เที่ยวเหนือสัมผัสวิถีชีวิตชาวบ้าน รำลึกถึง “คุณธรรม”ประจำชาติ

การเดินทางขึ้นไปภาคเหนือคราวนี้นอกจากต้องการไปสำรวจดูแปลงโคกหนองนา ตามคำแนะของอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ไปฟังเสียงสะท้อนชาวบ้านแล้วเป้าหมายอีกประการหนึ่งคือ เที่ยวชมวัดโบราณสถาน

วัดส่วนใหญ่ในภาคเหนือ ตรงซุ้มประตู หน้าโบสถ์ ส่วนใหญ่เป็นรูปสิงห์หรือไม่ก็พญานาค อุโบสถสวยงาม ศิลปะวัฒนธรรมคล้ายกับวัดในประเทศพม่า ซุ้มประตูวัดและอุโบสถไม่มีลายกระจกเหมือนวัดไทยในภาคกลาง

ในตัวอำเภอแม่แจ่มเฉกเช่นเดียวกันวัดหลายวัดเห็นสิงห์ตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้าประตูวัดมองเข้าไปที่วิหารหรือโบสถ์มีแต่พญานาค และในอำเภอแม่แจ่มมีโบสถ์คริสต์หลายแห่ง ขนาดน้อง นพต. (นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ) ของกรมการพัฒนาชุมชน ที่นั่งรถไปด้วย เป็นชนชาติกะเหรี่ยงก็นับถือ “ศาสนาคริสต์” ซึ่งถือว่าเป็นความสวยงามในสังคมไทยภาคเหนือโดยเฉพาะในหมู่ชาวเขา

การฟังเสียงสะท้อนคนทำโคกหนองนาซึ่งก็คือการยึดถือดำเนินชีวิตตามแนว“ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์รัชกาลที่ 9 ความจริงมันก็ตั้งอยู่บนฐานของ “คุณธรรมไทย” พอกิน พอใช้ พออยู่ พอเพียง ที่เหลือจุนเจือแบ่งปัน  ค้าขาย แต่ยุคนี้คุณธรรมเหล่านี้หากเราไปพูดในสังคมเมืองหลวง “ไม่มีแล้ว” และคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ยุคนี้ระบบการศึกษามุ่งสอนให้เข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม ให้ฉลาดในการมองและแสวงหาทุกอย่างเป็น “เงินและกำไร” เป็นใหญ่ แม้แต่ “ตัวเอง” ก็ขายได้ คุณธรรมเหล่านี้ถูกมองว่า “เชย”

พอ ๆ กับคุณธรรมเรื่องความ “กตัญญกตเวที”  ที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่อง “ไร้สาระ”  สังคมคนทำโคก หนอง นา ที่กรมการพัฒนาชุมชนสนับสนุน นอกจากมีฐานต 4 ประการดังที่กล่าวมา คือ พอกิน พอใช้ พออยู่และพอร่มเย็นแล้ว นั่นคือ กรมการพัฒนาชุมชนพยายามส่งเสริมระบบเกื้อกูล ระบบความรู้รักสามัคคี อันเป็น “คุณธรรม” ของคนไทยมาอันยาวนาน ผ่านกิจกรรมที่ซ่อนอยู่คือ “เอามือสามัคคี” หากภาษาภาคกลางก็คือ “การลงแขก” นั่นเอง

ซึ่งสิ่งเหล่านี้แม้มิใช่เรื่องของศาสนาพุทธหรือศาสนาใด ๆ  แต่มันคือ อัตลักษณ์และเป็นคุณธรรมของคนไทยมาอันยาวนาน พอ ๆ กับคำว่า “สยามเมืองยิ้ม” ซึ่งตอนนี้จ่างหายไปหมดแล้ว แทบไม่เหลือให้เห็น

เว้น “บริบทชนบท” ที่ยังมีวิถีชีวิตอยู่แบบเกษตรพอมีให้เห็น

สำหรับสังคมเมืองหลังจากประเทศไทยก้าวกระโดดเข้าสู่ระบบทุนนิยมต้นปี 2500 คนไทยเข้าสู่ระบบการแข่งขัน ประชากรส่วนใหญ่มี “ความเครียดมากกว่าความสุข” แม้จะมีเงินมาซื้อความสุขสบายก็ตามที

สังคมชาวโคก หนอง นา  ส่วนใหญ่อยู่กับธรรมชาติ อยู่กับพืชผัก ผลไม้ เวลาเราไปพูด ไปคุยสัมผัสกับชาวบ้าน สัมผัสได้ถึงความสุขผ่านใบหน้าและคำพูด ที่พวกเขามีและได้รับจากสิ่งที่พวกเขาลงมือทำผ่านกิจกรรมโคก หนอง นา

บางทีวิถีชีวิต มุมคิด เราจำเป็นต้องกลับไปสู่จุดเดิมที่บรรพบุรุษเราเคยเดินและเคยสอน..ไม่จำเป็นต้องวิ่งตามหาเงินอยู่ร่ำไป..จนชีวิตไม่มีอิสระและเป็นตัวของตัวเอง วิถีชีวิต โคก หนอง นา อาจมีคำตอบ??

……………….

คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง

โดย…“เปรียญสิบ” : [email protected]

Leave a Reply