มหาธีร์: ทางออกไฟใต้ไม่ใช่เอกราช…แต่อาจเป็นเขตปกครองตนเอง

“ทีมข่าวเนชั่น” สัมภาษณ์พิเศษนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด ระหว่างเดินทางมาประเทศไทยเมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 ธ.ค.61 เพื่อรับปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาผู้นำทางสังคม ธุรกิจ และการเมือง ซึ่งมหาวิทยาลัยรังสิตมอบให้ 

การเดินทางมาไทยครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 2 ของ ดร.มหาธีร์ ภายหลังนำพรรคร่วมฝ่ายค้านชนะเลือกตั้งแบบพลิกความคาดหมายเมื่อเดือน พ.ค.ที่่ผ่านมา โดยครั้งแรกเป็นการเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 24-25 ต.ค. ซึ่งในครั้งนั้นผู้นำมาเลเซียได้ให้สัมภาษณ์ตอกย้ำเป็นสัญญาประชาคมว่า จะช่วยไทยขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ประสบความสำเร็จ ในฐานะเพื่อนบ้านที่มีรั้วติดกัน และไทยเองก็เคยให้ความช่วยเหลือมาเลเซียมาก่อน เมื่อครั้งประสบปัญหาขบวนการโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา

หนึ่งในประเด็นที่ “ทีมข่าวเนชั่น” ให้ความสำคัญ และหยิบยกมาซักถาม ดร.มหาธีร์ ก็คือปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อยาวนานจะครบ 15 ปีเต็มของเหตุการณ์ปล้นปืนในวันที่ 4 ม.ค.ที่จะถึงนี้แล้ว โดยกระบวนการสำคัญที่หลายฝ่ายฝากความหวังและเชื่อว่าจะทำให้ปัญหาความไม่สงบจบลงได้อย่างยั่งยืน ก็คือกระบวนการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ซึ่งมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก

ท่าทีของผู้นำมาเลเซียในช่วงที่ผ่านมานับว่าน่าสนใจ เพราะสะท้อนว่าได้ให้ความสำคัญกับปัญหาภาคใต้ของไทยเป็นอย่างมาก และหลังจากเข้ามาเป็นผู้นำรัฐบาลได้ไม่นาน ก็ได้เปลี่ยนตัว “ผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุย” โดยมอบหมายให้อดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลที่มีความรู้ความเข้าใจในปัญหามาทำหน้าที่

การสัมภาษณ์ล่าสุดของ “ทีมข่าวเนชั่น” เริ่มเจาะลึกกันที่ประเด็นนี้…

  O มาเลเซียมีบทบาทสำคัญในการอำนวยสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้ ท่านได้แต่งตั้งผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่ ในขณะที่ไทยมีหัวหน้าคณะพูดคุยคนใหม่ ในมุมมองของท่าน อะไรคือแนวทางและวิสัยทัศน์ของท่านในการนำไปสู่สันติภาพชายแดนใต้?

ประเทศเพื่อนบ้านกันมักมีปัญหาเกิดขึ้นเสมอ ช่วงหนึ่งมาเลเซียก็มีปัญหากลุ่มคอมมิวนิสต์ก่อความไม่สงบ ซึ่งไทยได้ยื่นมือเข้ามาช่วย ผลก็คือสถานการณ์ได้สงบลงในช่วงปี 1960 ตอนนี้ไทยมีปัญหาชายแดนใต้ มาเลเซียก็อยากจะช่วยไทย ด้วยการร่วมมือกับไทยยุติการใช้ความรุนแรงในภาคใต้

   O เมื่อนานมาแล้ว มาเลเซียเคยมีผู้อำนวยความสะดวกที่มีบทบาทพอสมควร แต่ก็ไม่ได้ผลลัพธ์อะไร คราวนี้มีคนใหม่เข้ามา แต่ฝั่งของผู้ก่อความไม่สงบยังคงเป็นคนเดิม แล้วแบบนี้จะมีแนวทางเดินหน้าต่อได้อย่างไร?

เราพยายามมาหลายครั้ง แต่ปัญหาชายแดนใต้ของไทยก็คือผู้ก่อความไม่สงบไม่ได้มีแค่กลุ่มเดียว มีอยู่หลายกลุ่ม ดังนั้นแม้คุณสามารถบรรลุการเจรจากับกลุ่มหนึ่งได้ มันก็ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มอื่นๆ จะยอมรับด้วย เรามีหลายคนที่มีความสนิทสนมคุ้นเคยกับคนในภาคใต้ เราจึงแต่งตั้งคนใหม่ซึ่งเป็นอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และมีประสบการณ์เกี่ยวกับชายแดนไทย-มาเลเซียเป็นอย่างดี เราหวังว่าเขาจะได้รับการยอมรับมากขึ้นในฐานะผู้อำนวยความสะดวก เพื่อที่จะได้เชื่อมโยงระหว่างเจ้าหน้าที่ของทางการไทยกับ “คนในภาคใต้” และจะได้เกิดความเข้าใจกัน ซึ่งนี่อาจนำไปสู่สันติภาพ

 O ท่านมีข้อเสนอแนะให้กับเขาไหมครับ?

 เรารู้สึกว่าควรจะมีความเข้าใจกันก่อนว่า ภาคใต้ของไทยเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย ผมไม่คิดว่าจะมีประเทศไหนเต็มใจสูญเสียดินแดนให้กับประชาชนในภูมิภาคนั้นๆ เหมือนอย่างในสเปน (กรณีการขอแยกตัวของแคว้นกาตาลุญญา) รัฐบาลสเปนไม่พิจารณาให้เอกราชหรือแยกขาดจากรัฐบาลกลาง ดังนั้นผมคิดว่าคนในชายแดนใต้ต้องยอมรับข้อเท็จจริงตรงนี้ก่อน แล้วจึงพยายามให้มีอำนาจในการบริหารตัวเองมากที่สุด เหมือนกับในอินโดนีเซียที่มีเขตปกครองพิเศษ ไทยเองก็อาจจะมีการให้อำนาจปกครองตนเองบางส่วนกับชายแดนใต้ก็ได้ ผมคิดว่าถ้าเกิดขึ้นจริง พวกเขาคงจะยอมรับได้ว่ามันไร้ประโยชน์หากจะพยายามให้ได้มาซึ่งเอกราชอีก

    O อีกประเด็นหนึ่งก็คือ กลุ่มมาราปาตานีไม่ได้เป็นตัวแทนของผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ พอพวกเขามานั่งโต๊ะเจรจา ตกลงเงื่อนไขกับทางการไทยแล้ว แต่กลับสั่งการไปยังคนในพื้นที่ไม่ได้ เรื่องนี้ท่านพอทราบหรือไม่?

เราทราบดี ทราบว่าไม่ได้มีแค่กลุ่มเดียวเท่านั้น มันมีอยู่ 2-3 กลุ่มด้วยกัน หากกลุ่มหนึ่งบรรลุความเข้าใจแล้ว มันก็ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มอื่นจะยอมรับผลการเจรจา ดังนั้น ประเด็นสำคัญก็คือเราต้องพบกับกลุ่มต่างๆ ให้ได้มากที่สุด

————————————————————————————————————

ขอบคุณภาพ : https://www.posttoday.com/ , https://www.naewna.com/i

สัมภาษณ์พิเศษ : โดย สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี บรรณาธิการข่าว หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น

ถอดความโดย : ทีมข่าวเนชั่นทีวี

อ่านประกอบบันทึก “มหาธีร์” เยือนไทย จุดเปลี่ยนไฟใต้ที่ไม่มีกรอบเวลา?

Leave a Reply