วัดโสธรฯ เตรียมบูรณะปฎิสังขรณ์ “พระอุโบสถ” ปลัดเก่งนำชาวพุทธร่วมพิธี

วันนี้ (7 พ.ค. 67) เวลา 08.00 น. ที่พระอุโบสถโสธรวราราม วรวิหาร อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานฝ่ายฆราวาสในพิธีบวงสรวงเพื่อความเป็นสิริมงคล โครงการบูรณะปฏิสังขรณ์ พระอุโบสถวัดโสธรวราราม วรวิหาร เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยได้รับเมตตาจาก พระเทพภาวนาวชิรคุณ วิ. เจ้าอาวาสวัดโสธรวราราม วรวิหาร เจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ร่วมประกอบพิธี โดยมี นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายชาญวิชญ์ สิริสุนทรานนท์ สถาปนิกใหญ่ นายพิศุทธิ์ สุขุม วิศวกรใหญ่ กรมโยธาธิการและผังเมือง โอกาสนี้ นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา นายกำพล สิริรัตตนนท์ นางสาวฉัตรประอร นิยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา นายกิตติ เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายก องค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะอุบาสก อุบาสิกา พุทธศาสนิกชนและประชาชนชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา ร่วมพิธีจำนวนมาก

การนี้ พระเทพภาวนาวชิรคุณ วิ. เจ้าอาวาสวัดโสธรวราราม วรวิหาร เจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา ประธานฝ่ายสงฆ์ จุดธูปเทียนบูชาหลวงพ่อพระพุทธโสธร จากนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ประธานฝ่ายฆราวาส เปิดกรวยกระทงดอกไม้ถวายธูปเทียนแพ ถวายราชสักการะเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วกราบสักการะพระเทพภาวนาวชิรคุณ วิ. เจ้าอาวาสวัดโสธรวราราม วรวิหาร เจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา จากนั้นจุดธูปเทียนมงคลบูชาเทพยดา เครื่องสังเวย และปักธูปหางเครื่องสังเวย พระครูพราหมณ์ อ่านโองการบวงสรวงเทพยดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประกอบพิธีบวงสรวงเสร็จแล้ว โปรยข้าวตอกดอกไม้ที่โต๊ะเครื่องสังเวย เป็นอันเสร็จพิธี

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วัดโสธรวราราม วรวิหาร อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา จะดำเนินการบูรณะพระอุโบสถวัดโสธรวราราม วรวิหาร เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรับโครงการฯ ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้รับมอบหมายในการสำรวจ ออกแบบและจัดทำแบบรูปรายการเพื่อการบูรณะพระอุโบสถวัดโสธรวราราม วรวิหาร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย บรรลุวัตถุประสงค์ และถูกต้อง ตามหลักวิชาการ เพื่อเป็นศาสนสถาน ซึ่งประดิษฐานองค์หลวงพ่อโสธร พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองจังหวัดฉะเชิงเทรา และประเทศไทย อันเป็นที่เคารพบูชาของพุทธศาสนิกชนชาวไทยและทั่วโลก ยังความเป็นสรรพสิริมงคลอันไพศาลให้แก่พุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป และประการที่สำคัญที่สุด คือ การดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์ในครั้งนี้ เป็นความมุ่งมั่นตั้งใจของชาวกระทรวงมหาดไทยตลอดจนพุทธศาสนิกชนเพื่อที่จะร่วมถวายเป็นพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับประวัติวัดโสธรวราราม วรวิหาร เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางปะกง ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อพุทธโสธร พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 1.65 เมตร สูง 1.98 เมตร เป็นประติมากรรมฝีมือช่างล้านช้าง แต่เดิมหลวงพ่อพุทธโสธรประทับอยู่ในโบสถ์หลังเก่า ขนาดเล็กรวมกับพระพุทธรูปอื่นอีก 18 องค์ จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2509 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินมาที่วัดแห่งนี้ ได้มีพระราชปรารภ เรื่องความคับแคบของพระอุโบสถเดิม ทำให้พระพรหมคุณาภรณ์ (จริปุณโญ ด.เจียม กุลละวณิชย์) เจ้าอาวาสวัดโสธรวราราม วรวิหาร ในขณะนั้น จึงได้รวบรวมเงินบริจาคจัดซื้อที่ดินสำหรับสร้างพระอุโบสถหลังใหม่” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

“ทั้งนี้ เมื่อ พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ และทรงประกอบพิธียกยอดฉัตรทองคำ น้ำหนัก 77 กิโลกรัม ประดิษฐานเหนือยอดมณฑป เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2539 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาทรงตัดหวายลูกนิมิต เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2549 ซึ่งการก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ สร้างขึ้นครอบพระอุโบสถหลังเดิม โดยใช้เทคนิควิศวกรรมสมัยใหม่ โดยไม่มีการเคลื่อนย้ายองค์หลวงพ่อพุทธโสธร และพระพุทธรูปทั้ง 18 องค์ งานออกแบบด้านสถาปัตยกรรม โดยนายประเวศ ลิมปรังษี งานด้านวิศวกรรมโครงสร้าง โดย สำนักออกแบบนายอรุณ ชัยเสรี ศิลปะภายในพระอุโบสถหลวงพ่อพุทธโสธร ประกอบด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังโดยรอบนับตั้งแต่พื้นพระอุโบสถ เสา ผนัง และเพดานจะบรรจุเรื่องราวให้เป็นแดนแห่งทิพย์ เป็นเรื่องราวของสีทันดรมหาสมุทร จตุโลกบาล สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พรหมโลก ดวงดาว และจักรวาล” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

Leave a Reply