ปลัดมท.ร่วมกับคณะสงฆ์ ลงพื้นที่อยุธยา ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม

   วันนี้ 3 ต.ค.64   เวลา 15:00 น. ที่เต็นท์หน้าวัดอินทาราม ตำบลทางช้าง อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางสาวนุชนาถ ประทีปธีรานันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายสันต์  สร้องแสง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายกิจจา ทองแดง พัฒนาการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายสมยศ เกษสุวรรณ นายอำเภอบางบาล  นางรัตนา หวังเทพอนุเคราะห์ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมกับ พระธรรมรัตนมงคล เจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ พระเทพเสนาบดี เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี พร้อมด้วย พระครูสิทธิสรคุณ พระอาจารย์แก้ว เจ้าอาวาสวัดตะโก คณะสงฆ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดลพบุรี ลงพื้นที่ช่วยเหลือวัดและประชาชนที่ประสบอุทกภัยในเขตอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

     ในการนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และคณะสงฆ์ ได้ลงเรือร่วมถวายเครื่องอุปโภคบริโภคแด่คณะสงฆ์วัดอินทาราม และมอบเครื่องอุปโภคบริโภค ข้าวสาร อาหารแห้ง และเครื่องใช้ต่าง ๆ แก่ประชาชนผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 100 ชุด

     นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ,สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ทรงมีความห่วงใยพสกนิกรที่ประสบสถานการณ์อุทกภัยในขณะนี้ โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงมีพระดํารัสว่า หากพื้นที่ใดประสบปัญหาความเดือดร้อน และยังขาดความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารการกินและเครื่องอุปโภคต่างๆ ให้จังหวัดและอำเภอ ประสานขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย และมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อลงมาให้ความช่วยเหลือร่วมกับภาครัฐ รวมทั้งกระจายความช่วยเหลือให้ทั่วถึงไม่ซ้ำซ้อน นอกจากนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนทุกคน และกำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายบูรณาการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเต็มกำลังความสามารถ จึงขอให้พวกเราช่วยเหลือกัน อดทน ถ้ามีอะไรก็บอกกล่าวกัน เพื่อให้ความช่วยเหลือโดยเร็ว  ซึ่งในวันนี้ผมได้รับความเมตตาจากท่านเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ท่านเจ้าคณะจังหวัดลพบุรี และคณะสงฆ์ ในการมาร่วมให้กำลังใจพี่น้องประชาชน ร่วมกับคณะสงฆ์ ระหว่างเดินทางมาพบว่ามีบ้านเรือนหลายหลังน้ำท่วม อย่างไรก็ดีจากการพยากรณ์อากาศ พบว่าในอีก 9 วันข้างหน้าจะมีพายุเข้ามาอีกลูกหนึ่ง จึงขอให้พี่น้องประชาชนอย่าได้ประมาท ช่วยกันดูแลชีวิต สวัสดิภาพ และทรัพย์สิน ที่สำคัญก็คือต้องดูแลลูก ๆ หลาน ๆที่อยู่ในพื้นที่ และขอฝากท่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ช่วยดูแลลูกบ้านด้วย

       ทางด้าน นายสมยศ เกษสุวรรณ นายอำเภอบางบาล กล่าวว่า อำเภอบางบาล มีพื้นที่ 16 ตำบล 111 หมู่บ้าน 12,400 หลังคาเรือน ปัจจุบันได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยแล้ว 5,878 หลังคาเรือน บ้านเรือนที่ประสบภัยส่วนใหญ่ปลูกริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย คลองบางบาล และคลองบางหลวง พื้นที่ที่ติดริมฝั่งคลองแม่น้ำ น้ำท่วมทั้งหมด สำหรับพื้นที่การเกษตร นาข้าว 43,000ไร่ สามารถเก็บเกี่ยวทัน พบว่าพืชสวน กล้วย อ้อย ได้รับความเสียหายบางส่วน ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจเพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น โดยทยอยแจกสิ่งของอุปโภคบริโภคให้กับพี่น้องประชาชนแล้ว พร้อมทั้งได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ดูแลอำนวยความสะดวก จัดตั้งเต็นท์พักอาศัยชั่วคราวให้กังพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอพยพขึ้นมาอยู่ตามริมถนนหนทาง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองมาดูแลรักษาความปลอดภัย รวมถึงสนับสนุนอุปกรณ์การจัดหากระสอบทราย และอุปกรณ์อื่น ๆ ให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชน

       ขณะที่ นายประดับ โพธิกาญจนวัตร ผู้อำนวยการสำนักงานพุทธศาสนาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ในเบื้องต้นสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับรายงานจากคณะสงฆ์ โดยขณะนี้มีวัดได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย ทั้งหมด 67 วัด ใน 8 อำเภอ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเพื่อจัดสรรถวายในการให้ความช่วยเหลือวัด รวมทั้งได้ร่วมกับคณะสงฆ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นำเครื่องผู้บริโภค และปัจจัย ถวายพระสงฆ์ในวัดต่างๆ นอกจากนี้ ได้รับความเมตตาจาก สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี เจ้าคณะใหญ่หนกลาง และพระธรรมโพธิมงคล เจ้าคณะภาค 2 ถวายเครื่องอุปโภคบริโภคแด่พระสงฆ์ อีกด้วย

     นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า สถานการณ์อุทกภัยภาพรวมทั้งประเทศในขณะนี้ ยังมีจังหวัดที่ประสบอุทกภัยจำนวน 31 จังหวัด จาก 76 จังหวัด จำนวนหมู่บ้านประมาณ 6,909 หมู่บ้าน โดยในเรื่องของการเสียชีวิตจากสถานการณ์ดังกล่าว พบสาเหตุหลัก คือ 1) กระแสน้ำพัดสูญหายไปและเสียชีวิต  และ 2) มีสาเหตุจากไฟฟ้าช็อต เนื่องจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจรลงในกระแสน้ำ จึงขอให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. และประชาชนทุกคนช่วยกันประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนพี่น้องในชุมชน โดยให้งดใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่อยู่พื้นที่ชั้นล่างที่มีน้ำท่วมขัง ยกคัทเอาท์ ถอดปลั๊กให้เรียบร้อย ส่วนอีกประการสำคัญต่อมา ขอฝากท่านผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เฝ้าระวัง เหตุการณ์พายุฝน อุทกภัยที่จะตามมาในระยะต่อไป และแจ้งเตือนสร้างการรับรู้ให้กับพี่น้องประชาชน โดยติดตามการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา และติดตามการแจ้งภัยข่าวเตือนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อย่างใกล้ชิด ทั้งช่องทางไลน์ @1784ddpm และช่องทางอื่น ๆ  โดยหากประชาชนต้องการความช่วยเหลือ ติดต่อสายด่วนสาธารณภัย 1784 สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 และกรณีต้องการรถพยาบาล  ติดต่อสายด่วน 1669 เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

      สุดท้าย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอกราบขอบพระคุณ เจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี เจ้าอาวาสวัดต่าง ๆ และพระเถรานุเถระ ทุกรูป ที่ได้มาร่วมกันในวันนี้ และขอให้พี่น้องประชาชนทุกคนได้รับสิ่งที่ดีงามและขอให้มีความสุขเพิ่มขึ้น ให้สถานการณ์น้ำท่วมบรรเทาคลี่คลายในเร็ววัน และเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ในโอกาสต่อไป ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนสมัครเข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดล ซึ่งมีตัวอย่างที่จังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก แพร่ เชียงใหม่ และอีกหลายจังหวัด ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม และมีแปลงโคก หนอง นา อยู่ ตรงกลางพื้นที่ จึงทำให้สามารถทำไร่ ทำนา ดำรงชีวิตประกอบอาชีพได้ เราปลูกพืชบนโคก หน้าแล้งเราก็มีน้ำไว้ใช้ เพราะเรามีหนอง คลองไส้ไก่อยู่ด้านใน จึงขอให้ลองศึกษาเรื่องดังกล่าวผ่านช่องทางที่เข้าถึงได้ง่าย เพื่อประกอบการตัดสินใจ เช่น ใช้มือถือพิมพ์ Google โคก หนอง นา เข้าไป จะมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิให้คำแนะนำในสื่อออนไลน์ เช่น อาจารย์ยักษ์ “วิวัฒน์ ศัลยกำธร” อาจารย์โก้ “ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิเชฐ โสวิทยสกุล” อาจารย์หน่า “รองศาสตราจารย์ วรวรรณ โรจนไพบูลย์” เป็นต้น  แล้วจะพบคำแนะนำดี ๆ ในการทำโคกหนองนา ตามศาสตร์ของพระราชา..

Leave a Reply