นักวิชาการมอง วิทยาลัยสงฆ์  “เปิดมากคนเรียนน้อย-รีดเงินบริจาค-คุณภาพอ่อน”

วันที่ 24 มิถุนายน 2568    รศ.ดร.อภิญญาวัฒน์ โพธิ์สาน คณะมนุษศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้โพสต์เฟชบุ๊คส่วนตัว Apinyawat Phosan   ว่า  วิทยาลัยสงฆ์ กับสภาพคนเรียนน้อยและคุณภาพการศึกษา มีรายละเอียดดังนี้

วิทยาลัยสงฆ์ คือหน่วยงานย่อยของมหาวิทยาลัยสงฆ์ ที่เปิดสอนอยู่ในต่างจังหวัด ซึ่งบางแห่งตั้งอยู่ติดกันในจังหวัดใกล้เคียงกัน เช่น จังหวัดขอนแก่น จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น ในภาคอีสาน โดยมักมีเจ้าคณะจังหวัด (จจ.) ที่มีความรู้ระดับปริญญาตรี ได้รับการแต่งให้ดำรงตำแหน่ง “ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์ (ผอ.วส.)”

การเปิดอยู่ใกล้กันในจังหวัดใกล้เคียงกัน แม้ว่าจะดีในแง่สะดวกแก่พระสงฆ์ผู้เรียนสนใจมาเรียนรู้และประชาชนทั่วไป แต่พระสงฆ์ ที่ปัจจุบันมีผู้บวชน้อยลงเรื่อย ๆ ด้วยมีประชาชนไทยเกิดน้อย และโอกาสทางการศึกษาก็เปิดกว้างมากขึ้นในมหาวิทยาลัยทางโลกและมีชื่อเสียงกว่า จึงทำให้ผู้เข้ามาศึกษาในวิทยาลัยสงฆ์มีสถิติน้อยลงทุกปีๆ อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อมีผู้เข้าเรียนน้อย รายได้จากค่าลงทะเบียนย่อมน้อยตามไปด้วย จะทำอย่างไรให้การบริหารงานวิทยาลัยสงฆ์และอาคารที่ก่อสร้างเป็นไปได้ บางแห่งจึงใช้ระบบ “รีดเงินบริจาค” จากพระสงฆ์ระดับเจ้าอาวาสในจังหวัด โดยให้แต่ละอำเภอจัดเก็บเงินและนำส่งจังหวัด เพื่อนำเงินส่งมอบให้วิทยาลัยสงฆ์ใช้เป็นทุนในการบริหารวิทยาลัยสงฆ์และเป็นทุนในการก่อสร้างอาคารของวิทยาลัยสงฆ์

ภาวะที่มีพระเณรและฆราวาสเข้ามาเรียนน้อยในวิทยาลัยสงฆ์ต่างๆ ปรากฏให้เห็นชัด เริ่มมีให้เห็นมากขึ้นในปัจจุบัน จนอาจารย์จากวิทยาลัยสงฆ์ท่านหนึ่งในภาคเหนือ พูดให้ผู้เขียนฟังว่า ปีนี้วิทยาลัยสงฆ์มีผู้เรียนใหม่ทั้งหมดในทุกสาขาวิชาที่เปิดสอนเพียง 50 รูป/คนเท่านั้น จะทำอย่างไร และจะอยู่ได้ยั่งยืนอย่างไร วิทยาลัยเปิดกันมากและตั้งอยู่ติดกันในจังหวัดใกล้เคียง เช่น จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดพิจิตร จังหวัดเพชรบูรณ์ จะหาพระเณรที่ไหนมาเรียน เป็นไปได้ว่า วิทยาลัยสงฆ์ที่อยู่ใกล้เคียงติดกันคงต้องถูกยุบรวม เหมือนอย่างที่โรงเรียนเคยถูกยุบรวมและได้เป็นมาแล้ว

ใช่แต่ว่าจำนวนนิสิตที่เข้าเรียนน้อยเท่านั้น แต่คุณภาพทางการศึกษาของนิสิตที่เข้าเรียนในวิทยาลัยสงฆ์บางแห่งก็ยังอ่อนด้อยคุณภาพอีกด้วย ผู้เขียนได้รับคำบอกเล่าจากเจ้าอาวาสบางรูปและนิสิตที่เข้าเรียนบางรูป/คนว่า อาจารย์ที่ได้รับบรรจุให้เป็นอาจารย์สอนด้อยคุณภาพ เปิดหนังสือสอนหรืออ่านตามหนังสือให้นิสิตฟัง ไม่มีการสอนให้คิดเป็นวิเคราะห์เป็น และยังไม่ค่อยเข้าสอนในชั่วโมงสอนด้วย ทั้ง ๆ ที่นิสิตมาเรียนอย่างมีความกระหายใคร่เรียนรู้ จึงทำให้ปรากฏผลว่า นิสิตที่มาเข้าเรียนในวิทยาลัยสงฆ์บางแห่ง ไม่มีความรู้ในหัว เจ้าอาวาสสอบภามอะไร ก็ตอบไม่ได้ มีลักษณะกุ๊กๆ กั๊กๆ ไม่สมภูมิของการเป็นบัณฑิตเลย เสียงแว่วดังมามีหนาหูให้ได้ยินจากเจ้าอาวาสและนิสิตผู้เข้าเรียนมากขึ้นๆ ในปัจจุบัน

ความไม่โปรงใสในการใช้เงินจากเงินที่รีดบริจาคมาจากพระสงฆ์ในจังหวัด ที่ซึ่งมีวิทยาลัยสงฆ์บางแห่งตั้งอยู่ คุณภาพของอาจารย์ที่ได้รับการบรรจุเข้าไปเป็นอาจารย์ผู้สอนที่มักมาจากความเป็นพรรคพวกกันและผูู้มีหัวอ่อนควบคุมง่าย แต่ความรู้ในหัวอ่อนด้อย และคุณภาพด้อยของผู้เรียนหรือบัณฑิต ล้วนสะท้อนคุณภาพของการจัดการศึกษาของวิทยาลัยสงฆ์ ที่จะทำให้พระสงฆ์และผู้สนใจ อยากเข้ามาเรียนหรือไม่อยากเข้ามาเรียน นี่ไม่รวมพระเณรที่มีน้อยลงเรื่อย ๆ ในทุกปี

Leave a Reply