กระทรวงมหาดไทย สนองแนวพระดำริ “เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา”  จัด Coaching ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา พัฒนาศักยภาพและเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย พื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน

 วันนี้ (27 พ.ค. 65) เวลา 10:00 น. ที่โรงแรมมีเลีย อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย (Coaching ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา) กิจกรรมที่ 1 จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้า และอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพ ผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย (Coaching ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา) โดยมี นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผศ.ดร. ศศิธร จันทมฤก ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พัฒนาการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ กรรมการที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกและผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย ดร. ศรินดา จามรมาน กรรมการที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นายศิริชัย ทหรานนท์  ผู้ก่อตั้งแบรนด์ THEARTE คุณตะวัน ก้อนแก้ว ผู้ช่วยบรรณาธิการแฟชั่น VOGUE THAILAND MAGAZINE นายพลพัฒน์ อัศวะประภา Fashion Designer นายภูภวิศ กฤตพลนารา ผู้เชี่ยวชาญด้านออกแบบสิ่งทอและแฟชั่น คุณสุนทร วาณิชย์มงคล คุณสมัย ชำนาญอาสา ผู้เชี่ยวชาญด้านเส้นใย คุณบังอร ตรีเมืองปัก คุณอำภาภรณ์ ศรีโหม้ คุณปริญญาภา อยู่ประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านการย้อมสีธรรมชาติ และผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า ช่างทอผ้า สมาชิกศิลปาชีพ จ.เชียงใหม่ น่าน แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน แพร่ พะเยา และเชียงราย สมาชิกทอผ้าฝ้ายโครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำปิงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ และสมาชิกทอผ้าฝ้ายโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ บ้านแม่ตุงติง อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ มากกว่า 60 กลุ่มเข้าร่วม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในวันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่พวกเราทุกคนจะได้รับการพัฒนาต่อยอดความก้าวหน้าในผลงานการออกแบบและตัดเย็บผ้าไทยที่เป็นภูมิปัญญาหัตถศิลป์หัตถกรรมเป็นอัตลักษณ์ของบรรพบุรุษให้คงอยู่คู่กับสังคมไทย อันเป็นการสนองพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมาชี้ทางสว่างและทำให้สังคมไทยได้ฉุกคิดนำภูมิปัญญามาช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต ทำให้ได้มีวันนี้ “วันที่ผ้าไทยได้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง” โดยมีจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2513 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงโดยเสด็จพระราชดำเนินพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เยี่ยมเยียนราษฎรที่ประสบภัยน้ำท่วมที่บ้านท่าเรือ ตำบลนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม และทรงทอดพระเนตรเห็นผ้าซิ่นที่ประชาชนสวมใส่มารับเสด็จที่มีความสวยงาม ทำให้ทรงเกิดแนวความคิดในการอยากช่วยเหลือประชาชนด้วยการสร้างอาชีพเสริมให้กับเกษตรกรที่อาชีพต้องพึ่งพิงกับสภาพอากาศ ด้วยทรงยุยงและกระตุ้นทุกวิถีทางให้ประชาชนในพื้นที่ได้ทอผ้าเพื่อที่จะขายให้พระองค์ท่านก่อน และทรงอุทิศพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อผ้าของชาวบ้าน เพื่อกระตุ้นให้เกิดความอยากในการที่จะช่วยกันทอผ้า เป็นที่มาของคำว่า “ขาดทุนคือกำไร” เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น และทรงนำผ้าไหมไทยของชาวบ้านมาตัดฉลองพระองค์แล้วทรงสวมใส่ในทุกวาระโอกาส ทำให้ผ้าไทยกลับมาเฉิดฉายงดงามให้คนไทย และคนทั่วโลกได้สัมผัส ได้เห็น ได้เชยชมอีกครั้งหนึ่ง กอปรกับผู้นำประเทศในยุคนั้น คือ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้เป็นผู้นำในการสวมใส่ผ้าไทยในทุกการดำเนินชีวิตประจำวัน ยิ่งทำให้เกิดกระแสนิยมการแต่งกายผ้าไทยของคณะรัฐมนตรี ข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนในทั่วประเทศ

     “นับได้ว่าพวกเราเป็นผู้ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ในพระทัยของพระองค์ท่าน ทรงอยากช่วยให้พวกเรามีคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยการใช้เวลาว่างจากการทำไร่ ทำนา และทรงโปรดให้ผู้ทรงคุณวุฒิลงพื้นที่ไปช่วยแนะนำ สร้าง know-how ชี้ทางสว่างสร้างปัญญาเป็นแนวทางในการทำงานด้วย “การพัฒนาคน” ให้คนพัฒนาอาชีพ และพัฒนาความเป็นอยู่ได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่การให้ข้าว ให้ปลา แต่ต้องรู้จักวิธีจับปลา วิธีหุงข้าว อันเป็นหลักการทรงงานที่ทรงทำให้พวกเราดูเป็นตัวอย่าง และข้าราชการทุกคนต้องเอาพระองค์ท่านเป็นแบบอย่างในการขับเคลื่อนปฏิบัติราชการเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

 

 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวต่อว่า แม้ว่าผ้าไทยจะได้รับความนิยมชมชอบเพิ่มมากขึ้นในสังคมไทย แต่ทว่า ความยากของผ้าไทย คือ การไม่มีงานศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนารูปแบบให้เข้ากับยุคสมัย รวมถึงขาดการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างแรงดูด แรงจูงใจ ให้ประชาชนได้หันมาสนใจเหมือนกับผ้าในต่างประเทศ จนกระทั่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานที่มุ่งมั่น แน่วแน่ มั่นคง ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ดังพระปฐมบรมราชโองการที่ว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” และเป็นความโชคดีของทุกคนที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีพระราชปณิธานที่มุ่งมั่นในการสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ดังใจความตอนหนึ่งของพระราชดำรัส โอกาสเสด็จฯ ทรงเปิดงานวันสตรีไทย เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ความว่า “…ข้าพเจ้ามีความตั้งมั่นที่จะสนองพระเดชพระคุณ พระมหากรุณาธิคุณ ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานแห่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เหมือนดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด และแผ่ขยายพระบารมีแห่งสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี…” และเป็นคราวโชคดีที่พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ก็ทรงแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี โดยเฉพาะในงานผ้าไทย หัตถศิลป์ หัตถกรรม โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมุ่งมั่นแน่วแน่ ในการช่วยสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยความกตัญญูกตเวทีอย่างสูงสุด โดยทรงเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงาน OTOP City 2020 ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี นำมาซึ่งความปลาบปลื้มปีติยินดีอย่างหาที่สุดมิได้ของพวกเราทุกคน พร้อมทั้งได้พระราชทานลายผ้า “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ที่ทรงออกแบบเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2563 ที่เป็นพระประสงค์เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับพี่น้องคนไทยทุกคน เพื่อให้ช่างทอผ้า และผู้ประกอบการทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค นำไปประยุกต์ พัฒนา ต่อยอดในการสร้างสรรค์ผลงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ส่งผลทำให้เกิดขวัญกำลังใจ ต่อลมหายใจให้กับช่างทอผ้าและผู้ประกอบการทุกคนได้รอดตายจากภาวะฝืดเคืองทางเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19

     “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยพระราชทาน “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” ซึ่งเป็นการต่อยอด อุดช่องว่างด้านการตลาดของงานหัตถศิลป์หัตถกรรมผ้าไทย ด้วยการสร้างแรงบันดาลใจ สร้างทักษะให้ช่างทอผ้าได้นำผ้าไทยมาออกแบบตัดเย็บให้ถูกใจคนทุกเพศทุกวัย เอามาทำข้าวของเครื่องใช้ให้ถูกใจคนทุกเพศ ทุกวัย โดยกุสโลบายด้วยการทรงเชื้อเชิญนักออกแบบรุ่นใหม่ (Designer) และผู้เชี่ยวชาญผ้าไทย เช่น จ๋อม เธียร์เตอร์ หมู-อาซาว่า วิโรจน์-อิชชู่ อู๋-วิชระวิชญ์ โจ-ธนันท์รัฐ เพื่อให้พวกเราได้มีโอกาสเรียนรู้ ได้ครุ่นคิด สร้างสรรค์ชิ้นงาน ให้มีความหลากหลาย เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม ทุกวัย ทุกสไตล์ ทุกโอกาส เพื่อเกิดไอเดียไปขยายฐานลูกค้า ทำให้ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และตลาดผ้าไทยโกอินเตอร์ได้ นอกจากนี้ ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระองค์ที่ทรงคิดค้น ค้นคว้า วิจัย ศึกษา ด้วยพระองค์เอง ด้วยการทรงพยากรณ์คาดเดารสนิยมความนิยมชมชอบของลูกค้าในอนาคต นำมาสู่หนังสือ THAI TEXTILES TREND BOOK ที่ทรงเป็นบรรณาธิการด้วยพระองค์เอง อันเป็นประจักษ์พยานแห่งพระกตเวทิตาคุณในการสืบสาน รักษา และต่อยอด ช่วยเหลือพวกเราให้อยู่ดีกินดีและมีรายได้มาก ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ ทรงคาดการณ์ว่าวงการแฟชั่นในอนาคตจะนิยมสีอะไร และที่สำคัญสีที่พระองค์ท่านทรงแนะนำเป็นสีแห่งความพอเพียง เป็นสีแห่งความยั่งยืน เป็นสีแห่งความรักมวลมนุษยชาติ รักชาวโลก รักษ์โลก ด้วยการใช้สีธรรมชาติในการย้อมผ้า ไม่ใช้สีเคมีที่ทำให้น้ำเน่า ดินเสีย ดินเป็นพิษ มือคนย้อมก็พัง สุขภาพคนผลิตและคนสวมใส่ก็ไม่ดี และทรงเน้นย้ำด้านการผลิตวัตถุดิบที่ใช้ในการทำผ้าด้วยตนเอง ทั้งปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และปลูกต้นไม้ที่ให้สีธรรมชาติเป็น ไม่ใช่ตัดอย่างเดียว เพื่อให้เราสามารถพึ่งพาตนเองได้ครบวงจร ซึ่งสีธรรมชาติอาจจะดูยากสำหรับคนเริ่มทำ แต่ถ้าทำเป็นประจำ จะทำให้เกิดงานที่มีคุณภาพได้” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้พวกเราทุกคนได้มีความมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอดภูมิปัญญาหัตถศิลป์หัตถกรรมของบรรพบุรุษผ่านลวดลายรูปแบบที่รังสรรค์บนผืนผ้าไทย เฉกเช่นที่พระองค์ท่านได้ทรงทำให้เป็นตัวอย่าง ด้วยการพัฒนาต่อยอด “ผ้าขิดลายสมเด็จ” เป็น “ลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” โดยยึดแนวทางเราต้องเคารพในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ คำนึงถึงรสนิยมผู้บริโภค ใส่หัวใจ ความรัก ความชอบ เข้าไปในชิ้นงานของเรา และลงมือทำ ออกมาเป็นความงดงามของศิลปะที่ขึ้นอยู่กับผู้ออกแบบและผู้สวมใส่ ถ้าผู้สวมใส่นิยม คนออกแบบก็ประสบความสำเร็จสามารถขายของได้ ถ้าไม่นิยม ผู้ออกแบบ ผู้ประกอบการก็ไม่เสียหาย ไม่มีล้มเหลว มีแต่เพียงคนจะชอบมาก ชอบน้อย ซึ่งต้องไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาชิ้นงานให้มีความหลากหลายเป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงมีสายพระเนตรที่กว้างไกลไพศาล ด้วยทรงดำริว่า การออกแบบแฟชั่นดีไซน์ต้องมีเส้นชัยไว้ให้พวกเราได้แข่งขัน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยพระราชทานเหรียญรางวัลที่มีลักษณะอันงดงามและสูงค่ายิ่ง คือ มีพระพักตร์ที่สวยงาม เปี่ยมไปด้วยความเมตตา และมีดอกแคทลียาควีนสิริกิติ์ที่พระเกศา อันเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงพระราชปณิธานอันแน่วแน่ว่า พระองค์จะสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงเทิดทูนไว้เหนือกล้า และเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าพระองค์ทรงรักพสกนิกรชาวไทยทุกคน โดยพระราชทานพระนามย่อ ส.ร. (สิริวัณณวรี) ภายใต้พระจุลมงกุฎย่ออยู่ด้านหลังเหรียญ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้พวกเราได้เร่งรัด ได้ใช้เวลาทุกนาทีให้เป็นประโยชน์ นำเอาผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญาที่จะได้รับการ Coaching จากวิทยากรในวันนี้ ไปผลิตเป็นชิ้นงาน และส่งเข้าประกวด นำเหรียญรางวัลกลับมาเป็นเกียรติเป็นศรีกับวงศ์ตระกูลและกลุ่มของพวกเรา เป็นนิ่งเป็นขวัญ เป็นกำลังใจในการพัฒนาฝีมือ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเราให้เกิดความยั่งยืน

     จากนั้นในช่วงบ่าย เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ Coaching ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา โดยผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ อาทิ ทั้งด้านเส้นใยและสาธิตการสาวไหมแบบโบราณ การย้อมสีธรรมชาติ Fashion Designer Trend and Fashion Expert Branding Marketing & Sale และการออกแบบลายอัตลักษณ์ประจำถิ่น เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้รับการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มช่องทางการตลาด ส่งผลให้สามารถพัฒนาผ้าไทยให้ตอบสนองความต้องการของตลาด สร้างรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

Leave a Reply