รู้หรือไม่ ?  ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงวัยทะลุ 13 ล้านรายแล้ว ด้าน มจร ผุด กลุ่มคิลานธรรม เยียวยาใจผู้ป่วย

ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” หรือ “Complete Aged Society” เป็นที่เรียบร้อย โดยมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุมากถึง 13,458,000 คน ของประชากรทั้งหมดประมาณ 65,994,000 คน และที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ การขยายตัวของจำนวนผู้สูงวัย จะมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในแต่ละปี และคาดการณ์ว่าในปี 2030 หรืออีก 10 ปี ข้างหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” หรือ “Super Aged Society” โดยจะมีผู้สูงวัยสูงถึงร้อยละ 28 ของประชากรทั้งประเทศ เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

ตั้งแต่อดีต จนถึง ปัจจุบัน  พระสงฆ์ นักบวชในพระพุทธศาสนา เป็นที่พึ่งของประชาชนในทุกวาระ โดยเฉพาะในยามที่ศาสนิกชนเจ็บไข้ ได้ป่วย มักโปรดญาติโยมด้วยการบรรยายธรรม หลายมานี้ เราได้เห็นพระสงฆ์จำนวนหนึ่งเดินเข้าออกโรงพยาบาลเพื่อโปรดญาติโยมที่นอนรักษาอาการป่วยไข้ ช่วยแบ่งเบาภาระในการดูแลผู้ป่วยของบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญการรักษาทางกายมากกว่าการดูแลสภาวะจิตใจของผู้ป่วย และไม่เฉพาะโรงพยาบาลเท่านั้น ในทุกหมู่บ้าน สังคม ที่ไหนมีผู้ป่วยมักมี พระภิกษุสงฆ์ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น เช่น เทศบาล อบต. รพ.สต. จะเดินไปเยี่ยมเยียนผู้ป่วยติดเตียง หรือ คนสูงวัยอยู่เสมอ ๆ  พระสงฆ์ชุดนี้กลายมาเป็นกำลังสำคัญกลุ่มหนึ่งในระบบบริการสุขภาพของประเทศไทย ขอยกตัวอย่าง “กลุ่มคิลานธรรม” มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

“กลุ่มคิลานธรรม เป็นกลุ่มของพระนิสิตที่เรียนสาขาวิชาชีวิตและความตาย ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.) เน้นการทำงานด้านจิตวิทยาการปรึกษาให้กับผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยที่พักฟื้นในโรงพยาบาล เป็นการเยียวยาใจของผู้ป่วยมุ่งเน้นให้คำปรึกษาที่ทำให้ผู้ป่วยรักษาใจของตนเองไม่ให้ทุกข์ตามการป่วยของร่างกาย โดยมีคติสำคัญที่ให้ผู้ป่วยทุกคนพึงระลึกเสมอคือ “การรักษากายเป็นหน้าที่ของแพทย์ พยาบาล การรักษาใจเป็นหน้าที่ของตัวเราเอง

พระมหาสุเทพ สุทธิญาโณ  รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะมนุษยศาสตร์ มจร  อดีตพระนิสิตรุ่น 1 ของสาขาชีวิตและความตายเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งกลุ่มคิลานธรรมตั้งแต่ปี 2550 ในระหว่างฝึกงานให้คำปรึกษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการเรียน ระหว่างนั้นนอกจากการฝึกงานตามหลักสูตรของสาขาวิชาแล้วท่านยังสมัครเป็นอาสาสมัครเยี่ยมไข้ให้กับผู้ป่วยที่โรงพยาบาลศิริราชด้วย จากการเยี่ยมผู้ป่วยแต่เพียงรูปเดียว ขยายมาสู่การชวนเพื่อนพระที่เรียนชีวิตและความตายด้วยกันมาเข้าร่วม ขยายสู่เพื่อนพระภายนอกที่สนใจกิจกรรมนี้ จนปัจจุบันคิลานธรรมมีพระสมาชิกถึงประมาณ 40 รูป (ข้อมูลปี 63)

เงื่อนไขสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของกลุ่มคิลานธรรมคือต้องเกิดจากความต้องการของญาติและตัวผู้ป่วยเอง ที่จะประสานกับโรงพยาบาลว่าต้องการนิมนต์พระสงฆ์ไปสนทนาธรรม และแน่นอนการสนทนาธรรมต้องไม่ใช่หมายถึงการมุ่งสอนการปฏิบัติทาน ศีล ภาวนา หรือการให้ยอมรับในกฎแห่งอนิจจัง ที่ไม่มีใครหนีการป่วย การตายไปได้ หากต้องเป็นการพูดคุยที่สอดคล้องกับธรรมชาติของผู้ป่วยในขณะนั้น

อาตมามองเห็นว่าคนป่วยเขามีความทุกข์อยู่ในใจด้วย  ไม่ใช่แค่ทุกข์ทางกายที่เขามาให้หมอรักษา ก็เลยใช้ความเป็นพระเข้าไปช่วยเขา ไปชวนเขาคุย ค้นหาว่าทุกข์ในใจของเขาคืออะไร บางทีสิ่งที่กวนใจผู้ป่วยจริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องของความเป็นความตาย แต่เป็นเรื่องครอบครัว ห่วงลูกห่วงหลาน ทำไมคนนั้นไม่มาเยี่ยม การคาใจที่ลูกหลานขัดแย้งกันอยู่ เราเข้าไปคลายปมให้เขา คุยกับลูกกับหลานเขาด้วย หลายครั้งเลยที่เราทำให้แม่ลูกเข้าใจกัน

นอกจากการเยี่ยมไข้ผู้ป่วยโดยตรงแล้วคิลานธรรมยังเน้นการจิดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ โดยมีทั้งการให้ความรู้กับบุคลากรทางการแพทย์ในเรื่องที่เกี่ยวกับการพัฒนาจิตที่บุคลากรทางการแพทย์อาจยังมีความเข้าใจไม่ครอบคลุม และการฝึกอบรมพระเพื่อให้เป็นที่ปรึกษาทางจิตให้กับผู้ป่วย โดยเริ่มอบรมในปี 2558 จนปัจจุบันมีพระที่ผ่านการอบรมประมาณ 130 รูป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระในต่างจังหวัด เพื่อนำความรู้และเทคนิคต่างๆ ไปใช้กับคนป่วยในจังหวัดของตน บทบาทของพระในระบบสุขภาพจึงแพร่กระจายไปมากขึ้น

บทบาทของพระคิลานธรรมได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ ในระบบสุขภาพสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ล้วนมีการประสานงานและดำเนินกิจกรรมร่วมกับพระคิลานธรรมเพื่อสร้างเสริมบทบาทของพระสงฆ์ในระบบสุขภาพให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น นอกจากนี้องค์กรแพทยสภายังเข้ามาช่วยเติมเต็มความรู้ทางการแพทย์ให้กับพระด้วย“ต้องยอมรับว่าอาการป่วยของผู้ป่วยบางกลุ่มโรคมีความเฉพาะเจาะจงที่พระเราไม่เข้าใจ เช่น ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ที่ภาวะจิตจะแตกต่างจากคนป่วยทางการอื่นๆ และจำเป็นต้องได้รับยาเพื่อการดูแลทางจิตใจด้วย แพทยสภาได้เข้ามาช่วยเติมให้พระสงฆ์ในเรื่องนี้” พระมหาสุเทพกล่าว

ปัจจุบันพระคิลานธรรมปฏิบัติงานในโรงพยาบาล 6 แห่ง ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ติดตามเรื่องราวของพระคิลานธรรมได้ที่เพจ https://web.facebook.com/gilanadhamma/

นอกจากสถานการณ์ผู้สูงวัยที่เพิ่มมากขึ้นในสังคมไทย นอกจาก มจร ตั้งกลุ่มคิลานธรรม ที่ดำเนินการมาหลายปีแล้ว ปัจจุบันในส่วนของมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ ได้จัดตั้ง “กลุ่มคิลานุปัฎฐาก” เพื่อดูแลพระภิกษุสงฆ์กลุ่มสูงวัยที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเช่นกัน

ขอบคุณ ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช, https://hrdo.org และ

https://taejai.com/en

Leave a Reply