ใครทำลาย?? พระพุทธรูปแห่งบามิยัน : กำเนิดและพัฒนาการของมรดกประวัติศาสตร์

ในความสูง 2,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล เมืองบามิยัน (Bamiyan) ตั้งอยู่ประมาณ 200 กิโลเมตร ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงคาบูล ประเทศอัฟกานิสถาน ตั้งอยู่ภายในหุบเขาหิมะซึ่งแวดล้อมไปด้วยหุบเขาที่ตั้งตระหง่าน เมืองบามิยันเคยเป็นที่ตั้งของพระพุทธรูปประทับยืนสององค์ที่สูงที่สุดในโลกในสมัยโบราณ

พระพุทธรูปทั้งสององค์นี้มีชื่อเสียงและเป็นที่สนใจของชาวพุทธมาตั้งแต่สมัยโบราณ หลวงจีนเสวียนจั้งหรือพระถังซำจั๋งเคยกล่าวถึงพระพุทธรูปองค์นี้ไว้ในบันทึกของท่าน ในสมัยปัจจุบัน นักโบราณคดีจำนวนหนึ่งทั้งชาวอัฟกานิสถานเองและชาวต่างชาติได้บูรณะ ศึกษา เขียนหนังสือ และจัดสัมมนาเกี่ยวกับโบราณคดีที่เมืองบามิยันอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่ก่อนหรือแม้แต่หลังการทำลายพระพุทธรูปทั้งสองนี้

การบุกยึดกรุงคาบูลกลับมาอีกครั้งของกลุ่มตาลีบันในปี 2021 ทำให้อยากชวนหวนกลับไปนึกถึงภาพการระเบิดทำลายพระพุทธรูปทั้งสองในปี 2001 อีกครั้ง พร้อมกับความเป็นห่วงต่อโบราณวัตถุ โบราณสถานที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในอัฟกานิสถาน

พระพุทธรูปทั้งสององค์นี้มีความสำคัญอย่างไรทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี

#สังเขปประวัติศาสตร์พุทธศาสนาที่บามิยัน

อัฟกานิสถาน ถือเป็นจุด ‘กึ่งกลาง’ ของเส้นทางสายไหมซึ่งเชื่อมต่อระหว่างยุโรป อินเดีย และจีน สามอู่อารยธรรมสำคัญของโลกในสมัยโบราณ ทำให้ผู้คน สินค้า รวมถึงวัฒนธรรมต่าง ๆ หลั่งไหลเข้ามาสู่ดินแดนนี้อย่างต่อเนื่อง ห่างออกไปจากเมืองบามิยันทางทิศตะวันออกประมาณ 300 กิโลเมตรเป็นที่ตั้งของช่องเขาไคเบอร์ (Khyber Pass) ซึ่งเป็นช่องเขาที่ใช้ติดต่อระหว่างโลกภายนอกกับอนุทวีปอินเดีย

อัฟกานิสถานเคยอยู่ภายใต้อำนาจของจักรวรรดิอะคีเมนิดของเปอร์เซียในระยะพุทธกาล ต่อมาได้กลายเป็นเส้นทางเดินทัพของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช กษัตริย์กรีกผู้ยกทัพมาตีถึงแคว้นคันธาระในอนุทวีปอินเดีย การเข้ามาของพระองค์ทำให้อัฟกานิสถานหลุดพ้นจากอำนาจของเปอร์เซีย และทำให้เกิดกษัตริย์เชื้อสายกรีก (Indo-Greek) ปกครองพื้นที่แถบนี้มาระยะหนึ่ง

ในราวพุทธศตวรรษที่ 3 พระเจ้าอโศกมหาราช ได้ส่งสมณทูตไปเผยแผ่พุทธศาสนาในดินแดนต่าง ๆ นอกลุ่มน้ำคงคา 9 เส้นทาง ในจำนวนนั้นคือ พระมัชฌันติกเถระ ผู้เดินทางไปยังแคว้นกัศมีร์คันธาระ และพระมหารักขิตเถระ ผู้เดินทางมายังดินแดนของชาวโยนก (คือชาวกรีก) ซึ่งน่าจะได้แก่บริเวณอัฟกานิสถานนี่เอง กษัตริย์เชื้อสายกรีก (Indo-Greek) บางองค์ได้เลือกที่จะนับถือพุทธศาสนาด้วย

ในราวพุทธศตวรรษที่ 6 พวกเร่ร่อนจากเอเชียกลางได้บุกรุกอนุทวีปอินเดียและสถาปนาราชวงศ์กุษาณะขึ้น ชาวอินเดียในระยะนี้นับถือพุทธศาสนามหายาน (ซึ่งมีนิกายย่อย ๆ มากมาก) หลายนิกายมองพระพุทธเจ้าเป็น ‘พระเจ้า’ ผู้เป็นอมตะ และสามารถประทานพรแก่ผู้ศรัทธาได้ ความภักดีนี้เองที่เป็นแรงผลักดันให้มีการสร้างพระพุทธรูปกลุ่มแรกขึ้นในโลก โดยเรียกว่าศิลปะคันธาระซึ่งเป็นการผสมผสานรูปแบบของเทพเจ้ากรีกเข้ากับลักษณะอันวิเศษที่เรียกว่า ‘มหาบุรุษลักษณะ’ ของพระพุทธเจ้าอย่างลงตัว ในระยะนี้ เริ่มปรากฏชุมชนที่นับถือพุทธศาสนาที่เมืองบามิยันแล้ว

ในพุทธศตวรรษที่ 12 ความเจริญของพุทธศาสนาที่เมืองบามิยันถูกบันทึกโดยหลวงจีนที่ชื่อ ‘เสวียนจั้ง’ (พระถังซำจั๋ง) ผู้เดินทางผ่านเส้นทางสายไหมมาเพื่อแสวงบุญที่อนุทวีปอินเดียผ่านที่เมืองบามิยัน ท่านได้บันทึกว่า เมืองหลวงของบามิยันตั้งอยู่บนหน้าผาสูงในหุบเขาหิมะ อากาศหนาวจัด และผลิตอาหารได้น้อย ชาวเมืองศรัทธาในศาสนาพุทธมาก ไม่ว่าจะเป็นพระรัตนตรัยหรือเทพเจ้าอื่น ๆ ชาวเมืองยังมีความเชื่อว่า เทพเจ้ามักจะแสดงปาฏิหาริย์ที่นี่ให้ประชาชนเห็นเพื่อแสดงถึงนิมิตแห่งโชคลางและความเป็นมงคล

ที่เมืองบามิยันมีพระภิกษุหลายพันรูป พระภิกษุอยู่ในนิกายโลโกตตรวาท ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของพุทธศาสนามหายาน (ในหนังสือ Bamiyan ของกรมโบราณคดีอินเดียยังระบุอีกว่ามีนิกายอื่น ๆ เช่น มหาสังฆิกะและสรรวาสติวาทด้วย) นิกายโลโกตตรวาทเป็นนิกายที่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นเจ้าแห่งจักรวาล เป็นอมตะ เป็นผู้บันดาลให้ได้ทุกสิ่งตามปรารถนา การกราบไหว้พระพุทธองค์เท่ากับการได้รับผลบุญอันมหาศาล

ในพุทธศตวรรษที่ 12 พุทธศาสนาคงเจริญรุ่งเรืองอย่างมากที่บามิยันถึงขั้นมีการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ และการเจาะถ้ำเข้าไปในหน้าผาเพื่อเป็นอารามจำนวนมาก

 

#พระพุทธรูปที่บามิยัน

จากบันทึกของหลวงจีนเสวียนจั้ง พระพุทธรูปที่เมืองบามิยันมีหลายองค์ โดยพระพุทธรูปยืนในหน้าผา หลวงจีนเล่าว่า “มีพระสูง 140-150 เฉี้ยะ (1 เฉี้ยะ ประมาณ 1 ฟุต) สีทองอร่าม ประดับอัญมณี” นอกจากนี้ “ยังมีพระพุทธรูปทองแดงที่ประดิษฐานอยู่ในอารามที่กษัตริย์สร้างขึ้น” และ “ยังมีพระพุทธรูปไสยาสน์ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมือง 2-3 ลี้ เป็นอารามที่กษัตริย์พร้อมด้วยพระราชวงศ์จะต้องเสด็จมาถวายทานทุกปีด้วยการบริจาคพระองค์เองให้แก่พระศาสนา จากนั้นอำมาตย์จะขอไถ่พระองค์คืน” บันทึกนี้แสดงว่าบามิยันมีความเจริญรุ่งเรืองทางพุทธศาสนามาก และมีพระพุทธรูปสำคัญอื่น ๆ ที่สูญหายไปแล้วอีกมาก

สำหรับพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่นี่ มีจำนวนสององค์ ถือเป็นพระพุทธรูปที่ขุดจากหน้าผาที่ใหญ่ที่สุดในโลกโบราณ และถือเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ พระพุทธรูปองค์แรกสูง 38 เมตร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก (กำหนดอายุราว พ.ศ. 1113) ส่วนองค์ที่สองมีความสูง 55 เมตร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก (พ.ศ. 1161) ทั้งนี้ นอกจากการกำหนดอายุจากรูปแบบศิลปะแล้ว การตรวจสอบอายุโดยใช้คาร์บอนจากเศษอินทรียวัตถุ เช่นไม้ ก็แสดงอายุตรงกันว่าพระพุทธรูปทั้งสององค์นี้มีอายุในพุทธศตวรรษที่ 12

พระพุทธรูปทั้งสองอยู่ในศิลปะคันธาระตอนปลาย ซึ่งมีอายุร่วมสมัยกับศิลปะคุปตะสกุลช่างมถุราในอินเดีย พระครองจีวรห่มคลุม จีวรเป็นริ้วทั้งองค์ตามอิทธิพลกรีก-โรมัน ทว่าจีวรไม่หนาแล้วเป็นผ้าบาง ๆ ที่ริ้วทุกเส้นเท่า ๆ กันกระจายไปทั่วพระวรกาย คล้ายคลึงกับศิลปะคุปตะสกุลช่างมถุรา พระหัตถ์ขวายกขึ้นแสดงปางประทานอภัย ส่วนพระหัตถ์ซ้ายจับชายจีวรแนวห้อยลง

พระพุทธรูปสลักจากหินทรายของหน้าผา ไม่ได้เกิดจากการประกอบ จากนั้นมีการใช้โคลนและปูนปั้นในการตกแต่งริ้วจีวรของพระพุทธรูป ทั้งนี้ยังมีการประกอบไม้เข้าไปในพระพุทธรูปบางส่วนเพื่อใช้เป็นตัวยึดด้วย พระพุทธรูปองค์นี้คงเคยระบายสีแดงสำหรับจีวร และอาจประดับด้วยหินมีค่าดั่งที่หลวงจีนเสวียนจั้งได้บรรยายไว้

พระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษนี้ ทำให้นึกไปถึงนิกายโลโกตตรวาทที่มองว่าพระพุทธเจ้าคือพระจักรพรรดิแห่งจักรวาล

 

#ถ้ำและจิตรกรรม

นอกจากพระพุทธรูปแล้ว บามิยันมีชื่อเสียงเรื่องการขุดถ้ำและจิตรกรรมที่ตกแต่งภายในถ้ำด้วย พระพุทธรูปล้อมรอบไปด้วยถ้ำที่ขุดแบบเอเชียกลาง ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียมาอีกทอดหนึ่ง แต่ไม่มีแผนผังตามแบบถ้ำในอินเดียที่มีการแบ่งถ้ำเจติยสถาน (คล้ายโบสถ์) และถ้ำวิหาร (ถ้ำกุฎิ) อีกต่อไปแล้ว

จิตรกรรมที่บามิยันมีลักษณะการผสมผสานกันระหว่างศิลปะอินเดียและเอเชียกลาง ที่สำคัญได้แก่รูปพระสูรยะบนรถม้า ที่เป็นเทพเจ้าแห่งแสงอาทิตย์ การแต่งตัวของเทพเจ้าองค์นี้เป็นแบบเอเชียกลาง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพื้นที่แถบนี้อยู่ภายใต้อิทธิพลชาวเอเชียกลางภายหลังการล่มสลายของราชวงศ์กุษาณะ การกำหนดอายุจิตรกรรม ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์แสดงอายุราวพุทธศตวรรษที่ 10-16 แสดงว่ายังมีชาวพุทธอยู่ที่บามิยันมาตลอดจนถึงการบุกรุกโดยคนต่างศาสนา

#การสิ้นสุดของชาวพุทธที่บามิยันและประวัติการทำลายพระพุทธรูปโดยคนต่างศาสนา

     ภายหลังพุทธศตวรรษที่ 16 ชุมชนชาวพุทธเริ่มระส่ำระสายจากการรุกรานจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการบุกรุกของชาวมองโกลที่เดินทางมาตามเส้นทางสายไหม การบุกรุกของจักรวรรดิอับบาซียะฮฺ ซึ่งเป็นรัฐคอลีฟะฮฺจากแบกแดด ในท้ายที่สุด ศาสนาพุทธก็หมดสิ้นไปเมื่อมีการสถาปนาอาณาจักรกาซนาวียะฮฺในอัฟกานิสถานเอง

พระพุทธรูปองค์นี้ไม่ได้ถูกทำลายโดยพวกตาลีบันเท่านั้น แต่ถูกทำลายอย่างต่อเนื่องมาแล้วโดยสุลต่านต่างศาสนา ไม่ว่าจะเป็น พระเจ้าออรังเซปแห่งราชวงศ์โมกุลจากอินเดีย ผู้สั่งให้ระดมยิงปืนใส่พระพุทธรูป ทำให้พระเพลา (ขา) ของพระพุทธรูปถูกทำลาย สุลต่าน Nader Asraf จากเปอร์เซีย ผู้สั่งให้ยิงปืนใส่พระพุทธรูป รวมถึง  กษัตริย์แห่งอัฟกานิสถานพระองค์หนึ่งคืออับดุลเราะห์มานข่าน ผู้ทำลายพระพักตร์ของพระพุทธรูป

พระพุทธรูปองค์นี้ได้รับความสนใจจากทั่วโลกเมื่อ กลุ่มตาลีบันทำลายพระพุทธรูปลงเมื่อ ค.ศ. 2001 ซึ่งเป็นการทำลายมรดกทางวัฒนธรรมและมรดกโลกที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ การทำลายครั้งนี้ดูเหมือนทำให้กลุ่มก่อการร้ายต่าง ๆ เช่น กลุ่ม ISIS ในระยะต่อมา พยายามใช้ ‘โบราณสถาน’ อันมีชื่อเสียงเพื่อเป็น ‘เหยื่อ’ ในการเรียกร้องหรือสร้างผลทางจิตวิทยาในด้านลบให้แก่มวลมนุษยชาติ แล้วดึงเอาศาสนาเข้ามาเกี่ยวพัน

สิ่งที่พวกเราทำได้ในขณะนี้ก็คือ แม้พระพุทธรูปจะถูกทำลายไปแล้ว แต่สิ่งที่ไม่มีวันถูกทำลายไปได้ก็คือ ‘ความรู้’

อ่านเรื่องราวของ พระพุทธรูปแห่งบามิยัน: กำเนิดและพัฒนาการของมรดกประวัติศาสตร์ที่ถูกตาลีบันทำลายในปี 2001 ในรูปแบบเว็บไซต์ได้ที่ https://thepeople.co/bamiyan-world-heritage-afghanistan/

Leave a Reply