คณะสงฆ์-ชาวพุทธ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ “คิดอย่างไร” ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ ชูประเด็น “ประชามติแยกดินแดน – แยกตัวเป็นเอกราช”

 

วันที่ 9 มิ.ย. 66  หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ เสนอข่าวเปิดตัวขบวนการ นศ. 3 จว.ชายแดนใต้ ว่อนใบโหวตแยกปัตตานีเป็นรัฐเอกราช” และต่อมา “สำนักข่าวอิศรา”  ได้เสนอต่อไว้อย่างละเอียด พร้อมตั้งคำถามว่า รัฐบาลใหม่ว่าไง? หลังกลุ่มที่อ้างตัวเป็น “ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ” ประกาศกลางงานเปิดตัวที่ ม.อ.ปัตตานี ชูประเด็น “ประชามติแยกดินแดน – แยกตัวเป็นเอกราช” อ้างคือสันติภาพที่แท้จริงซึ่งประชาชนเป็นเจ้าของ

เวปไซต์ “Thebuddh” ขอนำมาเผยแพร่เนื้อข่าวพร้อมภาพจาก สำนักข่าวอิศรา ซึ่งมีผู้สื่อข่าวเกาะติดอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ต่อเนื่อง ดังรายละเอียดดังนี้

กิจกรรมเปิดตัว “ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ” เกิดขึ้นเมื่อวันพุธที่ 7 มิ.ย.66 เวลา 10.00 – 16.30 น. ที่ห้องประชุมศรีวังสา ตึกรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี)

โดย ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ หรือ Pelajar Kebangsaan Patani หรือ Pelajar Bangsa ได้จัดกิจกรรมเปิดตัวองค์กร พร้อมปาฐากถาพิเศษ เรื่อง “สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานี” โดยมี รศ.ดร.มารค ตามไท อาจารย์สาขาการสร้างสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ จ.เชียงใหม่ ร่วมแสดงความคิดเห็นร่วมกับ ผศ.วรวิทย์ บารู รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ ว่าที่ ส.ส.ปัตตานี, นายฮากิม พงติกอ รองเลขาธิการพรรคเป็นธรรม, นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธาน The Patani และ นายฮูเซ็น บือแนเป็น ผู้ดำเนินรายการ

บุคคลที่ทางผู้จัดกิจกรรมเชิญมาร่วมงาน ยังมี นายรอมฎอน ปันจอร์ ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ซึ่งเปิดตัวเตรียมเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ตลอดงาน นายรอมฎอน ไม่ได้เดินทางมาร่วมแต่อย่างใด

selfdetermination08065

โอกาสนี้ ทางผู้จัดกิจกรรมได้มีการประกาศ PELAJAR BANGSA ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ ว่า “เราเชื่อมั่นว่าการประชามติ คือ สันติภาพที่ประชาชนเป็นเจ้าของ”

พร้อมอธิบายแนวคิดของทางองค์กรว่า หลังสิ้นสุดสนธิสัญญากรุงเทพฯ พ.ศ.2452 หรือ Anglo -Siamese Treaty of 1909 ปาตานี (หมายถึงดินแดรนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ; อธิบายเพิ่มโดยกองบรรณาธิการสำนักข่าวอิศรา) ตกอยู่ภายใต้การปกครองของสยาม หรือรัฐไทยในปัจจุบัน ปรากฏความพยายามของชาวปาตานีแสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิดความต้องการทางการเมือง ความพยายามเหล่านั้นแสดงออกทุกยุคทุกสมัย ทั้งแสดงออกผ่านการใช้อาวุธเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้าน และแสดงออกผ่านการต่อสู้ทางการเมืองโดยไม่ใช้อาวุธ หากแต่เราชาวปาตานีไม่สามารถกําหนดชะตากรรมของเราเองได้

เราเชื่อว่า สิทธิการปลดปล่อย สิทธิในการมีชนชาติ (Nation) รวมไปถึงสิทธิในการกําหนดชะตากรรม เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ติดตัวเราแต่เดิมในฐานะมนุษย์ และสามารถขับเคลื่อนต่อสู้ได้ในสังคมประชาธิปไตยโดยไม่ถูกจํากัด คุกคามโดยกฎหมาย การสร้างสันติภาพปาตานีให้เกิดขึ้นจําเป็นต้องมีพื้นที่ทางการเมืองที่ปลอดภัย และการมีเสรีภาพของประชาชนชาวปาตานี

Pelajar Bangsa คือองค์กรเคลื่อนไหวทางการเมือง เกิดขึ้นจากการรวมตัวของปัจเจกนิสิตนักศึกษาชาวปาตานีที่เชื่อในการมีอยู่ของชาติปาตานี (Bangsa Patani) และต้องการกําหนดชะตากรรมตนเอง เราเคารพคุณค่าประชาธิปไตยที่รักหวงแหนและภักดีต่อชาติมาตุภูมิ เรายึดมั่นในการต่อสู้ทางการเมืองด้วยแนวทางสันติวิธี เราจะรณรงค์และเคลื่อนไหวทางการเมืองถึงการมีอยู่ของชาติปาตานี และการทําประชามติเพื่อไปสู่สันติภาพที่ประชาชนเป็นเจ้าของ ด้วยรักและหวงแหนต่อชาติมาตุภูมิ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ในคำแถลงของขบวนนักศึกษาฯ จะพูดถึงการทำประชามติว่า หมายถึงสันติภาพที่ประชาชนเป็นเจ้าของ แต่ไม่ได้พูดให้ชัด ๆ ว่าต้องการทำประชามติในเรื่องใด

selfdetermination080613

แต่ภายในงาน มีการทำแบบสำรวจความคิดเห็นอย่างง่าย ระบุข้อความว่า “คุณเห็นด้วยกับ สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองหรือไม่ ที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย” และมีช่องให้ใส่เครื่องหมาย ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย

โดยในเอกสารที่ทำคล้ายๆ บัตรลงคะแนน หรือบัตรลงประชามติ มีหมายเหตุตอนท้ายว่า ใช้กับชาวปาตานีผู้ที่ลงทะเบียนว่า “อาศัยอยู่ถาวรในพื้นที่ปาตานี หรือ จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.สงขลา เฉพาะ อ.จะนะ อ.นาทวี อ.เทพา และ อ.สะบ้าย้อย”

@@ รู้จัก “สิทธิในการกำหนดใจตนเอง”

selfdetermination080661

สำหรับ “สิทธิในการกำหนดใจตนเอง” หรือ “สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง” มีอธิบายไว้ในจุลสารความมั่นคงศึกษา ฉบับที่ 59 เรื่อง “หลักการกำหนดใจตนเอง” หรือ The Principle of Self-Determination ซึ่งเขียนโดย ณัฐกฤษตา เมฆา และมี ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นบรรณาธิการ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือน มิ.ย.2552

เนื้อหาในจุลสาร ได้อรรถาธิบายเรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ สรุปได้ว่า สิทธิในการกำหนดใจตนเอง (The Rights of Self-Determination) เป็นแนวคิดที่มีมาก่อนการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติ แต่ปรากฏชัดเจนเป็นรูปธรรมเมื่อมีการนำสิทธิในการกำหนดใจตนเองไปกล่าวไว้ใน กฎบัตรสหประชาชาติ ทำให้สิทธิในการกำหนดใจตนเองมีผลบังคับใช้แก่รัฐต่างๆ ที่เป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ไปด้วย

แต่เนื่องจากในตัวกฎบัตรไม่ได้ระบุถึงเนื้อหาสาระของสิทธิในการกำหนดใจตนเองเอาไว้มากนัก ทำให้สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติต้องมีมติต่างๆ เกี่ยวกับสิทธิในการกำหนดใจตนเองออกมา เพื่อเป็นการอธิบายและแสดงให้เห็นถึงสาระสำคัญของสิทธิในการกำหนดใจตนเอง

รายละเอียดและเนื้อหาสาระของสิทธิในการกำหนดใจตนเอง ปรากฏเป็นครั้งแรกในมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 1514 (XV) ลงวันที่ 14 ธันวาคม 1960 เรื่อง “การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคม” (Declaration on the Granting of Independence to Colonial Countries and Peoples) โดยมีข้อความที่กำหนดไว้ใน มาตรา 1.1 ของมติที่ 1514 กล่าวว่า “กลุ่มชนทั้งปวงมีสิทธิในการกำหนดใจตนเอง โดยสิทธิดังกล่าวพวกเขามีเสรีภาพในการตัดสินใจในสถานะทางการเมือง และดำเนินการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตนเองได้อย่างเสรี”

ผลของมติที่ 1514 นี้ ทำให้การดำเนินการปลดปล่อยอาณานิคมประสบความสำเร็จ อาณานิคมทั้งหมดต่างได้รับอิสรภาพและได้รับเอกราช จนทำให้หลักการในเรื่องนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป แต่ต่อมาสิทธิในการกำหนดใจตนเองได้ถูกนำไปใช้ในกรณีอื่นๆ ที่ไม่ใช่การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคมด้วย เช่น การกล่าวอ้างสิทธิของชนกลุ่มน้อยต่างๆ (Minority groups) ที่ต้องการแยกตัวเองออกเป็นรัฐอิสระ นอกจากนั้นสิทธิในการกำหนดใจตนเองยังถูกใช้ในกรณีสิทธิมนุษยชน เช่น สิทธิของชนพื้นเมืองดั้งเดิมด้วย

ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพและสันติสุข ในรัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมา ซึ่งบางช่วงมีการพูดคุยกับ “ขบวนการบีอาร์เอ็น” ซึ่งเป็นขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ปรากฏว่า บีอาร์เอ็นเรียกประเทศไทยว่า “นักล่าอาณานิคมสยาม” ทั้งในคำแถลงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และเอกสารข้อเรียกร้องที่ส่งถึงคณะพูดคุยฯของรัฐบาลไทย

ผู้รู้หลายคนเชื่อว่า ขบวนการบีอาร์เอ็นพยายามสร้างภาพว่า ประเทศไทย หรือ รัฐไทย คือเจ้าอาณานิคมดินแดนปาตานี หรือพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีปัญหาความมั่นคงอยู่ในปัจจุบัน โดยอ้างอิงเชื่อมโยงกับ สนธิสัญญากรุงเทพฯ หรือ สนธิสัญญาแองโกล-สยาม พ.ศ.2452 หรือ Anglo -Siamese Treaty of 1909 ที่ลงนามกันเมื่อปี พ.ศ.2452 หรือ ค.ศ.1909 เป็นข้อตกลงปักปันเขตแดนระหว่างอังกฤษกับสยาม (ในยุคล่าอาณานิคม) โดยเป็นการลงนามกันระหว่าง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสยาม (ในขณะนั้น) กับผู้สำเร็จราชการในมลายูของอังกฤษ

ผลของสนธิสัญญา ทำให้ดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งปัตตานี และสตูล อยู่ในเขตสยาม ส่วน เมืองมลายู เคดะห์ กลันตัน เปอร์ลิส ตรังกานู เกาะลังกาวี และบางส่วนของรามัน-ระแงะ ให้สยามมอบคืนแก่รัฐบาลอังกฤษ

การกล่าวอ้างว่าสยาม หรือรัฐไทย เป็นเจ้าอาณานิคม หรือ “นักล่าอาณานิคม” ผู้รู้เชื่อว่าขบวนการบีอาร์เอ็นต้องการให้สอดคล้องกับมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 1514 เรื่อง “การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคม” เพื่อเรียกร้องให้มีการทำ “ประชามติแยกดินแดน” นั่นเอง

Leave a Reply