ณพลเดช เชื่อมี “การเมืองอยู่เบื้องหลัง” กรณีปลดเจ้าคณะจังหวัด อ้างสอบถาม มส.หลายรูปเพียงแค่ “รับทราบ”

วันที่ 3 ต.ค. 64   ดร.ณพลเดช มณีลังกา อนุกรรมาธิการฯพุทธศาสนาฯ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยกรณีมีเอกสารแจ้งที่ประชุม เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมาของมหาเถรสมาคม (มส.) เรื่องคำสั่งแต่งตั้งพระสังฆาธิการ 30 รูป และถอดถอน/แต่งตั้งใหม่เจ้าคณะจังหวัด 3 รูป โดยหนึ่งในนั้นมีพระเทพสารเมธีนั้น ดร.ณพลเดช กล่าวว่าจากที่ตนก็เคยบวชที่วัดบวรนิเวศวิหารเป็นลูกศิษย์ลูกหาในสายธรรมยุติ ได้มีเครือข่ายลูกศิษย์ลูกหาในพระเทพสารเมธี ที่เป็นลูกศิษย์สายธรรมยุติเช่นกันได้ร้องเรียนมายังตนถึงความไม่ชอบธรรมหลังการปลดครูบาอาจารย์ที่เขานับถือตนได้เพียงแต่แจ้งไปว่าไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตน

 ทั้งนี้ตนทราบอย่างซึ้งใจ หากพระอุปัชฌาย์อาจารย์ ที่เคยร่ำเรียนศึกษาอยู่ด้วยหากถูกปลดโดยพ้นวิสัยโดยไม่มีเหตุผล ตนก็จะออกมาปกป้องขอคำชี้แจงจาก มหาเถรสมาคมเหมือนลูกศิษย์วัดโสภณพัฒนาราม (วัดภูปูนในฝัน) จ.จังหวัดกาฬสินธุ์ เช่นกัน เพราะสิ่งนี้เป็นการสร้างความด่างพร้อยให้กับท่าน ลูกศิษย์ลูกหาบางส่วนมิได้เป็นเพียงบุคคลสามัญแต่กลับมีพระเถระที่ยกประเด็นขึ้นโดยอ้างถึงปฏิปทาการอยู่ในศีลในธรรมของพระเทพสารเมธี เป็นลูกศิษย์หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เป็นพระป่าสายพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ที่เป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ การปลดท่านโดยไม่มีอธิกรณ์จึงเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายสงสัย อีกทั้งมีการนำพระสงฆ์ที่จะมาเป็นเจ้าคณะจังหวัดแทน ชาวบ้านใช้คำว่า “โยกข้ามห้วย” เป็นพระจากจังหวัดหนองคายเป็นคนละจังหวัดกันไม่มีวิถีแห่งโบราณกาลเขาทำกัน

ดร.ณพลเดช กล่าวต่อไปว่า จากความเคลื่อนไหวของเจ้าคณะจังหวัดข้างต้น ตนได้ทราบในเชิงลึกว่ามีการเคลื่อนไหวเพื่อปลดก่อนหน้านี้กว่าหนึ่งเดือนแล้ว ทั้งนี้ตนยังหวั่นถึงการปลดทั้ง 3 เจ้าคณะจังหวัด ซึ่งมีข้อพิรุธหลายประการว่าอาจมาจากฝ่ายการเมืองอยู่เบื้องหลังในการปลดครั้งนี้ ด้วยเริ่มตั้งแต่การแก้พระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ 2505 ใน (ฉบับที่4) พ.ศ. 2561 มีการเพิ่มมาตรา 20/2 ทั้งวรรคหนึ่ง และวรรคสอง โดยมีผู้รับสนองพระราชโองการคือ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นกระบวนการนำเสนอชื่อไม่มีเสนอเจ้าคณะจังหวัดที่จะปลดและแต่งตั้งใหม่ผ่านมาเป็นลำดับชั้นเหมือนในอดีต แม้ชั้นของกรรมการมหาเถรสมาคมก็มิได้ทราบเรื่องแต่อย่างใด และที่น่าแปลกใจกว่านั้น การปลดเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราชและเชียงราย เป็นการแต่งตั้งโดยไม่ได้ปลดเจ้าคณะจังหวัดองค์เดิม ซึ่งการปลดก็ต้องใช้ระเบียบมหาเถรสมาคมที่ถือเป็นกฎหมายชนิดหนึ่งซึ่งมิใช่เป็นเรื่องง่ายในการปลดแล้วจะต้องทำอย่างไร อีกทั้งในการประชุมมหาเถรสมาคมครั้งที่ผ่านมา มีการแจ้งระเบียบวาระที่ 4 “เป็นเอกสารเรื่องเสนอเพื่อทราบ ในเรื่องการแต่งตั้งพระสังฆาธิการให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด” เพียงเท่านั้น

ทั้งนี้ตนได้สอบถามไปยังพระมหาเถรสมาคมหลายรูป ได้ทราบว่าประเด็นนี้ไม่ได้ลงมติแต่อย่างใด เพียงแต่บอกให้ทราบเฉยๆ และการบันทึกประชุมก็มีเพียงบอกว่า “ที่ประชุมรับทราบ” และมีการส่งไม้ไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเพื่อดำเนินการ ตนจึงเห็นว่าอาจมีฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงเพราะมีการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน ขณะนี้ตนได้ทราบถึงการเคลื่อนไหวของพระป่าที่จะเดินทางมายังกรุงเทพฯ เพื่อร้องขอความเป็นธรรม ตนเห็นว่าจะทำให้วงการพุทธศาสนาเสื่อมถอยกันไปอีก หากมหาเถรสมาคม ในฐานะผู้ปกครองสูงสุดไม่ออกมาแก้ไขและผลของการกระทำทำให้สงฆ์แตกแยกอาจเป็นกรรมหนักถึงขั้นเป็นสังฆเภทตามที่พระพุทธเจ้าบัญญัติได้ ดร.ณพลเดช กล่าว

Leave a Reply