ขุมทรัพย์จาก “คนขับแท็กซี่”

กำลังโด่งดังในโซเซียลเกี่ยวกับเรื่องเล่าแทรกธรรมะจากเพจ “คติธรรม วาทธรรมพระพรหมบัณฑิต” ซึ่งเป็นเพจของ พระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส ประธานกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่ได้โพสต์เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ท่านได้พูดคุยกับรถแท็กซี่คันหนึ่ง ดังมีข้อความว่า

อาตมาเรียกแท็กซี่คันหนึ่งเพื่อให้ไปส่งที่วัดมหาธาตุ ตกลงจะจ่ายค่าโดยสาร ๕๐ บาท  อาตมานั่งข้างหน้าคู่กับคนขับเมื่อรถแล่นไปพักหนึ่งคนขับแท็กซี่ถามว่า ท่านบวชพระมานานแล้วหรือ    อาตมาตอบว่าบวชมานานแล้ว   เขาถามต่อ “ท่านบวชแล้วมีความสุขดีหรือ”

“ก็เรื่อย ๆ นะ” อาตมาตอบแล้ว ถามกลับไปบ้างว่า  “คุณขับแท็กซี่มานานแล้วหรือ”

“นานแล้วครับ ผมขับแท็กซี่มา ๒๗ ปีแล้วครับ”  “ขับแท๊กซี่แล้วมีความสุขดีหรือ”

“มีความสุขมากครับ ผบขับแท็กซี่แล้วผมดับทุกข์ได้” เขาตอบด้วยน้ำเสียงที่จริงจัง ทำให้อาตมานึกถึง  เรื่องสิทธาถะที่พายเรือข้ามฟากขึ้นมาทันที

“คุณขับแท็กซี่ตลอดเวลาไม่เคยประกอบอาชีพอื่น เลยหรือ”  อาตมาถามต่อ

เขาตอบว่า “ผมเคยขับรถที่กระทรวงแห่งหนึ่ง แต่ผมอยู่ไม่ได้ ผมไม่ชอบระบบราชการที่เล่นพรรคเล่นพวกกันเหลือเกิน ทำราชการต้องมีเส้นสายครับ ค่าของคนไม่ได้อยู่ที่ผลของงาน ค่าของคนอยู่ที่ว่าเป็นคนของใคร ผมเบื่อหน่ายจึงลาออกไปเป็นพนักงานขับรถที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง แต่ผมก็อยู่ไม่ได้ ”

“ทำไม ที่มหาวิทยาลัยนั้นก็มีการเล่นพรรคเล่นพวกกันหรือ”

“ไม่ใช่อย่างนั้น ผมขอถามหน่อย คนเราเรียนหนังสือไปเพื่ออะไร คนเรียนมากเป็นคนฉลาดมากขึ้นใช่ไหม”

“ก็ควรจะเป็นเช่นนั้น”“คนเรียนมากฉลาดมากควรมีความสุขมากขึ้นใช่หรือไม่ แต่ผมว่าไม่จริงประสบการณ์ที่มหาวิทยาลัยแห่งนั้นสอนผมว่า คนเรียนมากฉลาดมากกลับทุกข์มากขึ้น พวกดอกเตอร์ ครูบาอาจารย์ที่นั่นมีความทุกข์เหลือเกิน ตัวเองทุกข์คนเดียวไม่พอยังทำให้นิสิตนักศึกษาทุกข์ไปด้วย ที่เป็นเช่นนั้นแสดงว่าต้องมีอะไรผิดพลาดในระบบการศึกษาของชาติเป็นแน่”

“คุณเห็นว่าผิดพลาดอย่างไร ” อาตมาซักต่อ “ผมว่าครูบาอาจารย์สอนผิด พวกเขาสอนให้คนมีความทุกข์แทนที่จะสอนให้คนมีความสุข ผมเตือนพวกเขาให้เปลี่ยนวิธีสอนใหม่เพื่อให้คนมีความสุขพวกเขาไม่เชื่อผม ผมจึงลาออกมาขับแท็กซี่เลยครับ ”

  “คุณบอกพวกเขาว่าอย่างไร”

 “อักษรไทยมีพชัญชนะกี่ตัว”  เขาย้อนถาม  “สี่สิบสี่ตัว” อาตมาตอบ

“ ในสี่สิบสี่ตัวท่านทราบไหมว่าอักษรตัวไหนดีและตัวไหนชั่ว ผมไปบอกพวกครูบาอาจารย์ให้สอนเด็กว่า อักษรตัวไหนเป็นตัวดีและตัวใดเป็นตัวชั่วเด็กจะได้ไม่ทุกข์ พวกครูบาอาจารย์ไม่ฟังผมพวกเขาบอกว่าหนังสือไม่มีตัวดีตัวชั่ว  มีแต่กลาง ๆ”

อาตมาถามเขาว่า “อักษรอะไรเป็นตัวดี อะไรเป็นตัวชั่ว ”

“ตัวชั่วมี ๓ ตัว คือ ล  ก  ล  ตัวดีมี ๓ ตัว คือ พ  ห  ช ”

“ล ก ล หมายถึงอะไร” เขาตอบว่า “ ท่านเป็นพระไม่รู้เรื่องนี้ได้อย่างไร พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า ล ก ล ก็คือ โลภ โกรธ หลงนั่นไง มันชั่วไหมท่าน ”

“ ใช่แล้ว โลภ โกรธ หลง เป็นอกุศลมูลคือรากเหง้าของความชั่ว คุณเล่นย่ออย่างนี้ใครจะไปรู้ ว่าแต่ พ  ห  ช  คืออะไร เป็นตัวดีจริงหรือเปล่า ”

เขาตอบว่า  “ เพื่อนที่ขับแท๊กซี่ด้วยกันมีความทุกข์มาก พวกเขาบ่นว่า ค่าเช่าแพง รายได้ก็น้อย แต่ผมไม่ทุกข์เพราะผมใช้ พ  พาน คือ รู้จักพอ คนเราถ้ารู้จักพอจะมีความสุขใช่ไหม ”

 

อาตมาเห็นด้วยกับคำตอบของเขา เพราะพระพุทธเจ้าตรัสว่า “สนฺตุฏฺฐี ปรมํ ธนํ ความรู้จักพอเป็นยอดทรัพย์ ” คนจนมีสองประเภทคือ คนจนเพราะไม่มีกับคนจนเพราะไม่พอ คนส่วนใหญ่จนเพราะไม่รู้จักคำว่าพอ

ความไม่พอใจจนเป็นคนเข็ญ 

พอแล้วเป็นเศรษฐีมหาศาล

จนทั้งนอกทั้งในไม่ได้การ

ต้องคิดอ่านแก้จนเป็นคนพอ

คนที่มีความสุขในชีวิตต้องเป็นคนรู้จักพอ หมายถึงว่า“ พอใจในสิ่งที่มี ยินดีในสิ่งที่ทำ ” ใครไม่มีสิ่งที่ชอบก็ต้องชอบสิ่งที่ตนมี ภาษิตฝรั่งว่า “นกตัวเดียวในกำมือดีกว่านกสองตัวบนต้นไม้ ” คนไทยทุกวันนี้หลงอยู่ในวัตถุนิยม ได้เท่าไรก็ไม่รู้จักพอ

อาตมาถามคนขับแท็กซี่ต้อไปว่า “ห คืออะไร” เขาตอบว่า “ ห คือ รู้จักให้ ถ้าผู้โดยสารต่อราคากับผม ผมลดให้เขาบ้าง ถ้าผู้โดยสารขอให้ผมไปส่งต่ออีกนิด ผมก็ไปให้ ผมถือว่า

ผมให้บริการแก่ผู้โดยสาร ผู้โดยสารก็ให้ค่าโดยสารแก่ผม ”อาตมาเห็นด้วยกับเขา สังคมอยู่ได้เพราะมีการให้และการรับ จิตที่คิดจะให้ดีกว่าจิตที่คิดจะเอา ในครอบครัวใดทุกคนคิดแต่จะเอาจะไม่มีใครได้แต่ถ้าทุกคนคิดแต่จะให้ทุกคนจะได้

อาตมาถามต่อไปว่า “ แล้ว ช คืออะไร ” ขณะนั้นรถแท็กซี่ติดไฟแดงอยู่หน้าสุด ไฟเขียวส่งสัญญาณขึ้นแล้ว คนขับแท๊กซี่ยังไม่ยอมออกรถเพราะสนทนาธรรมเพลิน รถคันหลังจึงบีบแตร่ไล่คนขับแท๊กซี่จึงบอกว่า “ ไฟเขียวเพิ่งขึ้น เขาบีบแตร่ไล่ผมแล้ว ไม่รู้จะรีบไปตายที่ไหน ผมโดนบีบแตร่ไล่ประจำ แต่ผมก็ไม่โกรธหรือหัวเสียเพราะผมใช้  ช ครับ ”

“หมายถึงอะไร”  “ช่างเขาเถอะ ผมโดนบีบแตร่ไล่ผมก็คิดว่าช่างเถอะ ” นั่นคือการปล่อยวางแบบหนึ่งทำให้สบายใจดี

ใครชอบใครชังช่างเถิด

ใครเชิดใครแช่งช่างเขา

ใครเบื่อใครบ่นทนเอา

ใจเราร่มเย็นเป็นพอ

เมื่อแท็กซี่มาถึงวัดมหาธาตุฯ อาตมาจ่ายค่าแท็กซี่  ไป ๖๐ บาท เพิ่มจากราคาที่ตกลงกันไว้ ๑๐ บาท แต่เขารับเพียง ๕๐ บาท เมื่อถามว่าเพราะเหตุใดเขาตอบว่า “ผมไม่เอาหรอกครับ ผมรู้จักพอ” แล้วเขาก็ขับรถต่อไปอย่างมีความสุข เพราะเขามีธรรมประจำใจสามข้อเท่านั้น คือ

รู้จักพอ (สันโดษ)

รู้จักให้ (ทาน)

และรู้จักปล่อยวาง (จาคะ)

Leave a Reply