ในขณะที่เขียนต้นฉบับอยู่นี้ เปรียญสิบ กำลังอยู่ในห้องพักภายในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยวิทยาสงฆ์จังหวัดลำพูนชื่ออาคารว่า “อาคันตุกะภิรมย์สุข” มีห้องพัก ห้องสัมมนา เหมือนกับโรงแรมข้างนอกทั่วไป อาจบางทีที่นี้สงบยิ่งกว่าวัดบางวัด ไม่มีคนมาพลุกพล่าน ไม่เสียงรถ เสียงคนอะไรเลน นอกจากเสียงนก
“อาคันตุกะภิรมย์สุข” เป็นอาคารใหม่ มีบริการอาหารเช้า ห้องสะอาด เป็นเตียงคู่ อาจจะแตกต่างจากโรงแรมทั่วไปบ้าง ก็ตรงที่ไม่มีตู้เย็นให้บริการ ราคาก็ไม่แพง ถือว่าเป็นค่าบำรุงอาคารสถานที่ ทำบุญไปในตัว ซึ่งเดียวนี้หลายมหาวิทยาลัยก็นิยมทำแบบนี้ บางแห่งให้เอกชนสัมปทานไปเลย เท่าไรก็อยู่ที่ข้อตกลง เช่น 5 ล้าน 3 ล้าน รู้สึกที่มหาจุฬาฯ ส่วนกลางก็ทำในขณะแบบนี้ เพียงแต่ที่นั้นตึกเก่า ทรุดโทรม และเก่า
การเดินทางมาภาคเหนือคราวนี้ค่อนข้างต้องเตรียมตัวนานพอสมควรเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ค่อนข้างรุนแรง ภาครัฐมีมาตรการเข้ม หลายพื้นที่ปิดหมู่บ้าน ปิดอำเภอ ห้ามคนนอกเข้าออก
“เปรียญสิบ” มีความจำเป็นต้องเดินทางมาหาข้อมูลการทำโคก หนอง นา ของกรมการพัฒนาชุมชน ตามความต้องการของ “พี่เก่ง” คุณสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ว่าที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งคิดว่า
ท่านคงต้องการฟังเสียงสะท้อนจากพื้นที่จริงของชาวบ้าน คนทำโคก หนอง นา ว่ามีปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้าง ทำแล้วชอบหรือไม่ชอบ ประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน มันตอบโจทย์ให้กับชุมชน วิถีชาวบ้านได้อย่างไร โดยเฉพาะในห้วงสถานการณ์โควิดแบบนี้ นโยบายการขับเคลื่อนโคก หนอง นา มันตอบโจทย์ สร้างความมั่นคงเรื่องอาหารให้กับครัวเรือนและชุมชน ได้จริงหรือไม่ มีข้อเสนอแนะให้ภาครัฐแก้ไขปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้าง..
พื้นที่เป้าหมายคือ “อำเภอแม่แจ่ม” จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากอำเภอแม่แจ่มเป็นพื้นที่ที่ประชาชนให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมทำโคก หนอง นา มากที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ ขนาด 1 ไร่เดิมลงทะเบียนไว้ 1,396 ราย ซึ่งตอนนี้ขุดสระไปแล้ว 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ ขนาด 15 ไร่มีถึง 7 แปลง
ที่นี่ขนาด 1 ไร่ค่อนข้างมีปัญหาเนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวน การขออนุญาตและการชี้พิกัดอาจล่าช้า เท่าที่ถามชาวบ้านพิกัดแปลงขอไม่ตรงกับพิกัดของทางกรมป่าไม้ ทางกรมป่าไม้ก็ไม่สามารถอนุญาตให้ได้ หรือบางแห่งรถแมคโครขุดไม่ได้เนื่องจากพื้นที่ลาดชัน เกษตรกรจึงจำใจต้องยอมถอยขอคืนหลายร้อยราย
ส่วนขนาด 15 ไร่เท่าที่สำรวจดูขุดเรียบร้อยหมดแล้ว เหลืออีก 1 แปลง อยู่บนเทือกเขาที่กรมป่าไม้อนุญาตแล้ว แต่รถแมคโครยังขึ้นไม่ได้ ทางกรมการพัฒนาชุมชนกำลังหาทางสนองความต้องการของชาวบ้านอยู่ว่า จะหาทางขุดอย่างไร
“อำเภอแม่แจ่ม” เป็นถิ่นห่างไกลจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่กว้าง สภาพภูมิศาสตร์เป็นหุบเขาน้อยใหญ่ล้อมรอบ มองลงจากดอยอินทนนท์เหมือนแอ่งกระทะ ประชาชนกรส่วนใหญ่เป็นชนชาติ กะเหรี่ยง ม้ง ละว้า ส่วนใหญ่คนที่นี้ทำเกษตรกรรมปลูกข้าวโพด ผักกาด และผักผลไม้ต่าง ๆ มีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้าน โดยเฉพาะโครงการหลวง ตั้งอยู่หลายแห่ง ที่นี้จึงเป็นพื้นที่หนึ่งที่รัฐบาลประกาศให้เป็นพื้นที่พิเศษในการแก้ไขปัญหาหมอกควัน สภาพแวดล้อม และเพื่ออยู่ดี มีสุข ของประชาชน
การเดินทางจากจังหวัดลำพูนไปแม่แจ่มใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง มีทางเก่าและทางใหม่ ทางใหม่ผ่านดอยอินทนนท์ ถนนค่อนข้างดีแต่ลาดชัน ยิ่งตอนใกล้ถึงดอยอินทนนท์ต้องแยกไปทางแม่แจ่มถนนคับแคบ ลาดชัน มีถนนหักศอกหลายแห่ง มีเหวลึก หากท่านใดจะไปต้องระมัดระวังเช็คสภาพรถให้ดี
แม่แจ่มเป็นอำเภอเดียวของจังหวัดเชียงใหม่ ที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ ก่อนถึงตัวแม่แจ่ม จะมีด่านคัดกรองอย่างเข้มงวด รถทุกคันต้องจอด หากคนนอกพื้นที่ต้องไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ก่อน ซึ่งนายอำเภอ เจ้าหน้าที่และประชาชนที่นี้ทำงานแบบบูรณาการเรื่องนี้อย่างเข็มแข็ง ซึ่งเราในฐานะคนนอกพื้นที่ก็รู้สึกดีและปลอดภัย
อากาศฤดูฝนแม่แจ่ม มีทิวทัศน์สวยงาม รอบไปด้วยเทือกเขา มีบ้านเรือนตั้งอยู่บนเนินเขา พื้นที่ราบลุ่มมีไร่สวนผักกระจายอยู่ทั่วไป อากาศเย็นสดชื่น หากเปรียบเทียบก็เหมือนประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ฉันใดก็ฉันนั้น
หลังเจอด่านแล้ว ลงทะเบียนเรียบร้อย ภายใต้การอำนวยการของ คุณบุญลือ ธรรมธนารุรักษ์ นายอำเภอแม่แจ่ม และพัฒนาการอำเภอแม่แจ่ม เปรียญสิบถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลแม่แจ่ม เพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19
สัปดาห์หน้าจะมาเล่าสู่กันฟังต่อว่า การทัวร์แบบนกขมิ้นในภาคเหนือเพื่อหาข้อมูลจากประชาชนในพื้นที่จริง ในการทำโคก หนอง นา ประชาชนเขาคิดอย่างไร เขาได้อะไร และตอบโจทย์วิถีชีวิตเขาได้อย่างไรบ้าง และทั้งเขาอยากเสนอแนะอะไรต่อภาครัฐ สัปดาห์หน้าเจอกันใหม่ครับ..
……………………..
คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง
โดย…“เปรียญสิบ” : [email protected]
Leave a Reply