“กรมการศาสนา” ปลุกกระแสตามรอยพระเถราจารย์ ประเดิมรูปแรก  “พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์” เทพเจ้าแห่งเมืองคอน

ศน. จับมือสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเส้นทางบุญ สัมผัสเสน่ห์เมืองคอนในมิติทางศาสนา พร้อมอุดหนุนสินค้าทางวัฒนธรรม ในกิจกรรมเปิดเส้นทางธรรมแห่งศรัทธา ตามรอยพระเถราจารย์ “พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์”

วันที่ 23 มี.ค. 66  นายชัยพล สุขเอี่ยม กรมการศาสนา เตรียมเปิดเส้นทางธรรมแห่งศรัทธา ตามรอยพระเถราจารย์ “พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์” ในวันที่ 27 มีนาคม 2566  นี้ ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของพ่อท่านคล้ายเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในเชิงศาสนา พัฒนาวัด ศาสนสถาน และชุมชน ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิต พร้อมรับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ โดยมี วัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้บริหารส่วนราชการในพื้นที่อำเภอช้างกลาง อำเภอลานสกา อำเภอจันดี และผู้แทนหน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมกิจกรรม ณ วัดธาตุน้อย อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช

นายชัยพล สุขเอี่ยม เปิดเผยว่า ตามที่ ศน. เดินหน้านโยบาย “ตามรอยเส้นทางธรรมแห่งศรัทธา” จัดเส้นทางบุญสู่วัดและศาสนสถาน จาริกแสวงบุญตามรอยเกจิ มุ่งพลิกโฉมให้วัด ศาสนสถาน ชุมชน เป็นแหล่งเรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพให้พร้อมรับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาภายในจังหวัดให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างโอกาสและสร้างงานแก่คนในชุมชน เกิดรายได้หมุนเวียนจากการเดินทางของนักท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากจากสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม อาทิ ร้านอาหาร โรงแรม พาหนะ สินค้าชุมชน เป็นต้น โดยกรมการศาสนา (ศน.) ร่วมกับ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช ประชาสัมพันธ์จังหวัดฯ สภาวัฒนธรรม กรมการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หน่วยงานภาคีเครือข่ายในพื้นที่ หน่วยงานภาคเอกชน และภาคประชาชน จัดกิจกรรมเปิดเส้นทางการเดินทางท่องเที่ยวในมิติทางศาสนา “ตามรอยพระเถราจารย์” ตามสถานที่ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพระเถระนักพัฒนาที่ชาวใต้เลื่อมใสศรัทธา คือ “พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์” หรือ “พระครูพิศิษฐ์อรรถการ” ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ของคำพูดจนได้ชื่อว่าเป็น “เทวดาแห่งเมืองคอน”

พ่อท่านคล้ายได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูพิศิษฐ์อรรถการ แต่ผู้คนก็ยังเรียกขานท่านว่า “พ่อท่านคล้าย” เรื่อยมา กิตติศัพท์และเกียรติคุณของท่านเป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั่วภาคใต้ ท่านมรณภาพในปี พ.ศ.2513 สิริอายุ 96 ปี 75 พรรษา ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสวนขันนานถึง 65 ปี สรีระของท่านได้รับการบรรจุในโลงแก้ว อยู่ในองค์พระเจดีย์ธาตุน้อย วัดพระธาตุน้อย ซึ่งเป็นวัดที่ท่านสร้างไว้จวบจนปัจจุบัน ท่านเป็นพระนักพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ บำเพ็ญสาธารณกุศลและสาธารณะประโยชน์มากมาย สร้างเจดีย์ สถูป มณฑป สร้างและบูรณะโบสถ์ สร้างถนนและสร้างสะพาน ตลอดจนสร้างวัดและบูรณะวัดต่างๆ อีกหลายแห่ง ด้วยเมตตาบารมีของท่านทำให้ประชาชนชาวนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียงต่างเคารพนับถือศรัทธา และเชื่อถือถึงความศักดิ์สิทธิ์ของวาจาท่านว่า “พูดอย่างไรเป็นอย่างนั้น”

เนื่องจากในวันที่ 27 มีนาคม 2566 ตรงกับวันคล้ายวันเกิดของพ่อท่านคล้าย กรมการศาสนาจึงได้จัดพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย พร้อมจัดพิธีแห่ผ้าห่มพระธาตุหรือแห่ผ้าขึ้นธาตุ ณ วัดธาตุน้อย อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยพระธาตุนี้พ่อท่านคล้ายได้จำลองมาจากพระบรมธาตุ ณ วัดพระมหาธาตุ เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้สักการบูชา ภายในงานยังจัดให้มีการแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น มโนราห์ เพลงบอก การบรรเลงดนตรีไทย และการแสดงผลงานของนักเรียน จากศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือตามแนวคิด Soft Power ชูเอกลักษณ์ของศิลปวัฒนธรรม สะท้อนอัตลักษณ์ท้องถิ่น สร้างการรับรู้และนำไปสู่การพัฒนาการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่เด็ก เยาวชน และประชาชนในพื้นที่

ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปเปิดประสบการณ์ สัมผัสเสน่ห์แห่งเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น ทั้งวัฒนธรรม วิถีชีวิต และภูมิปัญญา ในมิติทางศาสนา ด้วยเส้นทางธรรมแห่งศรัทธา กราบสักการะ “พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์” เพื่อความเป็นสิริมงคล เยือนถิ่นกำเนิด ตามรอยพระเถราจารย์ รับทราบชีวประวัติและเหตุการณ์สำคัญของท่าน ณ วัดธาตุน้อย วัดสวนขัน วัดจันดี สถานีรถไฟพ่อท่านคล้าย ศาลาพ่อท่านคล้าย (จุดชมวิวเขาธง) และพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับ “พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์” ทั้งสิ้น รวมไปถึงหมู่บ้านคีรีวง อำเภอลานสกา สถานที่ที่ได้ชื่อว่าอากาศดีที่สุดในประเทศ ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนด้วยการอุดหนุนสินค้าจากกลุ่มมัดย้อมสีธรรมชาติบ้านคีรีวง หลากหลายผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากผ้ามัดย้อมและผ้าบาติก ออกแบบให้มีสีสันสดใสโดยเลือกใช้วัสดุธรรมชาติในพื้นที่ อาทิ สีสันจากใบคราม ใบหูกวาง ใบมังคุด และฝักสะตอ ตลอดจนเทคนิคการย้อมสีผ้าทั้งผืน ซึ่งถือเป็นผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาอันทรงคุณค่า นำไปสู่การสร้างรายได้หมุนเวียนในชุมชน อธิบดีกรมการศาสนา กล่าว

 

Leave a Reply