กระทรวงมหาดไทยลงนาม MOU กับ สหประชาชาติประจำประเทศไทย มุ่ง Change for Good ภายใต้แนวคิด “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา  “โลกนี้เพื่อเรา”

วันที่ 6 มิ.ย. 65    เวลา 14.30 น. ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีลงนามประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน (Statement of Commitment to Sustainable Thailand) โดยมี คุณกีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย คุณอาร์มิดา  ซัลเซีย  อาลีเชียบานา รองเลขาธิการองค์การสหประชาชาติและเลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ผู้แทนสำนักงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมในพิธี

 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้เป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ของชาวมหาดไทย เพราะเป็นโอกาสแรกที่เราได้มีโอกาสมาทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับทางองค์การสหประชาชาติ (UN) ในการที่เราจะแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะทำทุกวิถีทางเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และในขณะเดียวกันก็จะช่วยกันพัฒนาประเทศของเราให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืนครบทั้ง 76 จังหวัด ผ่านการร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง มุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน  (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ เพื่อให้ประเทศไทยของเราเป็นสมาชิกที่ดีของโลก และทำให้ประชาชนได้รับสิ่งที่ดี ลูกหลานได้อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ดี ทั้งนี้ รัฐบาลไทย ภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมให้พันธะสัญญากับชาวโลกในการประชุม COP 26 เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 64 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17  เป้าหมาย โดยได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และในฐานะนายกรัฐมนตรีของจังหวัด เป็นผู้นำที่สำคัญในการขับเคลื่อนบริหารจัดการงานทุกด้านของรัฐบาล และทำหน้าที่ในการทำให้พี่น้องประชาชนได้มีความสุข ความทุกข์น้อยลง ดังวิสัยทัศน์ของกระทรวงมหาดไทยที่มีมากว่า 130 ปี คือ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข”

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงมหาดไทย ภายใต้การนำของ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นหัวใจหลัก และเน้นย้ำให้ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยทุกคน ตระหนักถึงความสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด ผ่านทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา มาสู่การทำการเกษตรแบบพึ่งพาตนเอง การเกษตรที่หลากหลาย ที่สามารถช่วยให้ประชาชนเกิดการพึ่งพาตนเองได้ มาใช้เป็นเครื่องมือพัฒนาให้พี่น้องประชาชนให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ มั่นคง และยั่งยืน ตามเจตนารมณ์ของสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ความยากไร้ การศึกษา ความเท่าเทียมทางเพศ สิ่งแวดล้อม และเรื่องอื่น ๆ ซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนผ่านศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) อันเป็นเครื่องชี้ชัดว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดทุกท่านถือเป็นกลไกสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม และผู้บริหารของกระทรวงมหาดไทย รวมถึงคณะกรรมการบริหารสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดทุกท่าน จะได้มีโอกาสมาร่วมกันขับเคลื่อนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ให้ประสบความสำเร็จในระยะเวลาอันสั้น และขอเชิญชวนผู้บริหารสหประชาชาติประจำประเทศไทย ได้ลงพื้นที่ไปให้กำลังผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งภาคราชการ ภาคการศึกษา ภาคผู้นำศาสนา ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อมวลชน

“การลงนามในครั้งนี้ถือเป็นการสานพลังความร่วมมือครั้งสำคัญและเป็นเกียรติกับพวกเราทุกคนที่ได้มีโอกาสร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน ซึ่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทุกท่านจะเป็นผู้นำการจัดทำแผนปฏิบัติการและขับเคลื่อนในพื้นที่ให้สามารถดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือลดโลกร้อนที่เป็นปัญหาสำคัญของชาวโลกด้วยความเข้มแข็งและความยั่งยืนที่หนักแน่นอย่างเอาจริงเอาจังเพื่อสิ่งแวดล้อมโลกใบนี้ ด้วยการให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ยั่งยืน โดยน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระราชทานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) มาหลายสิบปีแล้ว เพราะความหลากหลายทางชีวภาพมีคุณค่าอย่างประมาณการไม่ได้สำหรับพวกเราทุกคนและลูกหลานของเราในอนาคต รวมถึงการบริหารจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพด้วย BCG Model ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในเชิงระบบที่ประเทศไทยเราจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากทางสหประชาชาติอย่างยิ่ง เพื่อสร้างความรับรู้เข้าใจและความร่วมมือของพี่น้องคนไทยให้เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการใช้ชีวิตของพวกเรา รวมไปถึงการสร้างความร่วมมือของพี่น้องประชาชนในการบริหารจัดการขยะ สร้างวัฒนธรรมการเป็นมนุษย์ 3Rs คือ ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ที่ดี นอกจากนี้ ในด้านการสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนและลดการสูญเสียอาหาร การเสริมสร้างความยืดหยุ่นให้ชุมชนและระบบนิเวศทางทะเลผ่านการปรับตัวและการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ กระทรวงมหาดไทยโดยผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัดได้น้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาดำเนินการอย่างเข้มข้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และตั้งเป้าหมายที่จะขยายพื้นที่เพิ่มเติมด้วยความมุ่งมั่น

 “ในฐานะตัวแทนพี่น้องชาวกระทรวงมหาดไทยและภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยทุกคน พร้อมสนับสนุน เจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน ทั้งในแง่ของการยกระดับความสามารถ ยกระดับความตระหนักรู้ของประชาชน และขีดความสามารถของหน่วยงานระดับจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินกิจกรรมที่เอื้อต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ขับเคลื่อนลงสู่ในระดับชุมชน หมู่บ้าน ตำบล ท้องถิ่น ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งช่วยอำนวยความสะดวกให้เกิดความร่วมมือของทุกภาคีเครือข่าย ทั้งหน่วยงานระดับจังหวัด ท้องถิ่น และทีมงานของ UN ประจำประเทศไทย ตลอดจนถึงพันธมิตรอื่น ๆ ทุกภาคส่วน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อเอื้ออำนวยให้เกิดขึ้นในทุกจังหวัด จัดสรรทรัพยากรธรรมชาติตามความเหมาะสม เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน และจะหารือร่วมกันเป็นระยะๆ เพื่อทำให้โลกใบเดียวของเราทุกคนได้มีอายุยืนยาว เป็นที่อยู่อาศัยที่ดีของลูกหลานเราตราบนานเท่านาน ด้วยแนวคิด Change  for  good  สมดังเจตจำนงและความประสงค์ของพวกเราทุกคนทุกประการ “76  จังหวัด  76  คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน เพื่อคนไทยกว่า 69  ล้านคน ร่วมกับสหประชาชาติ “โลกนี้เพื่อเรา”” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

 ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า สมาคมแม่บ้านมหาดไทย ให้ความสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาบทบาทสตรีในประเทศไทย ด้วยหลักการทำงานในการพัฒนาคนให้สามารถดูแลตนเองและครอบครัว สังคมได้ หรือเรียกว่า “การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” เช่น การส่งเสริมการรวมกลุ่มของสตรีไทยโดยมีกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเป็นทุนให้สตรีได้รวมตัวกันทำอาชีพหาเลี้ยงครอบครัว ขณะนี้มีสมาชิก 14 ล้านคน รวมถึงการพัฒนาผู้มีทักษะในการประกอบอาชีพ ด้วยการส่งเสริมการรวมกลุ่มเป็นกลุ่ม OTOP หรือโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดพลังในการรวมตัวเป็นผู้ประกอบการผลิตสินค้าจำหน่ายต่อไป ซึ่งการพัฒนาต่าง ๆ เหล่านี้ อยู่บนพื้นฐานการทำให้ทุกครัวเรือนน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปทำให้คนได้พึ่งพาตนเอง  อันจะเป็นส่วนช่วยป้องกันการหิวโหยหรือการอดอยาก และขณะเดียวกันช่วยทำให้เกิดความมั่นคงด้านอาหาร ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

 คุณกีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) กล่าวว่า การประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน (Statement of Commitment to Sustainable Thailand) ในวันนี้ เป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของพวกเราทุกคน เพราะเป็นครั้งแรกที่ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดและกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งผู้แทนสำนักงานทั้งหมดมาพร้อมหน้ากันด้วยความตั้งใจเพื่อสร้างประเทศไทยที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ซึ่งเมื่อปี 2564 ครบรอบปีที่ 75 ของการเป็นภาคีสมาชิกสหประชาชาติของประเทศไทย และสหประชาชาติได้เล็งเห็นถึงคุณค่าของความร่วมมือและอนาคตอันยิ่งใหญ่ที่จะร่วมงานกับกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ประเทศในการสร้างความมั่งคั่ง และเป็นผู้นำในด้านความยั่งยืนโดยใช้โมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมายเป็นแรงขับเคลื่อน โดยสหประชาชาติพร้อมให้การสนับสนุนวิสัยทัศน์นี้ ทั้งการสนับสนุนระหว่างประเทศ ความเชี่ยวชาญทางนโยบายและเทคโนโลยี โดยจากผลการลงพื้นที่ของสหประชาชาติในประเทศไทยที่ผ่านมาได้พบลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละจังหวัด ซึ่งเราได้เรียนรู้สถานการณ์และความท้าทายเพื่อจะบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนที่ต้องสร้างความตระหนักรู้ของประชาชน โดยสหประชาชาติพร้อมสนับสนุนแผนปฏิบัติการระดับจังหวัด เพื่อรับมือแหล่งมลภาวะทางอากาศ รวมถึงความรู้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในด้านอื่น ๆ เพื่อทำให้เป้าหมายเป็นจริง และมีทางออกทำให้เราทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งพวกเราทุกคนตั้งตารอที่จะได้เจอกันเป็นประจำหลังจากนี้ เพื่อประเมินความต้องการในการพัฒนาของเราด้วยการบูรณาการทำให้บรรลุเป้าหมาย ทำให้คนไทยมีรายได้สูง มีส่วนร่วม มีภูมิคุ้มกัน มีประโยชน์อย่างมหาศาลที่ยั่งยืนให้กับประเทศไทย

Leave a Reply