“JCIM GATHERING: เรียนรู้จากกันและกัน”: หวังเป็นต้นแบบคณะสงฆ์

อีกครั้งกับโอกาสดี ๆ ในการร่วมประชุม JCIM GATHERING 2018 [Jesuit Companions in Indigenous Ministry] A Sustainable Livelihood with a “Contemplative, Prophetic lifestyle” of “less is more” (LS 222) ตามที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้กล่าวว่า “เราไม่ได้อยู่ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงยุคสมัย” ซึ่งบาทหลวงของคณะเยซูอิต แห่งพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก ผู้รับผิดชอบงานด้านการพัฒนาชนเผ่าในเอเซียและแปซิฟิก ได้มาจัดการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานพัฒนาชุมชนระหว่างกัน การศึกษาเรียนรู้ประสบการณ์จากกรณีตัวอย่างในประเทศไทยจากคุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร บาทหลวงพื้นเมืองสังฆมณฑลเชียงใหม่ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมศาสนาและวัฒนธรรมชุมชน ผู้คร่ำหวอดในงานวิจัยเพื่อเรียนรู้กระบวนทัศน์ของชุมชนเพื่อการพัฒนา ซึ่งผลการวิจัยเรื่อง “กองบุญข้าว” เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในแวดวงการพัฒนาชุมชนในปัจจุบัน

การประชุมจัดขึ้นที่ “ดอยทอง” ตำบลดอยแก้ว อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 6 ธันวาคม อันเป็นที่ตั้งของมูลนิธิชาวดอยร่วมรู้รักสามัคคีเพื่อชีวิต (The Communal Life of Love and Unity of the Mountain People – CLUMP) และ บริษัทดอยทองวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนทำธุรกิจเกี่ยวกับกิจการร้านขายชา กาแฟ และเครื่องดื่ม (อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.montfortian.com/anuruk3.asp และ http://www.montfortian.com/download_doc/a-bl323e.pdf)

การประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการแบ่งปัน การสะท้อนประสบการณ์ อันเป็นจิตตารมณ์ที่ช่วยให้สามารถค้นหาความหมายในการปฏิบัติศาสนกิจ ในชุมชนชนเผาพื้นเมือง คณะบาทหลวงจะได้มีโอกาสพบปะกับผู้นำของเครือข่ายกองข้าวบุญ และมูลนิธิชาวดอยร่วมรู้รักสามัคคีเพื่อชีวิต (CLUMP) นอกจากนี้ คณะบาทหลวงยังมีโอกาสเดินทางไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ณ หมู่บ้านกะเหรี่ยงป่าแป๋-ดอยช้าง อำเภอบ้านโฮ้ง จังหวัดลำพูน มีชนเผ่ากระเหรี่ยงอาศัยอยู่ประมาณ 66 ครอบครัว ที่มีทั้งชาวพุทธ คริสเตียน คาทอลิก และความเชื่อแบบดั้งเดิม อาศัยอยู่ร่วมกัน และร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อการพัฒนาชุมชนหลากหลายรูปแบบ

และในการประชุมครั้งนี้ มีคุณพ่อแอนโตนิโอ มาเรโน (Fr Antonio Moreno) ประธานคณะเยซูอิตในเอเซียและแปซิฟิก (President, Jesuit Asia Pacific) (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.sjapc.net/) เข้าร่วมประชุม เพื่อรับฟัง แลกเปลี่ยน เติมเต็ม เสริมกำลังใจ ตลอดการประชุม

คณะเยซูอิต (Jesuit) หรือคณะแห่งพระเยซูเจ้า (Society of Jesus) ก่อตั้งขึ้นโดย นักบุญอิกนาเชียสแห่งโลโยลา (St. Ignatius of Loyola) อดีตทหารสเปนซึ่งหันหน้าเข้าสู่ศาสนา เมื่อได้พบกับประสบการณ์ทางความเชื่อหลังได้รับบาดเจ็บจากการรบ นักบุญอิกนาเชียส คือผู้แต่งหนังสือการฝึกฝนทางจิตวิญญาณ (Spiritual Exercises) เพื่อชี้แนะการฝึกฝนจิตใจเพื่อเข้าใกล้พระเยซูเจ้า

ในปี 1539 (พ.ศ. 2082) นักบุญอิกนาเชียสได้ร่างกฎแห่งคณะเยซูอิตขึ้น และสมเด็จพระสันตะปาปาพอลที่ 3 ก็ได้รับรองร่างดังกล่าวในวันที่ 27 กันยายน 1540 (พ.ศ. 2083) ซึ่งนับเป็นวันถือกำเนิดของคณะเยซูอิต

คณะเยซูอิต มีบทบาทนำในการตอบโต้คริสเตียนสายปฏิรูปทั้งหลาย ทำให้หลายพื้นที่ในยุโรปที่เคยตกอยู่ใต้อิทธิพลของโปรแตสแตนท์กลับมานับถือคาทอลิกอีกครั้ง และยังเดินทางไปเผยแพร่ศาสนาไกลถึงอินเดีย บราซิล คองโก และเอธิโอเปีย รวมถึงในประเทศจีนในฐานะผู้รู้ที่นำเอาวิทยาการสมัยใหม่เข้าไปเผยแพร่ แต่สุดท้ายพวกเขาก็ถูกขับไล่โดยผู้ปกครองยุคหลังที่ไม่ไว้วางใจในอิทธิพลของคณะ

คณะเยซูอิตขยายอิทธิพลมากขึ้น ความขัดแย้งกับรัฐต่างๆ รวมถึงคณะอื่นๆ ก็ขยายตัวจนนำไปสู่คำประกาศของสมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 14 ที่ให้ยุบคณะเยซูอิตในปี 1773 ภายหลังสมเด็จพระสันตะปาปาพิอุสที่ 7 ก็มีคำสั่งให้จัดตั้งคณะเยซูอิตขึ้นมาอีกครั้งด้วยเห็นความจำเป็นในบทบาทด้านการศึกษา และการเผยแพร่ศาสนาของคณะ ปัจจุบันสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ก็เป็นนักบวชจากคณะเยซูอิต และนับเป็นพระสันตะปาปาพระองค์แรกที่มาจากนักบวชคณะนี้

เขียนเรื่องนี้ด้วยความปรารถนาที่จะเห็นการจัดประชุม “คณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนา” ในลักษณะเช่นนี้ ทั้งในระดับภาค ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ มากยิ่งขึ้น ตามแนวทางของพระพุทธองค์ ที่มีการประชุมสงฆ์ก่อนออกประกาศพระศาสนา รวมทั้งการทบทวนวิธีการอย่างต่อเนื่อง และหลักการแห่งอปริหานิยธรรม 7 ประการ

รวมทั้งปรารถนาเห็นผู้ใหญ่ได้ร่วมการประชุมร่วมอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง พร้อมที่จะรับฟัง และแลกเปลี่ยน ด้วยเหตุผล (ไม่ใช่ด้วยอำนาจการปกครอง) ด้วยที่ทีแห่ง “กัลยาณมิตร” (ไม่ใช่ด้วยท่าทีแห่งเจ้านายกับลูกน้อง” …. ซึ่งเป็นความปรารถนา เพื่อความรุ่งเรืองแห่ง “พระพุทธศาสนา” เพื่อลูกหลานในอนาคต จริง ๆ

ขอบคุณข้อมูลและภาพ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่:

http://www.jesuits-thailand.org/index.php/th/

http://www.sjapc.net/…/the-jesuit-vision-for-northern-thai…/

………….
Cr.เฟซบุ๊ก Phramaha Boonchuay Doojai (พระครูพิพิธสุตาทร หรือ พระมหาบุญช่วย สิรินฺธโร รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) วิทยาเขตเชียงใหม่)

Leave a Reply