ศรัทธา..กับ…ปัญญา : วิเคราะห์มุมมองพุทธศาสนา ?

@ ศรัทธา คืออะไร ?

พระพุทธศาสนาถือว่าเป็นศาสนาแห่งความศรัทธาศาสนาหนึ่ง ที่ว่าเป็นศาสนาแห่งศรัทธาก็เพราะพระพุทธองค์ทรงตรัสในตอนแรกก่อนเสด็จออกประกาศพระศาสนาว่า “ใครใคร่จะฟังก็จงปล่อยศรัทธามาเถิด” พระพุทธพจน์นี้แสดงให้เห็นว่าพระพุทธองค์ทรงเห็นว่าศรัทธามีความสำคัญต่อการศึกษาหรือ “สิกขา”ค่อนข้างมาก และทรงเห็นว่าศรัทธาเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ทุกอย่าง หรืออาจจะกล่าวว่าพื้นฐานการเรียนรู้ทุกอย่างก็มาจากศรัทธานี่แหละ ถ้าไม่มีศรัทธาเราจะเข้าหาครูได้อย่างไรถึงไปหาถ้าไม่ศรัทธาก็ไม่ยอมเรียน ดังนั้น ศรัทธาจึงเป็นเสมือนหนึ่งจุดเริ่มต้นหรือต้นทางของการพัฒนาปัญญาหรือการสร้างองค์ความรู้ในโลกและจักรวาลนี้

@ ปัญญา คืออะไร ?

คำว่า ปัญญา หมายถึงความรู้แจ้งหรือ wisdom ในภาษาอังกฤษ เป็นความรู้ที่เกิดมาจากการเรียนรู้หรือกระบวนการเรียนรู้ การสังเกต การทดลองในเรื่องที่เราต้องการรู้แล้ว ปัญญานี้มี ๒ ประการคือ (๑)โลกิยปัญญา คือ ปัญญาแบบชาวโลกเป็นปัญญาเพื่อการเลี้ยงชีวิตหรือแก้ไขปัญหาของชีวิตได้ (๒)โลกุตตรปัญญา เป็นปัญญาเพื่อรู้และเข้าใจโลก สามารถที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของโลกและชีวิตนี้ได้ ปัญญาประเภทนี้เกิดจากการฝึกหัดปฏิบัติทางจิต คือสมาธิ เป็นปัญญาที่ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายหรือลงทุนอะไรมากมาย

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นปัญญาชนิดไหนก็ตามพระพุทธศาสนาก็ถือว่า ปัญญานั้นเป็นสิ่งที่ทำให้ “โลกสว่างไสว หรือขจัดความมืดของโลกได้ ดั่งพระพุทธพจน์ที่ว่า ปัญญา โลกัสมิง ปัชโชโต แปลว่า ปัญญาเป็นแสงสว่างของโลก”

@ ปัญหา “ศรัทธากับปัญญามีความสัมพันธ์กันอย่างไร ?

ข้อนี้เป็นคำถามเชิง (๑) ศาสนวิจารณ์ และ (๒) ปรัชญาวิพากษ์ ซึ่ง ๒ ข้อนี้มีนัยสำคัญที่จะต้องนำมาพิจารณาก็คือ

(๑) ศาสนวิจารณ์ ในแง่ศาสนวิจารณ์ นักการศาสนาวิจารณืกันว่าระหว่างศรัทธา กับปรัชญานั้นศาสนาโดยมากเน้นเรื่องอะไร คำตอบก็คือ โดยมากนักการศาสนาฝ่ายเทวนิยมเห็นว่า การจะเข้าถึงความจริงสูงสุดได้ก็ต้องอาศัยศรัทธาเท่านั้น คือเชื่อตะพึดก่อนแล้วผลที่เกิดมาจากความเชื่อก็จะมีมาเอง ฝ่ายเทวนิยมทั้งคริสต์ อิสลามพราหมณ์ฮินดู เชื่อไว้แบบนี้ เพราะเขาเห็นว่าทางที่จะได้รับความสุขจากพระเจ้าก็คือต้องเชื่อเท่านั้น

ส่วนฝ่ายอเทวนิยมนั้น เห็นว่า ศรัทธาคือความเชื่อกับปัญญาคือเหตุผลจะต้องไปตามกันเหมือนเหรียญสองด้านจะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ เพราะปัญญาศรัทธาเปรียบเหมือนตัวรถ ปัญญาเเปรียบเหมือนคนขับที่จะต้องเป็นส่วนที่จะต้องมีควบคู่กัน ศรัทธาจะดีหรือไม่ดีก็จะต้องมีคนขับคือปัญญาที่ดีที่จะทำให้รถไปสู่จุดหมายที่ดีได้ โดยจุดหมายนั้นไม่ได้จำเป็นที่จะต้อวเป็น “พระเจ้า”เสมอไป

แต่อาจจะเป็น (๑) ระดับพื้นฐานคือนำไปสู่การดำรงชีพที่ดี หรือ(๒) ระดับเหนือการเป็นอยู่แบบโลกๆคือนำไปสู่การบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ผลหรือเป้าหมายของชีวิตทั้งสองประการนี้ อเทวนิยม เช่น พระพุทธศาสนาเห็นว่าจะต้องมีอยู่คู่กัน

(๒) ปรัชญาวิพากษ์ ในส่วนของปรัชญาก็มีแนวคิดเชิงวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างศรัทธากับปรัชญา โดยฝ่ายนักปรัชญาบางสำนักเห็นว่าศรัทธาไม่มีความสำคัญแต่อย่างใด ปัญญาหรือเหตุผลต่างหากที่สำคัญเพราะความรู้ทางด้านเหตุผลนี้ทำให้เกิดความรู้อย่างแท้จริง ส่วนความรู้แบบศรัทธานั้นเป็นความรู้ที่นำไปสู่ความงมงาย ปรัชญาบางสำนักเขาก็คิดได้เช่นนั้น

ส่วนในทัศนะของพุทธปรัชญา เห็นว่าศรัทธาและปัญญา เป็นเหตุปัจจัยแก่กันและกันขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ เมื่อมีศรัทธาแล้วจะต้องมีปัญญาเป็นตัวคอยกำกับเพื่อไม่ให้ศรัทธาเกินเลยหรือไปสู่จุดหมายที่ไม่ควรมีควรเป็น พุทธปรัชญาเห็นว่าปัญญาคือ หลักยึดที่จะทำให้ศรัทธาที่มียึดมีที่กั้นไม่ล่วงเลยความเป็นธรรมไปได้ เมื่อมีปัญญาเป็นหลักยึดศรัทธาก็เป็นมัชฌิมาปฏิปทาได้ นี่คือความสัมพันธ์ระหว่างศรัทธากับปัญญาในทัศนะของพุทธปรัชญาเถรวาท

Cr.-FB-Naga King

Leave a Reply