พิธีจัดการศพไทย “สมัยอยุธยา” ในบันทึกต่างชาติ

วันที่ 11 ธันวาคม 2566  พิธีศพของชาวสยามในบันทึกของต่างชาติ จากบันทึกของ มร. ลาลูแบร์ ราชทูตชาวฝรั่งเศสที่เดินทางมายังอยุธยาในปี 2230  ได้บันทึกถึง #พิธีศพหรือการปลงศพของชาวอยุธยา ไว้ว่า

ในช่วงปลายแผ่นดินพระนารายณ์ ยุคสมัยเดียวกับ “ออเจ้า” แม่การะเกดแห่งบุพเพสันนิวาสนั้นแหละ มร.ลาลูแบร์ได้บันทึกถึงเรื่อง “การปลงศพของชาวสยาม”  ไว้ในจดหมายเหตุของตนว่า

“เมื่อบุคคลถึงแก่ความตายลง เขาก็เก็บศพผู้ตายลงไว้ในโลงไม้ ซึ่งเขาทายางรักทางด้านนอก และลางทีก็ปิดทองด้วย แต่โดยที่น้ำยางรักของสยามไม่ค่อยดีเท่าของประเทศจีน และไม่อาจป้องกันกลิ่นเหม็นของศพมิให้รั่วระเหยออกมาตามแนวโลงที่ครากไว้เสมอไป เจ้าศพจึงพยายามอย่างน้อยที่สุดก็ทำลายไส้ของผู้ตายเสียด้วยปรอท ซึ่งเขากรอกเข้าไปในปากศพ และกล่าวกันว่ากลับไหลออกมาได้ทางทวารหนัก”

ลาลูแบร์ยังบันทึกไว้อีกว่า ชาวสยามที่เขาได้พบเห็นจะเก็บศพไว้ในบ้านเรือนตน แต่ละคืนจะมีพระมาสวดศพในลักษณะที่ “ท่านนั่งเรียงกันไปตามแนวฝาห้อง เจ้าศพก็จะรับรองเลี้ยงดูและถวายปัจจัยบ้าง มนตร์ที่ท่านสวดนั้นเป็นธรรมะว่าด้วยความตาย พร้อมกับบอกทางสวรรค์”

สำหรับการเผาศพนั้น ลาลูแบร์เล่าว่า ชาวบ้านอยุธยาจะจัดการด้วยวิธี

“ในระหว่างที่ตั้งศพไว้นั้น ญาติเจ้าของศพก็เลือกสถานที่แห่งหนึ่งในท้องนาสำหรับจะชักศพไปเผาที่นั่น สถานที่นั้นตามปกติมักจะเป็นที่ใกล้วัด”

เมื่อถึงปัญหาที่จะชักศพไปสู่เมรุ(ซึ่งธรรมดาจะกระทำกันในตอนเช้า) ญาติพี่น้องและมิตรสหายเป็นผู้ยก(หีบ)ศพ มีประโคมด้วยเครื่องดนตรีนานาชนิด หีบศพนั้นหามออกนำหน้า ถัดจากนั้นก็ถึงบุคคลในครอบครัวของผู้ตายทั้งชายและหญิงล้วนแต่งขาว ศีรษะของคนตามศพคลุมด้วยผ้าสีขาว และร้องไห้คร่ำครวญเป็นอันมาก ต่อจากนั้นก็ถึงขบวนมิตรสหายและญาติของผู้ตาย ถ้าขบวนแห่นั้นสามารถกระทำโดยทางน้ำได้จนถึงที่เผา เขาก็กระทำกัน

เขาไม่เผาโลงด้วย แต่เขานำเอาศพออกวางบนกองฟืน และพระภิกษุในวัดที่อยู่ใกล้ที่ทำเมรุเผาศพก็มาสวดมนต์อยู่ราวสักเสี้ยวชั่วโมง ครั้นแล้วก็ถอยจากไปไม่กลับมาอีก บัดนั้นก็เริ่มการมหรสพมีโขนและระบำ ซึ่งเขาจัดให้แสดงพร้อมๆกันตลอดทั้งวัน แต่ต่างโรงกัน หาใช่บนเวทีเดียวกันไม่ พระภิกษุสงฆ์เห็นไม่สมควรที่จะอยู่ที่นั่น ด้วยเกรงได้บาปเป็นอาบัติ…

พอได้เวลาเที่ยงวัน ตาปะขาวหรือคนรับใช้ของพระภิกษุสงฆ์ก็จุดเพลิงที่กองฟืน ซึ่งตามปกติมักจะเผาลุกอยู่ราว 2 ชั่วโมง ไฟไม่เคยเผาศพให้มอดไหม้หมดไปเลย ชั่วแต่ย่างเท่านั้น และมักจะไม่ค่อยเกรียมเสียด้วย แต่ถือกันว่าเพื่อเกียรติของผู้ตาย ศพนั้นจะต้องได้รับการเผาให้มอดไหม้ไปหมดสิ้นบนเนินสูง จนที่สุดเหลือแต่อังคารเท่านั้น…

ธรรมเนียมในงานปลงศพของชาวสยาม มีที่จะกล่าวแถมก็คือ เขาทำให้งานศพสวยงามขึ้นด้วยการจุดดอกไม้ไฟเป็นอันมาก และถ้าเป็นงานปลงศพบุคคลที่มีวาสนาบารมีมากแล้ว ก็จะมีการจุดดอกไม้ไฟติดต่อกันไปตลอดทั้ง 3 วัน 3 คืน

เมื่อศพของชาวสยามได้รับการเผาดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมานี้แล้ว งานมหรสพทั้งปวงก็เป็นอันยุติ เจ้าของศพเก็บส่วนที่เหลือของร่างกายคืออัฐิกับอังคารเข้าไว้ในโลงโดยไม่มีพิธีรีตองอะไรทั้งนั้น และนำสิ่งเหล่านี้ไปฝังไว้ใต้พีรามิดองค์หนึ่ง ซึ่งมีอยู่รายรอบพระอุโบสถ ลางทีก็ฝังอัญมณีและสิ่งมีค่าอื่นๆลงไปไว้ปนกับอัฐิด้วย เพราะถือกันว่าได้ฝังไว้ในสถานที่ซึ่งพระศาสนาช่วยป้องกันไว้มิให้ผู้ใดละเมิดได้”

ในสมัยอยุธยา ยุคพระนารายณ์มหาราช ทูตฝรั่งเศสอย่าง มร.ลาลูแบร์ได้บันทึกเรื่องราวการทำศพของคนสยามเอาไว้ให้เราได้เห็นภาพค่อนข้างแจ่มชัด..

 

 

เพจ Thai Culture to the World

Leave a Reply