด และสืบสานพระราชปณิธานภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อันจะทำให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน เฉกเช่นในอดีตที่คนไทยเราเคยมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปัน มีน้ำใจไมตรียิ้มแย้ม รวมทั้งมีการรวมกลุ่มส่งเสริมการประกอบอาชีพ ตลอดจนการอบรมกล่อมเกลาที่ทำให้คนมีจิตอาสาหรือสิ่งที่เป็นแก่นแท้ของความเป็นไทย ผู้คนต่างช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งสิ่งดี ๆ เหล่านี้ มันลดน้อยลงไป
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงรื้อฟื้นและแก้ไขในสิ่งผิด เพื่อทำให้สิ่งดี ๆ ที่เคยมีในอดีตกลับคืนมา ด้วยการพระราชทานโครงการจิตอาสาพระราชทาน ตลอดจนโครงการพระราชดำริต่าง ๆ มากมาย อีกทั้งทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระราชทานพระราชดำรัสที่สะท้อนถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทย เพราะเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทยไม่ใช่เรื่องไกลตัว และทรงขยายความถึงคำว่า “ประวัติศาสตร์” ที่ได้พระราชทานแก่เยาวชนโครงการค่ายผู้นำเยาวชนจิตอาสา หลักสูตรการฝึกปฏิบัติและดูงานเศรษฐกิจพอเพียงของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศ รุ่นที่ 1 ใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “ประเทศชาติก็คือบ้าน แบ่งเป็นพื้นที่ต่าง ๆ สังคมต่าง ๆ ก็ลงมาอยู่ที่พื้นฐานก็คือครอบครัวและลงมาอยู่ที่ตนเอง บ้านเมืองของเรา ประเทศของเรา หรือบ้านหรือครอบครัวของเราเนี่ย จะมีความสุขปลอดภัย น่าอยู่ สบาย มันก็ขึ้นกับคนรุ่นเราในอนาคต…อนาคตอยู่ที่พวกเรา ประเทศชาติบ้านเมืองมีความสุขความมั่นคงอยู่ที่พวกเรา เพราะฉะนั้นประสบการณ์ที่ดี ประสบการณ์ที่ถูก สำคัญ ถ้าเกิดรู้ อยากรู้ว่าอะไรถูกหรือผิดมันก็มีตัวอย่าง ซึ่งสมัยนี้คนไม่ค่อยชอบเรียนประวัติศาสตร์กัน คนไม่ค่อยคิดอะไรย้อนหลัง ไม่ได้สอนให้เป็นคนสมัยเก่าไดโนเสาร์อะไร แต่ ความเป็นมา ความต่อเนื่อง …ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์หรือความเป็นมาของชาติบ้านเมือง ทั้งที่ดี ทั้งที่ไม่ดี เราก็จะรู้ว่าอะไรมันดี อะไรเป็นประโยชน์ อะไรมันไม่ดี เพราะว่ามันมีของดี มันก็มีของไม่ดี มันมีของถูก มันก็มีของผิด ก็สำคัญที่ว่า จะเปิดใจศึกษาว่าอะไรมันถูก อะไรมันผิด อะไรมันเป็นประโยชน์ อะไรมันไร้ประโยชน์ แต่อย่างที่บอกว่าประวัติศาสตร์มีทั้งของเลวชั่วร้าย และก็มีทั้งของที่ดี…แต่ที่สำคัญ คือ เราต้องเอาบทเรียนมาใช้…เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ เพราะเรา คือ อนาคตประวัติศาสตร์มาปัจจุบัน ปัจจุบันก็คืออนาคต ปัจจุบันถือไมโครโฟน พอวางลงก็เป็นอดีต เมื่อเราจับไมโครโฟนมาใหม่ก็เป็นปัจจุบัน…ถ้าเราอยากเรียนลัด ก็ศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาให้มาก ว่าสมัยก่อนมันเป็นอย่างนี้ ถ้าทำอย่างนี้มันเป็นอย่างนั้น แล้วปัจจุบันเราจะทำอย่างไรให้เรามีความรู้ มีร่างกายที่แข็งแรง มีจิตใจที่จะรักษาประเทศชาติบ้านเมือง อย่างน้อยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เป็นกำลังใจให้…”” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นกำลังใจให้ผู้ที่มีความมุ่งมั่นในการ “แก้ไขในสิ่งผิด” เพื่อหนุนเสริมทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข ดังนั้น ผู้เข้ารับการฝึกอบรมวิทยากรผู้ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่นทุกคนจึงเปรียบเสมือน “ทหารเสือของพระราชา” จึงขอให้พวกเราจงตระหนักว่าสิ่งที่เราทำจะได้ช่วยสนองแนวพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และภายหลังจากผ่านการฝึกอบรม ขอให้ท่านได้ใช้เวลาที่เหมาะสมในทุกโอกาสของชีวิต ทำหน้าที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ช่วยกันทำบุญให้กับประเทศชาติ ทำให้ประเทศนี้มีความมั่นคง ประชาชนมีความสุข ด้วยวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย
“กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ขับเคลื่อนนโยบายให้ทุกสถานศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย ด้วยการ “ลดเวลาเรียนสร้างเวลารู้” ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 เป็นต้นไป ควบคู่กับการขับเคลื่อนการฝึกอบรมวิทยากรผู้ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น เพื่อขยายผลสร้างจิตอาสาที่เป็นทหารเสือของพระราชาไปทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติในทุกอำเภอ ทุกท้องถิ่น ซึ่งการบอกเล่าประวัติศาสตร์ชาติไทย มีกระบวนการถ่ายทอด ทั้งการพูดคุย การพูดผ่านหอกระจายข่าว วิทยุชุมชน การนำเสนอในที่ประชุมประจำเดือนในทุกระดับ ตั้งแต่จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน อีกทั้งผ่านโรงเรียนในสังกัด อปท. ที่จะเป็นเวทีให้พวกเราได้ทำหน้าที่เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศชาติ สร้างความสุขให้กับประชาชน ซึ่งเราเรียกว่า “ครู ก” เป็นจุดเริ่มต้นในการถ่ายทอดที่ต้องมีร่างกายและจิตใจที่เข้มแข็ง ทุกท่านจึงเป็นต้นทางในการที่จะไปบอกเล่าถ่ายทอดฝึกอบรมขยายผลให้เกิด “ครู ข” ต่อไป ทั้งนี้ ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน (ศอญ.จอส.พระราชทาน)ได้มีมติให้โครงการฯ นี้ เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จึงขอขอบคุณผู้เข้ารับการฝึกอบรมวิทยากรผู้ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่นทุกท่าน ตลอดจนคณะวิทยากร 3 ป. ผู้อำนวยการสถาบันดำรงราชานุภาพ และพี่ ๆ น้อง ๆ ที่เสียสละให้ทหารเสือพระราชาได้มาใช้ชีวิตร่วมกันในที่แห่งนี้ ขอให้ทุกท่านมีจิตใจกล้าแข็งในการบำเพ็ญตนเป็นประโยชน์ในฐานะครูจิตอาสา กระทรวงมหาดไทย ผู้บอกเล่าประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ร่วมกันสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำหน้าที่ทหารเสือของพระราชาโดยไม่หวังผลตอบแทน ทำเป็นต้นแบบให้คนในสังคมที่แสดงให้เห็นว่า “จิตอาสามีอยู่จริง” ช่วยกันทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข ภายใต้การช่วยกันแก้ไขในสิ่งที่ผิดของพวกเรา ร่วมกันทำสิ่งที่ดีเพื่อประเทศชาติของเราสืบไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย
#WorldSoilDay #วันดินโลก
#UN #FAO #GlobalSoilPartnership #MOI
#กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข
#SoilandWaterasourceoflife
#SustainableSoilandWaterforbetterlife
#ดินดีน้ำดีชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน
#SDGsforAll #ChangeforGood
Leave a Reply