ข่าวเกี่ยวกับคณะสงฆ์ในปีพุทธศักราช 2561 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปนี้ ถือว่าเป็นปีที่คณะสงฆ์ประสบกับปัญหา “วิกฤติศรัทธา” เป็นประวัติการณ์ทั้งที่เกิดจากพระสงฆ์เองและปัจจัยจากภายนอก ตลอดปี 2561 วงการคณะสงฆ์มีทั้งเรื่องสมหวัง ผิดหวัง หดหู่เศร้าใจ และสะเทือนใจ การสรุปที่สุดแห่งข่าวตลอดปี 2561 ของคณะสงฆ์เป็นการรวบรวมจำนวน 10 ข่าวที่กองบรรณาธิการคิดว่าน่าสนใจที่สุด โดยจะเรียงลำดับจากข่าวพระสงฆ์ที่น่าสนใจน้อยที่สุดไปสู่ข่าวที่สังคมให้ความสนใจมากที่สุดจากอันดับ 10 ไปสู่อันดับ 1 โปรดติดตาม..
ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์
พระพรหมวชิรญาณ ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ มหาเถรสมาคม ได้แสดงเจตนารมณ์ต่อที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 10 พ.ศ.2560 ประกาศใช้ “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560” และต่อมาในเดือนสิงหาคม 2561 พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี คิกออฟ “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์” ก่อนขยายไปทั่วประเทศในปี 62 อาศัยหลัก “บ้าน วัด โรงเรียน” ร่วมกับคณะสงฆ์โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม ขับเคลื่อนหวังฟื้นสถาบันศาสนาเป็นเสาหลักให้สังคม พร้อมทั้งกำเนิด ” 1 วัด 1โรงพยาบาล/รพ.สต.” โดยกำหนดให้วัดที่มีความพร้อมต้องมี พระคิลานุปัฏฐากประจำวัดอย่างน้อยวัดละ 2 รูป เป็นพระคิลานุปัฏฐาก หรือ พระ “อสว.” ซึ่งยังมีการขับเคลื่อนเรื่องอื่นๆ เช่น สิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพของพระสงฆ์ กุฏิสงฆ์อาพาธ กองบุญสุขภาวะพระสงฆ์ ระบบข้อมูลสารสนเทศด้านสุขภาพพระสงฆ์ เป็นต้น
การประกาศใช้ ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 นับเป็นความสำเร็จ “ก้าวแรก” ของการปฏิรูปสุขภาวะในพระพุทธศาสนา
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม
วัดสามพันธวงศ์ มรณภาพ สิริอายุ 101 ปี
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ มีนามเดิมว่า กงมา ก่อบุญ (ภายหลังพระอุปัชฌาย์เปลี่ยนชื่อให้เป็นมานิต) กำเนิดเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2460 ที่บ้านบ่อชะเนง ต.หนองแก้ว อ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี
บรรพชาที่วัดบ้าน บ่อชะเนง มีโอกาสออกธุดงค์ติดตามพระธุดงค์กัมมัฏฐานสายพระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่น พระอาจารย์สิงห์ ไปยังเขตจังหวัดอุบลราชธานี ก่อนญัตติเป็นสามเณรธรรมยุต มีพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ.2479 เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ศึกษา เล่าเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดสัมพันธวงศ์ อยู่ในกำกับดูแลของพระเนกขัมมมุนี (ภายหลังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพปัญญามุนี อดีตเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์)
อุปสมบท เมื่อวันที่ 8 พ.ค.2480 ที่พระอุโบสถวัดสัมพันธวงศ์ มี พระมหารัชชมังคลาจารย์ (เทศ) เจ้าอาวาส เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครู สุวรรณรังษี (สุวรรณ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูปลัดเส็ง ทินนวโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังอุปสมบท ได้มุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.2481 สามารถสอบได้นักธรรม ชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ พ.ศ.2499 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค
พ.ศ.2546 ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ.2514 เป็นเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์และเป็นพระอุปัชฌาย์
สมณศักดิ์ วันที่ 5 ธ.ค.2544 ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ในปี พ.ศ.2560 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เจริญอายุวัฒนมงคลครบ 100 ปี
“สมเด็จพระมหาวีรวงศ์” (มานิต ถาวโร) เป็นพระเถระที่มีอายุสูงสุดในมหาเถรสมาคม และเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่มีอายุถึง 100 ปี เป็นรูปที่ 4 ในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทย
คืบหน้าปฎิรูปกิจการพระพุทธศาสนา 6 ด้าน บวก 1
มหาเถรสมาคมและรัฐบาล “เห็นชอบการปฎิรูปรูปคณะสงฆ์ 6 +1 คือ 1) ด้านการปกครอง 2) ด้านการศาสนศึกษา 3) ด้านการศึกษาสงเคราะห์ 4) ด้านการเผยแผ่ 5) ด้านการสาธารณูปการ 6) ด้านการสาธารณสงเคราะห์ และบวกด้านการพัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก..”
ต่อมามหาเถรสมาคมเห็นชอบ แผนปฎิบัติการเพื่อปฎิรูปกิจการพระพุทธศาสนา 13 โครงการ ซึ่งปฎิบัติการมาตั้งแต่ปี 60-64 และ มส.เห็นชอบเพิ่มเติมตามสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ขอให้ มส.มีมติแบบเร่งด่วนอีกรอบ ใน 4 โครงการ คือ หนึ่ง การทำฐานข้อมูลพระภิกษุ สามเณรทั่วประเทศตอนได้ 70% แล้ว สอง การทำบัตรสมาทการ์ดเพื่อสิทธิผลประโยชน์ของพระภิกษุ – สามเณร ตอนนี้ได้ 65 % สาม การทำวัด ด้วยกิจกรรม 5 ส. ซึ่งต่อมาพัฒนามาเป็นวัดประชารัฐในปี 61 มีวัดเข้าร่วม 1,500 วัด และ สี่ การทำบัญชีรายรับรายจ่ายของวัด ได้ประมาณ 55% การปฎิรูปพระพุทธศาสนาคร้ังประวัติศาสตร์ในครั้งนี้ เป็นการปฎิบัติการภายใต้สโลแกน “ให้พุทธศาสน์มั่นคง ดำรงศีลธรรม นำสังคมสู่สันติสุขอย่างยั่งยืน” แต่ก็ไม่พ้นคำติฉินนินทาว่า “ทำอยู่ในกรอบเดิมและเป็นงาน routine มิใช่การปฎิรูปที่แท้จริง”
พระพรหมบัณฑิต ศ.ดร. ฉายา ธมฺมจิตฺโต เป็นชาวจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ (พระราชาคณะรองสมเด็จ) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เจ้าคณะภาค 2 และกรรมการมหาเถรสมาคม อาจารย์ประจำหลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
อดีตอธิการบดี มจร รูปนี้เป็นพระนักวิชาการ นักบริหาร นักการศึกษา นักเทศน์และนักเขียน ผู้มีผลงานมากมายทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เป็นพระสงฆ์ไทยรูปแรกที่ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลและดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากหลายสถาบัน และเป็นราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญา เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 5 สมัย (วาระละ 4 ปี ) ได้ก่อสร้างสำนักงานใหญ่ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานผู้ก่อตั้งสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติและประธานผู้ก่อตั้งสภาสากลวันวิสาขบูชาโลกที่ได้รับฐานะเป็นองค์กรที่ปรึกษาพิเศษขององค์การสหประชาชาติ
การลาออกจากตำแหน่งของพระพรหมบัณฑิต ถือว่าช๊อคในวงการการศึกษาคณะสงฆ์ไทย เพราะไม่มีสัญญาณอะไรเป็นพิเศษว่าท่านจะลาออกจากตำแหน่ง หลังการลาออกท่านพูดเพียงแต่ว่า “เพื่อเปิดโอกาสให้รองอธิการรูปอื่น มีโอกาสบ้าง”
ในวันที่ 17 ส.ค. 61 พระราชประยัติกวีรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ท่ามกลางมีเสียงกระซิบแว่วมาว่า ศึกชิงตำแหน่งอธิการบดีก่อให้เกิดขึ้นหลายก๊กใน มจร และ หลังจบศึกชิงบัลลังค์เสร็จต้องมีการขอขมากันเลยทีเดียว..
ปฎิรูปการศึกษาพระสงฆ์ “ก้าวหน้าอีกขั้น”
วันที่ 26 พ.ย. 61 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ… ตามที่มหาเถรสมาคมเสนอขอความเห็นชอบเพื่ออนุมัติ
ในวันอังคารที่ 25 ธ.ค. 61 ในวันคริสต์มาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เตรียมนำเข้าพิจารณาเพื่อรับหลักการในสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป สำหรับร่างพระปริยัติธรรม ถือว่าเป็นความก้าวหน้าการปฎิรูปของคณะสงฆ์ด้านการศาสนศึกษา ที่มหาเถรสมาคมเห็นชอบให้มีการปฎิรูป
โดยแม่งานหลักในการประสานงานกับรัฐบาลและสภานิติบัญญัตแห่งชาติคณะสงฆ์จำต้องยกความดีความชอบแด่ พระราชวรมุนี รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต จาก มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) และพระมหาฉัตรชัย สุฉตฺตชโย คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย (มมร) รวมทั้งคณะผู้บริหารจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติอาทิ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ เป็นต้น ทั้งหมดคือ “บุคคลในประวัติศาสตร์” ในวงการศึกษาคณะสงฆ์
“โล้นนิพนธ์” มีเมีย 7 คน แบ่งหน้าที่คุมวัดเบ็ดเสร็จ
พระครูภาวนาโสภิต หรือ พระครูปลัดนิพนธ์ ธัมมทีโป อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าปฐมชัย เป็นเจ้าอาวาสวัดชื่อดังสายวัดป่าในจังหวัดนครปฐมถูกข้อกล่าวหา เรื่องการเสพเมถุน ยักยอกทรัพย์ และข้อสงสัยต่อการบริหารจัดงานด้านการเงินภายในวัด ซึ่งได้มีการเข้าร้องต่อกองปราบปราม ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครปฐม และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจังหวัดนครปฐม
หนังสือพิมพ์ผู้จัดการที่เกาะติดเรื่องนี้อ้างว่า โล้นนิพนธ์ มีเมีย 7 คน ทั้งแอร์โฮสเตสสายการบินดัง ทั้งพยาบาล แฉยิบแบ่งหน้าที่เมียดูแลวัดป่าเบ็ดเสร็จ ซึ่งต่อมา “อดีตพระครูปลัดนิพนธ์ได้ลาสิกขา” หายเข้ากลีบเมฆ และมีข่าวปฎิเสธจากสีกาที่เป็นข่าวทั้งหลายว่า “มิได้เป็นเมีย”
กองปราบรวบ 8 ผู้บริหารสำนักพุทธ ฯ ทุจริต “เงินทอนวัด”
เช้าตรู่วันที่ 1 ส.ค. 61 กองปราบบุกรวบผู้บริหารระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตงบประมาณแผ่นดิน “เงินทอนวัด” จำนวน 8 ท่าน ประกอบด้วย
1.นายพนม ศรศิลป์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
2.นายชยพล พงษ์สีดา อดีตรอง ผอ.พศ.
3.นายบุญเลิศ โสภา อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดกาญจนบุรี
4.นายแก้ว ชิดตะขบ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสมุทรสงคราม
5.นายพัฒนา สุอำมาตย์มนตรี อดีตเจ้าหน้าที่พระพุทธศาสนาจังหวัดนครปฐม
6.นายณรงค์เดช ชัยเนตร อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสิงห์บุรี
7.นางพรเพ็ญ กิติธรางกูร อดีตนักวิชาการศาสนาชำนาญการ
8.นายวสวัสดิ์ กิตติธีระสิทธิ์ อดีตผู้อำนวยการส่วนบูรณะพัฒนาวัด
ปัจจุบันทั้ง 8 ท่านยังถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ
วันที่ 5 ก.ค. 61 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณา ร่างแก้ไขพ.ร.บ.สงฆ์ 2505 (ฉบับที่4 ) ว่าด้วยการถวายคืนพระราชอำนาจแต่งตั้ง “กรรมการมหาเถรสมาคม” และที่ ประชุมสภานิติบัญญัตแห่งชาติมีมติเอกฉันท์ผ่าน 3 วาระรวด ซึ่งสาระสำคัญของกฎหมายคือ มาตรา 3 ที่บัญญัติว่า “เพื่อให้การอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาตลอดจนการดูแล การปกครองคณะสงฆ์เป็นไปเพื่อส่งเสริมการเผยแพร่หลักพระพุทธศาสนาให้เกิดการพัฒนาจิตใต และปัญญา และมีการรักษาพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ดีงาม โดยเคร่งครัด เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป พระมหากษัตริย์จึงทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง สถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ และแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม..”
และเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก และตามโบราณราชประเพณีที่ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านานนั้น พระมหากษัตริย์ทรงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา รวมทั้งทรงทำนุบำรุงสังฆมณฑลให้เจริญมั่นคงเป็นไปตามแบบแผนอันเรียบร้อยตลอดมา เพื่อให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองถาวรเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชน ซึ่งจะก่อให้เกิดการประพฤติปฏิบัติที่ดีงาม มีความร่มเย็นผาสุกแก่ประชาชนและเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ สมควรบัญญัติกฎหมายให้เป็นการสืบทอดและธำรงรักษาไว้ซึ่งพระราชอำนาจตามโบราณราชประเพณี จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
วันที่ 16 ก.พ. 61 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ใช้ คำสั่งคสช.ตามมาตรา 44 ให้พื้นที่บริเวณวัดพระธรรมกาย ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เป็นเขตพื้นที่ควบคุมพิเศษ ป้องกันไม่ให้มีบุคคลเข้าไปในพื้นที่ และผลักดันผู้เกี่ยวข้องที่อยู่ในวัดออกนอกพื้นที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าไปตรวจค้น พร้อมควบคุมตัวพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา คดีพิเศษเลขที่ 27/2559 ในข้อหาสบคบและร่วมกันฟอกเงินและร่วมกันรับของโจร
และในการบุกค้นในครั้งนี้มีการ ตัดสัญญาณโทรศัพท์คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า หน่วยงาน DSI พร้อมทหาร ตำรวจ หน่วยมั่นคง ใช้กำลังในการบุกค้นครั้งนี้ประมาณ 3,000 นาย สุดท้าย..ไม่เจอพระธัมมชโย
กองปรามบุกรวบรองสมเด็จ 3 รูป และพระพุทธอิสระ
ข่าวที่สะเทือนจิตใจชาวพุทธมากที่สุดในประวัติศาสตร์ศาสนพุทธในประเทศไทย คงไม่มีข่าวไหนเทียบเท่า เช้ามืดในวันที่ 24 พ.ค.61 หน่วยคอมมานโดพร้อมอาวุธครบมือบุกค้นวัดจับกุมพระระดับรองสมเด็จ และมหาเถรสมาคม 3 รูป ประกอบด้วย หนึ่ง พระพรหมดิลก สอง พระพรหมสิทธิ และสาม พระพรหมเมธี และอีกรูปคือ พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม หรือ พระพุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม
ปัจจุบัน อดีตพระพรหมดิลก อดีตพระพรหมสิทธิ ถูกจับสึกและอยู่ในคุก ส่วน พระพรหมเมธี หนีไปต่างประเทศ ส่วนอดีต พระพุทธอิสระ ได้รับการประกันตัว ปฎิบัติธรรมแบบ “นุ่งขาวหุ่มขาว”
ปฎิบัติการครั้งประวัติศาสตร์ครั้งนี้วงการชาวพุทธกลุ่มหนึ่งให้ชื่อว่า “ปฎิบัติการเบี้ยแลกขุน”
//////////////////////////////////
Leave a Reply