วันที่ 30 กรกฎาคม 2566 นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า กรณีที่มีการร้องเรียนเรื่องการศึกษาของ สามเณรไร้สัญชาติ จำนวนมากที่ประสบปัญหา เนื่องจาก ศธ.ไม่ออกรหัส G ให้ ทำให้เมื่อเรียนในโรงเรียนวัด ที่บางส่วนได้พัฒนาเอาระบบเอกชนเข้าใช้ กลายเป็นโรงเรียนเอกชนการกุศล ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐทั้งในแง่ของเงินอุดหนุนรายหัวและโอกาสทางการศึกษานั้น ขอชี้แจงว่า พระ หรือเณรที่มีรหัสประจำตัวประชาชน 13 หลัก หรือรหัส G ที่ ศธ.ออกให้ ทั้งที่มีสัญชาติไทยและไม่มีสัญชาติไทยสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนในระบบได้เช่นเดียวกับฆราวาส โดยการพิจารณารับพระ หรือเณรเข้าเรียนขึ้นอยู่กับระดับที่ได้รับอนุญาตให้เปิดสอนและระเบียบของแต่ละโรงเรียน โดยพระและเณรที่เรียนในโรงเรียนเอกชนจะได้รับเงินอุดหนุนรายบุคคลและเงินอุดหนุนเรียนฟรี 15 ปี จะต้อง 1.เรียนอยู่ในระดับอนุบาล-มัธยมปลาย และ 2.เรียนอยู่ในโรงเรียนที่ขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐคือเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาไม่เกินอัตราที่ระเบียบกำหนด และมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก มี หรือไม่มีสัญชาติไทยก็ได้
“กรณีนักเรียนที่ไม่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ศธ.จะออกรหัส G ให้กับนักเรียนและเข้าเรียนได้ตามระเบียบ ศธ. อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน สช.ไม่ให้เงินอุดหนุนให้เด็กรหัส G เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยยังไม่มีการตรวจสอบและรับรองสถานะตัวตน หรือแหล่งที่อยู่ที่แน่นอนของนักเรียน ทำให้การตรวจติดตามเงินอุดหนุนทำได้ยาก และอาจมีการสวมสิทธิเบิกเงินอุดหนุน” นายอรรถพลกล่าว
ปลัด ศธ.กล่าวต่อว่า สำหรับนักเรียนที่ใช้รหัส G สามารถติดต่อหน่วยงานของกระทรวงมหาดไทยในเขตพื้นที่ที่นักเรียนพักอาศัยเพื่อขอรหัสประจำตัวประชาชนได้ โดยจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของมหาดไทย และเมื่อได้รับรหัสเลข 13 หลักแล้ว สช.จะให้เงินอุดหนุนตามหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับเด็กทั่วไป ดังนั้น ในส่วนของโรงเรียนเอกชนไม่ได้ปิดกั้นพระเณรเข้าเรียน ขึ้นกับระเบียบของแต่ละโรงเรียน กรณีไม่มีสัญชาติไทย ศธ.จะออกรหัส G ให้ และเข้าเรียนได้ตามปกติ และเมื่อติดต่อหน่วยงานปกครองและได้รับรหัส 13 หลักแล้ว สช.จะให้เงินอุดหนุนเช่นเดียวกับเด็กไทย
กรณีการแจงของกระทรวงศึกษาธิการนี้เกิดขึ้น เนื่องจาก เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2566 นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ เปิดเผยว่าปัจจุบันสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต โดยสมัยก่อนคนอยากอ่านออกเขียนได้ต้องบวชเรียนโดยมีวัดเป็นแหล่งเรียนรู้ ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ให้วัดพัฒนาสอนคนภายนอกด้วย เราจึงเกิดโรงเรียนวัดเกิดขึ้นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามต่อมาการเรียนของสงฆ์ถูกกันออกโดยพระเณรต้องไปเรียนทางธรรม ไม่ให้เรียนทางโลก
สุรพงษ์กล่าวว่า แม้กรมศาสนาสังกัดกระทรวงศึกษา การเรียนของพระเณรกลับไม่ถือว่าอยู่ในระบบการศึกษาปกติ ทำให้คนบวชน้อยลงและหันไปเรียนหนังสือในระบบปกติมากขึ้น แต่มีประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะผู้ที่ยากไร้และด้อยโอกาส ยังคงใช้ช่องนี้ในการดำรงชีวิตและเรียนหนังสือ โดยพวกเขาคาดหวังว่าจะได้เล่าเรียนเหมือนคนอื่น แต่ปรากฏว่ากระทรวงศึกษาธิการกลับไม่ยอมรับ
ขณะที่โรงเรียนวัดบางส่วนได้พัฒนาเอาระบบเอกชนเข้าใช้ กลายเป็นโรงเรียนเอกชนการกุศลโดยมีวัดสนับสนุนรายได้ แต่แทนที่รัฐจะสนับสนุน กลับไม่ดำเนินการช่วยเหลือ ทำให้โรงเรียนเหล่านี้ไม่สามารถเก็บค่าเล่าเรียนได้และรัฐก็ไม่สนับสนุนงบประมาณ
“ แม้การศึกษาปกติมีระเบียบออกรหัส G เพื่อสนับสนุนเด็กที่ไม่มีเอกสารทางทะเบียนราษฎรได้เรียนหนังสือ แต่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.) ระบุว่าไม่ให้กับเด็กที่ไม่มีเลข 13 หลักซึ่งขัดกับกฎหมาย ทำให้พระและสามเณรต้องลำบาก ยังไปออกเป็นระเบียบไว้เลย กลายเป็นปัญหาของสังคมไทย คือวัดเป็นแหล่งให้ความรู้มาโดยตลอด และควรได้รับการสนับสนุน แต่วันนี้กลับไม่ได้รับการส่งเสริมเลย”
ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าวว่า การแก้ไขปัญหานี้คือ 1 สช.ต้องยกเลิกระเบียนที่ให้สนับสนุนเฉพาะเด็กที่มีเลข 13 หลักและออกรหัส G ให้มีการสนับสนุนสามเณรและพระที่ไม่มีเอกสาร
ขณะเดียวกันรัฐไทยต้องเข้าใจด้วยว่าการเรียนรู้เท่าทันทางโลกมีความสำคัญยิ่งสำหรับนักบวช เช่น ความรู้คอมพิวเตอร์ ดังนั้นจึงต้องเปิดโอกาสให้สามเณรและพระสงฆ์ให้เรียนในระบบปกติได้
“สังคมไทยมีศาสนาพุทธเป็นหลัก แต่เรากลับไม่ยอมให้พระสงฆ์และสามเณรได้เข้าสิทธิด้านการศึกษาเหมือนคนปกติ ขนาดพระขึ้นรถโดยสาร เรายังไม่เก็บค่าโดยสารเลย แต่ทำไมพอเป็นเรื่องเรียนกลับไม่สนับสนุนให้พวกท่านได้เรียน
“ทำไมถึงต้องไปตัดสิทธิของพวกท่าน แทนที่จะเอื้อมากกว่าคนปกติ หรือกรณีที่ท่านมีสถานศึกษาอยู่แล้วก็ควรเทียบวุฒิในระบบได้ ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติต้องการให้ทุกคนได้เรียนหนังสือ แต่กลับจำกัดสิทธิพระเณร ถือว่าเป็นการสร้างบาปยิ่ง” สุรพงษ์ กล่าว
ทั้งเรื่องนี้ มีผู้สื่อข่าวสำนักข่าวชายขอบ ได้ลงพื้นที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ และสัมภาษณ์สามเณรชาญ(นามสมมุติ) วัย 10 ขวบ ซึ่งไม่มีเอกสารทางทะเบียนราษฎร โดยสามเณรชาญเปิดเผยว่า เป็นชาวไทใหญ่เดินทางมาจากรัฐฉาน ประเทศพม่าเมื่อ 4 เดือนก่อน โดยได้บรรพชาที่วัดในรัฐฉานและจำพรรษาเป็นเวลา 2 พรรษา แต่ต่อมาต้องหลบหนีการสู้รบในหมู่บ้านเพราะถูกทหารพม่าทิ้งระเบิด ทำให้โยมพ่อโยมแม่ต้องอพยพหนีเข้ามาในไทย และตนเองมาจำวัดอยู่ในเชียงใหม่
“ปัจจุบันเข้าเรียนโรงเรียนบาลีแห่งหนึ่ง ไปโรงเรียนแค่ 2 วัน คือวันจันทร์และวันอังคาร ต้องนั่งรถเป็นเวลากว่า 1 ชั่วโมงจากวัดไปเรียนหนังสือในตัวอำเภอเมือง ได้เรียนวิชาสามัญทั่วไป ในวันที่ไม่ต้องไปโรงเรียนได้ศึกษาพระธรรมวินัยกับพระอาจารย์ที่วัด ได้เจอโยมพ่อโยมแม่เดือนละครั้ง เพราะพวกเขาต้องไปทำงาน อนาคตหวังว่าจะได้บวชเรียนต่อไป และไม่ต้องการลาสิกขา” สามเณรชาญกล่าว
ขณะที่พระอธิการสถิตย์ สิริวิชโย เจ้าอาวาสวัดหนองบัว ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า ปัจจุบันมีสามเณรไร้รัฐไร้สัญชาติที่อยู่ในความดูแลประมาณ 20 รูป โดยสามเณรเหล่านี้บรรพชาตั้งแต่อาศัยอยู่ในประเทศพม่า แต่พวกเขาหนีสงครามตามญาติที่เคยอยู่อาศัยในวัดนี้ พระได้ให้การดูแลรับผิดชอบ ค่าน้ำค่าไฟ ค่าเดินทางไปศึกษาเล่าเรียน โดยได้รับแรงศรัทธาจากประชาชนในการบริจาคปัจจัย รวมทั้งญาติ ผู้ปกครอง ของสามเณรให้ความช่วยเหลือ แต่ปัจจุบันก็ไม่มีความเพียงพอ เนื่องจากภาระในการดูแลมีจำนวนมาก
พระอธิการสถิตย์กล่าวว่า ขณะนี้ได้นำสามเณรฝากเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนบาลีฯ แห่งหนึ่งเป็นการชั่วคราว เนื่องไม่รู้จะดำเนินการอย่างไร หากให้สามเณรที่มีอายุถึงเกณฑ์ประถมศึกษา 1-6 ก็ต้องลาสิกขาเพื่อเข้าเรียนตามระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่รับเฉพาะเด็กหญิง-ชาย เพื่อให้สามารถเข้าเรียนได้ตามระเบียบที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด
“พวกเขาไม่มีผู้ปกครอง รับอุปการะไว้ 1-2 เดือนจะมีญาติมาเยี่ยม สามเณรบางรูปเป็นเด็กกำพร้า พ่อแม่หย่าร้าง ปัจจุบันต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ไม่ได้รับการศึกษาเท่ากับบุคคลทั่วไป พระต้องเป็นผู้ให้ความดูแลรับผิดชอบแบกรับค่าใช้จ่าย เราไม่สามารถทิ้งพวกเขาได้” เจ้าอาวาสวัดหนองบัว กล่าว
ขณะที่พระวิสิทธิ์ ฐิตวิสิทฺโธ (วงใส) ผู้ช่วยศาตราจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันมีสามเณรตกหล่นจากระบบการศึกษา เนื่องจาก สพฐ. รับนักเรียนเฉพาะเด็กหญิง-ชาย แต่ทางเลือกอื่นคือโรงเรียนพระปริยธรรมศึกษาก็รับเฉพาะมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ซึ่งไม่ว่านักบวชหรือเถรวาททุกควรควรมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน
พระวิสิทธิ์กล่าวว่า หากให้สามเณรลาสิขาเพื่อให้ได้เข้าเรียนตามกฎระเบียบของกระทรวงการศึกษาธิการ จะส่งผลกระทบต่อพระพุทธศาสนาคือ 1.ความมั่นคงในพระพุทธศาสนาที่เป็นสาธารณะทายาท ซึ่งกลไกของนักบวชคือ หากเรามีความเชื่อมั่นในการบวชเพื่อศึกษาก็สามารถที่จะพัฒนานักบวชเพื่อศึกษาพระธรรมวินัยให้เป็นผู้นำทางสังคมที่ดีได้ และเป็นบุคลากรที่สำคัญมีคุณภาพในฐานะพระสงฆ์ 2. ความมั่นคงทางรัฐ แน่นอนถ้าหากพวกเขาเข้ามาเป็นนักบวชแต่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ก็ต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ พวกเขาจะสามารถทำงานที่มีประสิทธิภาพให้กับสังคมได้อย่างไร ถ้าไม่มีข้อจำกัดเหล่านี้พวกเขาจะสามารถพัฒนาในพื้นที่หรือสังคมที่เขาอยู่ได้อย่างแน่นอน ช่วยดูแลเป็นที่พึ่งทางใจให้กับญาติโยมในอนาคตต่อไป
“ปัจจุบันนี้นักบวชเริ่มลดน้อยลง ในขณะที่วัดวาอารามกลับเพิ่มขึ้นไร้ผู้ดูแล หากไม่มีพระหรือสามเณรที่มีความรู้ความสามารถ ก็คงไม่มีใครเข้ามาดูแลพื้นที่แห่งนี้ในอนาคต มีความคาดหวังให้โรงเรียนพระปริยัติธรรม ได้เปิดการเรียนการสอนเริ่มตั้งแต่ประถมศึกษาได้ เพื่อให้นักบวชมีพื้นที่ในการจัดการดูแลตนเอง และให้เติบโตและพัฒนาศักยภาพเพื่อเป็นสมณะที่ดีงาม” อาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย กล่าว
ที่มา : มติชน -สำนักข่าวชายขอบ
Leave a Reply