เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงผลิกโฉมอย่างขนานใหญ่ในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยนั่นคือ พระธรรมวัชรบัณฑิต ได้ดึงพระสงฆ์รุ่นใหม่ที่มีความรู้ ความสามารถและเก่งด้านพระธรรมวินัยและศาสนาแขนงต่าง ๆ ขึ้นมาเสริมทีมเข้ามาบริการมหาวิทยาลัยแต่งตั้งให้เป็นรองอธิการบดี โดยเฉพาะมีการแต่งตั้ง “พระมหาสุรศักดิ์ ปจฺจนฺตเสโน” ให้ดำรงตำแหน่งเป็นรองอธิการบดีฝ่ายต่างประเทศ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี รวมทั้งมีวิสัยทัศน์ด้านต่างประเทศเป็นที่ยอมรับในประชาคม มจร และพระนิสิตนานาชาติ เนื่องจากเป็นพระภิกษุที่มีอัธยาศัยดีเพียบพร้อมด้วยความรู้และมนุษย์สัมพันธ์ เป็นพระรุ่นใหม่ที่นิสิตเข้าถึงง่าย สิ่งหนึ่งที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ “มจร” นั่นก็คือ ด้านต่างประเทศ ที่หลายท่านเปรียบเทียบกับยุคก่อน ๆ แล้วกลายเป็น “จุดอ่อน” ในยุคนี้
ทีมงาน “thebuddh” ได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ท่านเป็นกรณีพิเศษ เพื่อเปิดมุมมองและแนวคิดในการที่จะขับเคลื่อน มจร ไปสู่เวทีต่างประเทศบนคาดหวังของหลายฝ่ายว่า “มจร” จะก้าวไปอย่างไรให้ทันต่อ “ความเปลี่ยน” ของสังคมโลก และทำอย่างไรให้ “มจร” โดดเด่นในเวทีนานาชาติเหมือนกับยุคหนึ่ง มจร เราเป็นที่ยอมรับในเวทีระดับโลก
คำถามแรกเมื่อทีมงานเจอท่านว่าในฐานะที่มารับผิดชอบเรื่องต่างประเทศมีนโยบายที่จะให้ “มจร” เข้าไปสู่เวทีนานาชาติและมีบทบาทได้อย่างไร พระมหาสุรศักดิ์ ปจฺจนฺตเสโน รองอธิการบดีฝ่ายต่างประเทศ ตอบด้วยความคล่องแคล่วว่า
พระธรรมวัชรบัณฑิต อธิการบดี มจร ได้ให้แนวคิดนโยบายเกี่ยวกับกิจการต่างประเทศ โดยเฉพาะ การเป็นมหาวิยาลัยนานาชาติเริ่มตั้งแต่การให้ความร่วมมือกับคณะสงฆ์การสานต่อต่อยอดเกี่ยวกับการจัดประชุมวิชาการนานาชาติ ร่วมกับผู้นำชาวพุทธทั่วโลก และงานวิสาขบูชาโลก อันนี้คือ “จุดเด่น” ของเราที่จะต้องรักษาและทำอย่างต่อเนื่อง
ส่วนนโยบายต่อมาก็คือ การเชิญชวนและเพิ่มให้นิสิตนานาชาติมาศึกษาต่อที่วิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ หรือ “IBSC” รวมทั้งการจัดหลักสูตรให้คณะต่าง ๆ ทั้งภาคภาษาไทยและภาคภาษาอังกฤษ ตอนนี้เราเริ่มแล้วที่คณะพุทธศาสตร์ ในระดับปริญญาตรี เราผลิตหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษ สาขาวิชาปรัชญา สาขาวิชาศาสนา สาขาวิชาพุทธศาสนา ในส่วนของคณะมนุษยศาสตร์ก็มีสาขาวิชาภาษาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ แม้แต่คณะสังคมศาสตร์ ก็มีสาขารัฐประศาสนศาสตร์ที่เปิดเป็นหลักสูตรนานาชาติ นอกเหนือจากเดิมที่เรามีเฉพาะในวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนานาชาติ ในการที่เลือกเรียนในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
นอกจากนี้อธิการบดีมีนโยบายที่แน่ชัดว่าต้องการให้แปลตำราจากภาษาไทยที่เด่น ๆ เป็นภาษาอังกฤษ อย่างน้อยปีละ 10 เรื่อง และมีการจัดฝึกอบรมพัฒนาทักษะด้านภาษาของคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ให้มีความชำนาญเชี่ยวชาญด้านภาษา เพื่อตอบรับความเป็นนานาชาติ เพื่อตอบรับในการที่เราจะเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก อันนี้นโยบายท่านอธิการบดีพระธรรมวัชรบัณฑิต ที่กำชับไว้ สั่งการเอาไว้
และในฐานะรองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ ที่มาดำเนินการเรื่องนี้ก็จะมีทั้งภารกิจหลักและภารกิจรอง ที่สอดรับกับนโยบายของมหาวิทยาลัยและคณะสงฆ์ ในภารกิจหลักต้องดำเนินในการทำงานกับองค์กรทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและในส่วนของฝ่ายวิชาการ ในการจัดงานวิสาขบูชาโลก ร่วมกับสมาคมพุทธศาสนานานาชาติ มหาเถรสมาคมในการแปลพระไตรปิฎกภาคภาษาอังกฤษ ที่พระพรหมบัณฑิต เป็นประธานอยู่ในตอนนี้ อันนี้ถือเป็นภารกิจหลัก
ในส่วนของงานศาสนวิเทศ งานศาสนสัมพันธ์ จะต้องมีการร่วมมือกับสถาบันสมทบไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติศรีลังกา มหาวิทยาลัยพุทธศาสน์ของสิงคโปร์ ไทเป (ใต้หวัน) เกาหลีใต้รวมทั้งฮังการีด้วย นอกจากนั้นต้องร่วมกับองค์กรทางด้านการศึกษาอื่น ๆ ที่มีความสนใจที่จะพัฒนาและมีการเชื่อมสัมพันธไมตรีกับมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทย และรวมทั้งตัว มจร เราเองก็พยายามทำงาน “เชิงรุก” ไปเชื่อมกับมหาวิทยาลัยในนานาชาติด้วยเช่นกัน
นอกเหนือจากนี้คือการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างศาสนา ต่างนิกาย จะเห็นได้ว่าในยุคปัจจุบันเราไม่สามารถจะอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยว เราจำเป็นจะต้องมีการทำงานประสานร่วมมือกัน แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันทางด้านภาษา วัฒนธรรม ความเชื่อ แต่ว่าเราก็จะต้องอยู่ร่วมกัน มีนโยบายที่จะส่งเสริม สนับสนุนคณะสงฆ์ทั้งเถรวาทและมหายานต่างประเทศที่ต้องการทำงานเผยแพร่พระพุทธศาสนาและร่วมมือกับ มจร เช่น ล่าสุดนี้มีคณะสงฆ์จากไทเปมาลงนาม MOU กับเรา เพื่อจะทำงานร่วมกันเผยแพร่พระพุทธศาสนาทั้งในประเทศและต่างประเทศ
“โดยสรุปคือ รองอธิการบดีฝ่ายต่างประเทศ นอกเหนือจากการทำงานที่ตอบรับกับนโยบายของอธิการบดี และมหาวิทยาลัยแล้ว โดยพื้นฐานแล้วก็ต้องทำงานแบบ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ คือส่งเสริม สนับสนุนกิจการคณะสงฆ์และชาวพุทธนานาชาติหรือชาวพุทธที่มีความประสงค์อยากศึกษาพระไตรปิฎกรวมทั้งวิชาการอื่นๆ ด้านพระพุทธศาสนาที่เราสามารถอำนวยประโยชน์ให้ได้ เพื่อความเข้าใจอันดีซึ่งกันและกันและให้คนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข..”
เมื่อทีมงานถามถึง “วิทยาลัยพระธรรมทูต” มีความคืบหน้าในการจัดทำ “หลักสูตร” อย่างไรบ้าง พระมหาสุรศักดิ์ ปจฺจนฺตเสโน ได้ตอบว่า
วิทยาลัยพระธรรมทูต ตอนนี้ยกร่างหลักสูตรทั้งประกาศนียบัตร วุฒิบัตร และปริญญาบัตรเรียบร้อยหมดแล้ว วุฒิบัตรหลักสูตร 3 เดือน ประกาศนียบัตรหลักสูตร 1 ปี มีทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมทั้งตอนนี้เรามีหลักสูตรระดับปริญญาโทด้วย ณ ตอนนี้ผ่านคณะกรรมการบัณฑิตวิทยาลัยแล้ว กำลังจะเข้าสู่สู่สภาวิชาการ หากผ่านคาดว่าปลายเดือนนี้ก็จะเข้าสู่สภามหาวิทยาลัย นั่นหมายความว่าเราจะเปิดวิทยาลัยพระธรรมทูต ภาคการศึกษาหน้า
พระธรรมทูตที่เข้ามาสู่ระบบคือ คนที่ประสงค์ได้วุฒิบัตรอบรม 3 เดือนก็จะได้สิทธิเหมือนเดิมทุกอย่าง อันที่ 2 เรียน 1 ปี ก็ขยายจากวุฒิบัตร 3 เดือนเอามาเป็น 1 ปี แต่เราก็มีการศึกษาดูงานพระธรรมทูตเชิงปฏิบัติ เนื้อหาในหลักสูตรนี้จะเป็นไปเพื่อการสนองกิจการคณะสงฆ์ทั้ง 6 ด้าน โดยหลักสูตรทั้งหมดนี้ พระพรหมบัณฑิต กรรมการเถรสมาคม ท่านได้แนะนำเพิ่มเติมในหลายเรื่องที่เรานำมาปรับปรุง แม้แต่ พระธรรมวชิรมุนี เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ทางคณะก็ไปขอคำแนะนำจากท่าน ซึ่งนับตั้งแต่อาตมาได้มาดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศมาได้ 3 เดือน หลักสูตรทั้ง 3 อย่าง ถือว่าได้ผ่านกระบวนการมาพอสมควร ตอนนี้เราผ่านกระบวนการยกร่าง เรียบร้อยแล้ว หากถามต่อว่าระดับปริญญาเอกมีหรือไม่ ตอนนี้ยังไม่สามารถเปิดได้ เพราะมีเงื่อนไขและปัจจัยหลายอย่าง ระดับปริญญาโท หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็จะเปิดได้ในภาคการศึกษาหน้า
“อาตมาคิดว่าผู้บริหาร มจร รวมทั้งตัวอาตมาเอง มีความตั้งใจอย่างเต็มที่ที่สนับสนุนให้พระภิกษุสามเณรชาวพุทธได้มีการศึกษาได้มีความรู้ที่ถูกต้องบนพื้นฐานของพระไตรปิฎกทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ นอกเหนือจากนี้ถ้ามีโอกาส พยายามจะเข้าไปส่งเสริมมหาวิทยาลัยสงฆ์ในต่างประเทศที่เขายังไม่สามารถดำรงได้ด้วยตัวเอง เราก็เข้าไปสนับสนุนในเบื้องต้น เช่น มหาวิทยาลัยในเมียนมาร์ ของไทยใหญ่ ของมอญ เพื่อให้เขายืนอยู่ได้ เหมือนกับ มจร เราในอดีตที่จะต้องอาศัยการประคับประคองจากองค์กรทุกภาคส่วน ตรงนี้เรามีประสบการณ์ เราเข้าใจสิ่งที่เขาต้องการและเขาเป็น เพราะเราเชื่อมั่นว่าหากมหาวิทยาลัยสงฆ์เขาเข้มแข็งและมั่นคง ประโยชน์ก็จะตกอยู่กับคณะสงฆ์ ชาวพุทธ และในภาพรวมก็คือ พระพุทธศาสนา นั่นเอง
ฉะนั้น ทั้งนโยบายศาสนวิเทศ ศาสนสัมพันธ์ ทั้งหมดที่กล่าวมา นอกจากจะตอบรับกับนโยบายของมหาวิทยาลัยแล้ว เรามุ่งมั่นที่จะส่งเสริมเรื่องปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เพื่อให้เกิดการอยู่รวมกันอย่างสันติสุขและนำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนด้านพระพุทธศาสนา เพื่อให้โลกนี้เกิดสันติสุขอย่างแท้จริง..”
ทางด้าน พระสุริยะ สุริโย ประธานชมรมพระนิสิตมอญ พระนิสิตปริญญาเอก คณะมนุษย์ศาสตร์ จากประเทศเมียนมา บอกกับเราว่า เรียนอยู่ที่ มจร มา 10 ปีแล้ว ตอนปริญญาตรีเรียนคณะพุทธศาสตร์ ต่อจากนั้นก็ย้ายมาเรียนระดับปริญญาโทและเอก คณะมนุษย์ศาสตร์ ระดับอินเตอร์ ตอนนี้กำลังทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกอยู่ เหตุผลที่มาเรียนที่ มจร เริ่มแรกเลย เพราะที่นี้เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ คิดว่าน่าจะเหมาะกับตนเอง ที่ตั้งใจเดิมก็คือมาเรียน ด้านพระพุทธศาสนา แต่ตอนหลังด้านภาษาไทยมีปัญหามาก ภาษาอังกฤษก็ดูแล้วยังไม่คล่องดี แต่เมื่อดูแล้ว เรียนด้วยภาษาอังกฤษเหมาะกว่า และคิดว่าเรียนภาษาอังกฤษแล้วน่าจะเผยแผ่ศาสนาหรือกลับไปช่วยคณะสงฆ์ สอนเด็กและเยาวชนในบ้านเกิดคือ รัฐมอญ ประเทศพม่าได้ดีกว่า เนื่องจากตนเองคิดอยู่เสมอว่า วันหนึ่งต้องกลับไปทดแทนบุญคุณชาวบ้าน เพราะค่าเทอมและการเป็นอยู่ที่อยู่ มจร นี้ส่วนหนึ่ง ชาวบ้านระดมทุนบริจาคมาเป็น ค่าเทอม มหาวิทยาลัย มจร ให้มาก ทั้งองค์ความรู้ และประสบการณ์ โดยเฉพาะเคยได้รับโอกาสให้เป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษระดับปริญญาตรี รวมทั้งสถาบันภาษา ใน มจร ด้วย ตอนหลังไม่มีเวลาเพราะต้องทุ่มเทกับการศึกษาจึงไม่ได้สอนต่อ
เมื่อเราถามว่าอยากเห็น มจร ในนานาชาติอย่างไร ท่านตอบว่า คือ ตอนนี้ มจร เขามีศักยภาพมาก มจร มีชื่อเสียงในระดับโลก หากทำได้ ก็เสมือนประกาศพระพุทธศาสนา เสมือนขยายอาณาเขตพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าออกไป เดียวนี้คนตะวันตกจำนวนมากคิดว่า พระพุทธศาสนา แค่ ปรัชญา ไม่คิดว่าเป็นศาสนา ตรงนี้หาก มจร ไปอยู่ที่นั้น ผู้คนตรงนั้นก็จะเข้าใจพระพุทธศาสนาได้มากยิ่งขึ้น
Leave a Reply