วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม 2565 เวลา 09:00 น. ที่ศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา” นายบัญชา ราษีมิน บ้านเจริญศิลป์ หมู่ที่ 1 ต.เจริญศิลป์ อ.เจริญศิลป์ จ.สกลนคร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมพบปะและทำกิจกรรมเอามื้อสามัคคี เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2565 โดยมี นางจุรีรัตน์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร นายชานน วาสิกศิริ นายชูศักดิ์ รู้ยิ่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร นายปัญญา ศรีสมยา กรรมการศูนย์ผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชน ต.วานรนิวาส นายบัญชา ราษีมิน ที่ปรึกษาศูนย์เรียนรู้โคกหินแห่โมเดล นายศุภมิตร ชัยนา ประธานศูนย์เรียนรู้โคกหินแห่โมเดล พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ข้าราชการ และภาคีเครือข่ายโคก หนอง นา ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร และได้รับเมตตาจากพระครูวีรธรรมสุนทร เจ้าอาวาสวัดศิริราษฎร์วัฒนา ร่วมกิจกรรม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาประชาราษฎร คือ “คนไทยทุกคน” รวมถึงมวลมนุษยชาติ ซึ่งเรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องสำคัญที่สุด คือ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่มากกว่า 40 ทฤษฎี นำมาสู่การขับเคลื่อนให้พี่น้องคนไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญในการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำพระราชปณิธานดังกล่าวมาขยายผลในทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ เพราะในท้ายที่สุด เมื่อ 1 ครอบครัวทำโคก หนอง นา จะสามารถเลี้ยงคนได้ 1 ชุมชน เมื่อ 1 ชุมชนทำ จะสามารถเลี้ยงคนได้ 1 หมู่บ้าน เมื่อ 1 หมู่บ้านทำ จะสามารถเลี้ยงคนได้ 1 ตำบล เมื่อ 1 ตำบลทำ จะสามารถเลี้ยงคนได้ 1 อำเภอ เมื่อคน 1 อำเภอทำ จะสามารถเลี้ยงคนได้ 1 จังหวัด เมื่อคน 1 จังหวัดทำ จะสามารถเลี้ยงคนได้ 1 กลุ่มจังหวัด เมื่อคน 1 กลุ่มจังหวัดทำ จะสามารถเลี้ยงคนได้ 1 ภาค เมื่อคน 1 ภาคทำ จะสามารถเลี้ยงคนได้ 1 ประเทศ และเมื่อคนทั้งประเทศทำโคก หนอง นา เราก็จะเป็นครัวโลกที่สามารถเลี้ยงดูคนทั้งโลกได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นเรื่องจริง ที่ต้องเริ่มจาก “ตัวพวกเรา” ก่อน
“กระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา มาขับเคลื่อนร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคประชาชน ซึ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยได้เข้าไปช่วยปรับปรุงพื้นที่ให้พี่น้องประชาชนประชาชนได้มากกว่า 50,000 ครอบครัว ทำให้สามารถเห็นเป็นรูปธรรมได้จริงว่า “โคก หนอง นา” ช่วยพี่น้องประชาชนได้เยอะมาก เพราะทำให้ชาวบ้านมีพื้นที่ในการเก็บน้ำเพื่อการเกษตร ในหนองก็มีปลา สัตว์น้ำ ที่จะเป็นแหล่งอาหาร ถัดสูงขึ้นมาก็มีนา คือ ปลูกข้าว พ้นจากปลูกข้าว ปลูกข้าวโพด ปลูกพืชใช้น้ำน้อย สูงขึ้นมาหน่อยก็มีไม้ผล มีกล้วย มีอ้อย ขึ้นไปบนโคก ก็มีไม้ 5 ระดับ สูง กลาง ต่ำ เตี้ย เรี่ยดิน หัวใต้ดินก็มี ซึ่งก็คือป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ได้แก่ มีป่าที่ใช้กินได้ เรียกว่า “พอกิน” เป็นอาหาร พวกผลไม้ต่างๆ ทุเรียน เงาะ มะพร้าว สะตอ ถัดมา เป็น “พอใช้” คือไม้ใช้สอย ไม้ที่ “พอใช้” คือ เอาไว้สร้างบ้าน ทำโต๊ะ เก้าอี้ ทำเครื่องมือเครื่องไม้ใช้สอยทางการเกษตร และทำฟืน ทำเชื้อเพลิงได้หมด ต่อจากนั้นคือ “พออยู่” ปลูกไม้ไผ่ ไม้สัก ประดู่ 10 ปีก็โตเอามาสร้างบ้านได้ ซึ่งไม้ทั้ง 5 ระดับ ช่วยลดปัญหาโลกร้อนนอนใต้ต้นไม้เย็นสบาย ดินก็ชุ่มชื้น เพราะช่วยกรองแสงแดด ฉะนั้น ไม้ 5 ระดับ ก็ถูกสรุปมาว่า จะทำให้ พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น และยังสามารถเลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ได้ และเมื่อทำแล้ว ก็ได้รับผลตอบแทนที่ดีมาก มีกินมีใช้ และสุขภาพร่างกายแข็งแรง ทำให้มีความสุขขึ้น เพราะมีทุกอย่าง จากเดิมทำไร่ ทำนา อยู่ในพื้นที่สี่เหลี่ยมเรียบ ๆ แต่ตอนนี้เหมือนอยู่ในรีสอร์ต ที่ดินปรับรูปให้สวยงาม มีความสูง ๆ ต่ำ ๆ ต้นไม้ก็มีหลากหลาย มีความเขียวขจี สุขภาพจิตดีขึ้นมาก เหมือนเป็นเจ้าของรีสอร์ตกันทุกบ้าน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวอีกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญและทรงแน่วแน่ในการน้อมนำเอาแนวคิด หลักคิด วิธีการ มาเผยแพร่เพื่อให้พสกนิกรของพระองค์ท่านมีความสุขอย่างยั่งยืนโดยแท้ ผ่านการพระราชทานภาพฝีพระหัตถ์เกี่ยวกับโคก หนอง นา ในหลายภาพ และพระราชทานข้อความที่เกี่ยวข้องผ่านข้อความสั้น ๆ ชัดเจน เช่น “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” อันหมายความว่า การน้อมนำโคก หนอง นา มาดำเนินการจะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่คนไม่ทอดทิ้งกัน คนจะเอื้อเฟื้อ รักใคร่ ช่วยเหลือ ซึ่งกันและกัน เช่น คนจะมาเอามื้อสามัคคี ช่วยกันผลิตผลในแปลง เอามาแบ่งปันให้คนที่เดือดร้อนหรือไม่มีจะได้กินได้ใช้ ได้นำเอาผลผลิตไปทำบุญ อันแสดงออกซึ่งความมีน้ำใจ ส่วนความหวัง คือ ถ้าน้อมนำมาใช้จะทำให้เรามีความสุข อาทิ ภาพ Happy Farmer happy Family สะท้อนถึงการเป็นเกษตรกรที่มีความสุข เป็นผู้มีครอบครัวที่มีความสุข นอกจากนี้พระองค์ท่านได้ทรงประยุกต์ไปสู่หลักสูตรฝึกอบรมจิตอาสาพระราชทาน และพระราชทานให้ข้าราชบริพารได้เรียนรู้ด้วยการ Learning by Doing ฝึกปฏิบัติการทำโคก หนอง นา โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเป็นต้นแบบ ทรงเป็นผู้นำ ในการลงมือปฏิบัติ ร่วมกับข้าราชบริพารของพระองค์ ดังปรากฏในภาพข่าวที่เผยแพร่ผ่านสื่อสารมวลชน อันเป็นภาพที่ย้ำเตือนพวกเราคนไทยทุกคน ในการร่วมกันสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ดังที่พระองค์ทรงน้อมนำมาขับเคลื่อนเพื่อประโยชน์ของประชาชน ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงพระกตเวทิตาคุณต่อสมเด็จพระบรมชนกนาถอย่างสูงสุด
คุณเอื้อง หนึ่งในภาคีเครือข่ายโคก หนอง นา ได้บอกเล่าความรู้สึกว่า ตั้งแต่เรียนจบชั้น ม.6 ก็ไปทำงานโรงงานเอกชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในสมัยก่อนพอตื่นขึ้นมาก็ไม่อยากทำอะไรเลย เพราะที่ทำงานเดิม ๆ ทำอะไรเดิม ๆ และเมื่อ 3 ปีก่อน ได้ตัดสินใจกลับมาที่บ้าน และได้สมัครเข้าร่วมโครงการโคก หนอง นา ของกรมการพัฒนาชุมชน และนำไปประยุกต์ใช้ในที่ดินแปลงของตนเอง พร้อมทั้งปรับปรุงให้ดีขึ้น นำพืชผักสวนครัวไปปลูก และขยายผลแบ่งปัน อะไรที่เรามีก็เอาไปให้คนอื่น ไม่มีก็มีคนอื่นมามอบให้ และที่บ้านยังวัว ควาย หมู เป็ด ไก่ ปลา ไก่งวง ไก่บ้าน ปลูกอะไรก็ออกผลผลิตเป็นจำนวนมาก ทุกวันนี้ตื่นขึ้นมาก็ไม่ต้องซื้อของกิน ไม่ต้องรีบร้อน มีเวลาไปเดินดูผักสวนครัว “ความสุขดีขึ้น มีเพื่อนฝูงมาดูงานเยอะ ว่างก็เพาะต้นไม้ ใครมาก็แจกอย่างเดียว”
โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้อัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง “อารยเกษตร” ที่ได้พระราชทานเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 ความว่า ““โคกหนองนา” นอกจากเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ทางด้านเกษตรกรรมแล้ว ยังเป็นศิลปะ เป็นแบบฝึกหัดที่ดี ในการที่จะรวมเกษตรที่หลากหลายให้มาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ในเวลาเดียวกัน รักษาความหลากหลาย แต่ความหลากหลายนั้นก็เกื้อกูลซึ่งกันและกัน … โคกหนองนา ความหมายดีอยู่แล้ว ก็คือเกษตรเพื่อความอุดมสมบูรณ์ เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน และชีวิตของพวกเรา เพราะว่าประเทศของเรานี้ไม่หนีเรื่องการเกษตรคือปากท้อง และเป็นชีวิตของเราตามพระบรมราโชบายของรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานมา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณมามากมายในเรื่องของเกษตร ในเรื่องของการพัฒนา อันนี้ก็เป็นการรวม หรือแสดงตัวอย่าง และเป็นตัวอย่างที่ใช้งานได้จริงๆ นำไปใช้ได้ ไม่ใช่เป็นโมเดลที่แสดงไว้ในตู้ อยู่คงที่ แต่เป็นโมเดลที่ใช้งานได้จริงๆ นำไปใช้ได้อย่างอ่อนตัว อย่างใช้งานได้จริงๆ แล้วก็หลากหลายได้ โคกหนองนานำความหลากหลายและความอ่อนตัวมารวม เพื่อใช้งานในเรื่องปากท้องและการเกษตรซึ่งเป็นเศรษฐกิจของเรา เพราะฉะนั้น ก็ขอชมเชยท่านทั้งหลายที่มีความคิด มีความกระตือรือร้น มีความรักในวิชาหรือรักในการเกษตร การนำเกษตรมารวมเป็นโคกหนองนานี้ ไม่ได้จะมาบอกว่าต้องทำเป็นแบบนี้ แบบนั้น มันมีหลักการกว้างๆ มีเป้าหมายที่แน่นอนคือ ความอุดมสมบูรณ์ ความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร และการเสริมคุณภาพชีวิต หัวใจคือคุณภาพชีวิตของเรา การเกษตร เป็นอาหาร เป็นสิ่งที่เป็นหลักของชีวิตของเรา นี่ก็คือคำว่า โคกหนองนาโมเดล คือหลากหลายแต่ก็มีหลักการ เป็นแบบนี้ แบบนั้น แต่หลักการก็ไม่ได้มาผูกมัดพวกเรา เรียกว่า Check List คือเป็นสิ่งที่พวกเราจะต้องนำมาพิจารณาไปสู่ความหลากหลาย และความสมบูรณ์ ของการเกษตรของประเทศ เป็นสิ่งที่น่ายินดีอย่างมากที่เราได้มีการคิด ริเริ่มที่จะมีโคกหนองนา ในพระราชวังดุสิต ในเขตนี้ ของพระราชวังดุสิต คือ พระที่นั่งวิมานเมฆ ซึ่งเป็นที่ประวัติศาสตร์ เพราะเคยเป็นที่ประทับของเจ้านายต่างๆ หลายพระองค์ แล้วเราก็มาพัฒนาพื้นที่ ของเดิมคือเป็นพระราชวังดุสิต แล้วจะไปถึงพระที่นั่งวิมานเมฆที่สวยงาม ย้ายพระตำหนักเรือนต้นมารวมกันในพื้นที่นี้ ก็คือความใส ความเป็นธรรมชาติ เรียกว่าความสะอาด ของสิ่งแวดล้อมและภาวะแวดล้อม เราหลีกเลี่ยงฝุ่นและมลภาวะแวดล้อมไม่ได้ แต่การที่เรามีน้ำ การที่เราปลูกต้นไม้ หรือการที่เราทำให้มีพื้นที่สีเขียว มีธรรมชาติขึ้นนั่นเอง ในเขตพระราชวัง ในกรุงเทพฯ ในเขตกรุงเทพมหานคร ก็เป็นของที่ดี ดังนั้น โคกหนองนาจึงเป็นการเสริมพื้นที่นี้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น พวกเราทุกคนก็ถือว่า สืบสาน ต่อยอด คือความต่อเนื่อง และการรู้ความเป็นมา การพัฒนาสืบสานต่อยอดให้ดียิ่งขึ้น แล้วก็ต้องรักษาประเพณี รักษาที่มาที่ไปของประเทศไทยไว้ ในยุครัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ในยุคนี้คือเกษตร เกษตรคือประเทศ ก็คือผืนดิน (Sustainable Agronomy) คืออารยประเทศ เกษตรประเทศ ก็คืออารยประเทศ ทำได้โดยประยุกต์หลายๆ ทฤษฎีที่ได้ทรงรับสั่งไว้…อารยะคือเจริญแล้ว เจริญแล้วก็ต้องเจริญในใจก่อน ประเทศเรารวยที่สุด คือ อารยธรรม เรียกได้ว่าเป็น ‘Cultural Heritage’ เมืองไทยมีวัฒนธรรม คนไทยใจดี มีเมตตา ธรรมะ ธัมโม มีความรู้เรื่องศาสนา มีศาสนาต่าง ๆ ที่รักษาไว้ ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะต่างๆ ที่รักษาไว้ วัฒนธรรมของเรามี ‘Culture’ หรือการเป็นคนไทย ประเทศอื่นไม่มี บ้านเรามีวัฒนธรรม มีความเป็นคนไทยเราจึงรอด แต่ไม่ใช่เราคร่ำครึ ประเทศที่มีวัฒนธรรมไม่ใช่เอาของต่างชาติมาใช้หมด เทคนิคของต่างชาติ เทคโนโลยีของต่างชาติก็ดี แต่เราก็ต้องนำมาใช้ให้เหมาะสมในบ้านเรา” อันสะท้อนให้เห็นว่า แนวพระราชดำริตาม “ศาสตร์พระราชา” ที่มีอยู่มากมายนั้น สามารถช่วยให้พสกนิกรชาวไทยมีความเป็นอยู่ที่ดี มีความสุข มีภูมิคุ้มกันที่ดี แม้ในยามวิกฤตก็สามารถพึ่งพาตัวเอง และพาตัวเองให้ก้าวผ่านวิกฤตไปได้
“ขอให้ทุกท่าน ณ ที่นี่ ได้เป็นขุนพลในการช่วยกันสร้างประเทศของเราให้เป็นประเทศมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นอารยะเกษตรที่คนในสังคมมีอารยธรรมความเป็นไทย มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความเมตตา รักสามัคคี ไม่ลืมศิลปะที่บรรพบุรุษมอบให้มา เพื่อเป็นการปฏิบัติบูชาน้อมถวายแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ และเพื่อตอบแทนบุญคุณของแผ่นดินไทย แผ่นดินเกิด ที่พวกเราทุกคนหวงแหน ด้วยการขับเคลื่อนขยายผลหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” อันจะส่งผลให้เกิดการธำรงรักษาผืนแผ่นดินไทยให้เป็นแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง เป็นสุวรรณภูมิของโลกที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว พร้อมส่งต่อถ่ายทอดองค์ความรู้สู่รุ่นลูก หลาน เหลน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย
Leave a Reply