“เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายแผน ฯ มจร แจง “ไร้ปัญหากรณีลดค่าตอบแทน”

      วันที่ 1 กันยายน 2564 หลังจากเว๊บไซต์ข่าว “thebuddh” ได้เสนอข่าว “มหาจุฬา ฯ ป่วน ผู้บริหาร -คณาจารย์ ถูกลดค่าตอบแทน – เงินประจำตำแหน่งถ้วนหน้าเริ่ม 1 ตุลาคมนี้” นั่น

       ล่าสุด พระเมธีธรรมาจารย์ หรือ เจ้าคุณประสาร รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือ มจร เปิดเผยว่า จากกรณีที่ปรากฎข่าวต่อสาธารชนในการให้ข้อมูลของผู้บริหารมหาวิทยาลัยท่านหนึ่งที่ได้พูดถึงมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยว่าปัจจุบันนี้มหาวิทยาลัยไม่สามารถจะแบกรับค่าใช้จ่ายได้ในช่วงที่เกิดผลกระทบจากโควิด-19  จึงได้มีการลดค่าตอบแทนของทุกฝ่าย ทุกระดับลง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความโกลาหลและอาจจะลุกลามถึงขั้นหาที่พึ่งทางกฎหมายนั้น

       พระเมธีธรรมาจารย์ ในฐานะรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มจร ที่มีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านแผนและงบประมาณของมหาวิทยาลัยโดยตรง จึงขอชี้แจงและทำความเข้าใจ ดังนี้

        มหาวิทยาลัยในประเทศไทยในทุกสถาบันการศึกษาวันนี้ล้วนได้รับผลกระทบจากภาวะต่าง ๆ ตามการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศและประชาคมโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนั้นแล้วยังมีเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่คาดไม่ถึง เช่น โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อมด้วยแล้ว ก็ยิ่งจะต้องทำให้ทุกมหาวิทยาลัยล้วนต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่ได้ เดินหน้าต่อไปได้ ส่วนแนวทางนั้นหลายที่ หลายแห่งอาจจะต้องยอมเจ็บ ยอมลดบางสิ่งบางอย่างลงเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และความจริงที่เกิดขึ้น

       มหาวิทยาลัยวันนี้ภาพรวมนิสิต นักศึกษาลดลง รายได้ลดลง ค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นและนอกจากนั้นแล้วก็ยังมีการแข่งขันกันสูงขึ้นกว่าในอดีตมาก  ทั้งหลายทั้งปวงนี้ล้วนแต่เป็นภาระของทุกมหาวิทยาลัยที่ต้องแบกรับกันอยู่ ไม่เว้นแม้แต่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

      ผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อมองเห็นสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนี้แล้วจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อศึกษาหาแนวทางป้องกันและแก้ใข โดยมีพระเมธีธรรมาจารย์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา เป็นประธาน มีรองประธานและคณะกรรมการที่มีองค์ประกอบที่คัดเลือกมาจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ทำการศึกษาและประชุมร่วมกันมีมติ ดังนี้

         1.งบประมาณที่เป็นรายได้จากภาครัฐที่กำหนดไว้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นค่าตอบแทน ค่าสวัสดิการ โครงการ แผนงานและอื่นๆนั้นจะต้องคงไว้ไม่สามารถที่จะไปเปลี่ยนแปลงใดๆได้เลย

         2.ค่าตอบแทนที่มหาวิทยาลัยสบทบให้ซึ่งก็เท่ากับค่าตอบแทนที่งบประมาณที่ภาครัฐจัดสรรมาให้นั้น ในส่วนนี้ที่เป็นรายได้ของมหาวิทยาลัย นั้น ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 นี้ขอให้งดไว้ชั่วคราวก่อน

        ในส่วนนี้ประชาคมส่วนใหญ่ใน มจร อาจจะยังไม่ทราบรายละเอียด จึงอาจจะมีข้อมูลที่ไม่ตรงนัก ค่าตอบแทนในทุกตำแหน่งทั้งในทางบริหารและวิชาการนั้น ภาครัฐจัดสรรมาให้ส่วนหนึ่งเท่านั้น ขอย้ำว่าส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่เราได้เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันนี้เพราะมหาวิทยาลัยได้จัดหามาเพิ่มให้จากรายได้ของเราเอง คือเพิ่มให้อีกเท่าตัว เช่น รัฐให้ค่าตอบแทนมา 100 บาท มหาวิทยาลัยเพิ่มให้อีก 100 บาท รวมได้รับ 200 บาท คณะกรรมการจึงขอระงับชั่วคราวในส่วน 100 บาทหลังนี้ซึ่งเป็นรายได้ของมหาวิทยาลัย

         ส่วนตำแหน่ง ชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ ชำนาญงาน และชำนาญงานพิเศษ นั้นมหาวิทยาลัยไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมาเพื่อเป็นค่าตอบแทนตำแหน่งเหล่านี้เลย ไม่มีเลย ที่ท่านเหล่านี้ได้รับค่าตอบแทนทุกวันนี้ก็ล้วนมาจากเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยทั้งสิ้น และในทุกปีมหาวิทยาลัยจะต้องจัดสรรรายได้จากส่วนกลางเพื่อกระจายไปให้ครอบคลุมทั้งส่วนกลาง วิทยาเขตและวิทยาลัยสงฆ์ทั่วประเทศ ทั้งนี้แม้เราจะไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐแต่มหาวิทยาลัยก็ยินดีที่จะรับผิดชอบเพื่อจะเป็นขัวญ กำลังใจและสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้มีประสิทธิภาพและให้บุคลากรสายงานด้านนี้มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และวันนี้ก็ยังไม่ได้ตัดค่าตอบแทนในส่วนนี้ทั้งหมดเพียงแต่ขอลดลงบ้างตามความเหมาะสมเท่านั้นเอง

       พระเมธีธรรมาจารย์ กล่าวต่ออีกว่า คณะกรรมการได้พิจารณากันอย่างรอบคอบ ถี่ถ้วน และคำนึงถึงประโยชน์ของทุกฝ่ายแล้ว จึงได้เสนอแนวทางดังกล่าวนี้เพื่อนำไปสู่การปฎิบัติโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเงินและทรัพย์สิน และสภามหาวิทยาลัย เรียบร้อยแล้วและได้ประกาศใช้กฎเกณฑ์ใหม่นี้โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 นี้เป็นต้นไป ซึ่งก็คาดว่าเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นก็จะหันกลับมาใช้กฎเกณฑ์อันเดิม คาดว่าคงใช้เวลาอีกไม่นาน ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันเสียสละเพื่อมหาวิทยาลัยของเรา การที่ท่านผู้บริหารตามที่ปรากฎตามข่าวว่าเป็นผู้ให้ข้อมูลนั้น น่าจะเป็นการพูดจาเฉพาะภายใน คงไม่คิดว่าจะมีเสียงเล็ดลอดออกมาข้างนอก นี่ละโลกโซเชียลต้องพึงระวัง แต่เมื่อสื่อนำไปเสนอข่าวตามหน้าที่แล้ว อาตมาจึงจำเป็นต้องออกมาชี้แจงให้ทุกฝ่ายได้ทราบและเข้าใจให้ตรงกันแม้จะเป็นเรื่องที่ควรจะรับรู้เฉพาะภายในก็ตาม บุคลากรของมหาวิทยาลัยวันนี้อาตมาเชื่อว่า เข้าใจดี ไม่มีปัญหาใดๆ เพราะที่ผ่านมาหลายท่านอาจจะมีข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ไม่สมบูรณ์ จึงอาจจะมีคำถามอยู่บ้าง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา

         “ถึงอย่างไรก็ตาม วันนี้อาตมาขอยืนยันว่า เรื่องนี้เป็นภาระหน้าที่ในความรับผิดชอบของอาตมาทั้งหมด อาตมารับผิดชอบโดยไม่โยนปัญหาให้ใครทั้งสิ้น แม้แต่ท่านอธิการบดี ก็ได้ซักถามและไม่เห็นด้วยในบางประเด็น แต่เมื่อเป็นมติก็ต้องยอมรับและปฎิบัติตาม” พระเมธีธรรมาจารย์ กล่าวในตอนท้าย

Leave a Reply