ปลัดกระทรวงมหาดไทย ประชุมอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร คลองแสนแสบ เน้นย้ำ สร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน

วันที่  20 เม.ย. 65  เวลา 08.00 น. ที่ห้องประชุมดำรงธรรม อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่คลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร และคลองแสนแสบ ครั้งที่ 1/2565 โดยมี นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายสมศักดิ์  มีอุดมศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร นางวาสนา ศิลป์เบ็ญจพร รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร นางสาววริษฐา สงวนเสริมศรี ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยเป็นการประชุมผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในระบบ Zoom Meeting มี นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายพงศธร กาญจนะจิตรา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายอนุชา อินทศร หัวหน้าสำนักงานจังหวัดฉะเชิงเทรา และคณะอนุกรรมการฯ ร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ และพลเอก อนุพงษ์  เผ่าจินดา  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนฟื้นฟูลำน้ำสาธารณะและคลองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้แม่น้ำลำคลองมีความสะอาด มีทัศนียภาพที่สวยงาม ส่งผลให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข โดยเริ่มพัฒนาพื้นที่คลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร และคลองแสนแสบ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งที่ผ่านมาด้วยบริบทของสังคมและความร่วมไม้ร่วมมือของทุกภาคส่วน ในพื้นที่ 3 จังหวัด ทำให้คุณภาพของน้ำในคลองอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งมีนัยยะที่สำคัญว่า “ทุกภาคส่วนต้องช่วยเร่งรัดขับเคลื่อนงานให้ใกล้ชิดมากกว่าเก่า” และขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องสื่อสารเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจ ปัญหาอุปสรรคเพื่อที่จะชักชวนให้พี่น้องประชาชนทุกคนได้ช่วยกันดูแลน้ำในคลองให้มีคุณภาพที่ดีส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตที่ดีต่อไป

นางวาสนา ศิลป์เบ็ญจพร รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า คลองแสนแสบ มีความยาวตลอดสายประมาณ 74 กิโลเมตร เริ่มจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ กรุงเทพมหานคร ไปทางทิศตะวันออกจนเชื่อมกับคลองบางขนากไหลไปลงแม่น้ำบางปะกงในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยคลองแสนแสบช่วงที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร อยู่ในความรับผิดชอบของกรมธนารักษ์ และมอบให้สำนักการระบายน้ำใช้ประโยชน์ด้านการระบายน้ำ มีความยาวประมาณ 47.5 กิโลเมตร ความกว้างประมาณ 20 –30 เมตร มีระดับขุดลอกเฉลี่ย -3.00 เมตรเทียบกับระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยคลองแสนแสบและคลองสาขาครอบคลุมพื้นที่ 21 เขตการปกครอง ได้แก่ เขตดุสิต เขตราชเทวี เขตปทุมวัน เขตดินแดง เขตห้วยขวาง เขตวัฒนา เขตจตุจักร เขตหลักสี่ เขตดอนเมือง เขตสายไหม เขตบางเขน เขตลาดพร้าว เขตวังทองหลาง เขตสวนหลวง เขตบางกะปิ เขตมีนบุรี เขตคันนายาว เขตสะพานสูง เขตคลองสามวา เขตบึงกุ่ม และเขตหนองจอก และ มีคลอง ล้าราง และคูน้ำบริเวณชุมชนเมืองที่สำคัญไหลมาเชื่อมต่อหลายสาย จำนวนรวม 101 สาย ซึ่งที่ผ่านมาพบปัญหาแหล่งกำเนิดมลพิษริมคลองแสนแสบและคลองสาขา 3 แหล่ง ตามลำดับ คือ 1) กิจกรรมครัวเรือนหรือชุมชน ร้อยละ 70 2) โรงงาน สถานประกอบการต่าง ๆ อาคารขนาดใหญ่ ร้อยละ 29 และการเดินเรือและการสะสมของตะกอนท้องคลอง ร้อยละ 1 ทั้งนี้ จากการตรวจวัดคุณภาพน้ำโดยรวมตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าถึงบางกะปิ อยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก โดยมาตรฐานค่า BOD ต้องน้อยกว่า 4 มิลลิกรัม/ลิตร แต่วัดค่าได้ 14 มิลลิกรัม/ลิตร ส่วนค่า DO มาตรฐานต้องมากกว่า 2 มิลลิกรัม/ลิตร แต่ค่าที่จัดเก็บได้ 1.2-1.8 มิลลิกรัม/ลิตร จึงยังไม่ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำ ด้วยการปรับเปลี่ยนการเดินเรือโดยสารดีเซลเป็นเรือโดยสารไฟฟ้า เพื่อลดปัญหามลภาวะทางน้ำที่เกิดจากการรั่วของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในการเดินเรือ พร้อมทั้งบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางน้ำ โดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามและตรวจสอบอาคารและกำกับดูแลโรงงาน และสำหรับการแก้ไขปัญหาน้ำเสียจากบ้านเรือนและชุมชน แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ 1) ระยะเร่งด่วน ด้วยการติดตั้งถังดักไขมันให้กับบ้านเรือนและชุมชนริมคลองแสนแสบและคลองสาขา ติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน (Onsite) และก่อสร้างท่อรวบรวมน้ำเสียเพื่อรวบรวมน้ำเสียจากจุดปล่อยน้ำเข้าสู่โรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดงและโรงควบคุมคุณภาพน้ำมีนบุรี 1 และ 2) ระยะยาว ด้วยการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียและระบบบำบัดน้ำเสีย และจากการสำรวจจำนวนสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำคลองแสนแสบและคลองสาขา (ข้อมูล ณ วันที่ 24 มี.ค. 65) มีจำนวน 4,929 ราย รื้อย้ายแล้ว 2,605 ราย ยังไม่รื้อย้าย 2,324 ราย ซึ่งสำนักงานเขตได้ดำเนินการเจรจาและขอความร่วมมือให้เจ้าของสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำรื้อย้ายส่วนที่รุกล้ำออกจากแนวเขตคลอง ส่วนผู้ที่ไม่ให้ความร่วมมือก็ได้ดำเนินการใช้มาตรการทางกฎหมาย

 นายอนุชา อินทศร หัวหน้าสำนักงานจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า คลองแสนแสบในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา มีความยาวประมาณ 26.50 กิโลเมตร มีความกว้างประมาณ 20 –30 เมตร อยู่ในเขตพื้นที่ 3 ตำบล คือ ตำบลศาลาแดง ตำบลบางน้ำเปรี้ยว ตำบลบางขนาก อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ในความรับผิดชอบ 6 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ องค์การบริหารส่วนตำบลศาลาแดง เทศบาลตำบลศาลาแดง องค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำเปรี้ยว เทศบาลตำบลบางน้ำเปรี้ยว เทศบาลตำบลคลองแสนแสบ และเทศบาลตำบลบางขนาก โดยพบสภาพปัญหาน้ำเสียจาก 3 แหล่งกำเนิด คือ 1) น้ำเสียจากครัวเรือน ชุมชนในพื้นที่ ไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่ลำคลอง 2) น้ำเสียที่เกิดจากการเกษตรกรรม (นาข้าว) โดยเกษตรกรจะปล่อยน้ำจากนาข้าวที่ปนเปื้อนปุ๋ยและสารเคมีลงสู่ลำคลอง และ 3) ปัญหาผักตบชวาที่หนาแน่น โดยเฉพาะในช่วงฤดูน้ำหลากที่จะมีความหนาแน่นมาก ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสัญจรทางน้ำของชาวบ้านในพื้นที่และมีสภาพภูมิทัศน์ที่ไม่สวยงาม โดยจากการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำ 10 พบว่าคุณภาพน้ำโดยรวมอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม และสำหรับในด้านสิ่งรุกล้ำลำน้ำ พบว่า ปัจจุบันมีจำนวน 10 แห่ง อยู่ในพื้นที่รับผิดของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต โดยหน่วยงานได้ท้าการเจรจาและแจ้งเตือนผู้บุกรุกให้ดำเนินการรื้อย้าย/ขออนุญาตตามกฎหมายแล้ว ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ไม่ให้ความร่วมมือ ทางหน่วยงานได้อยู่ระหว่างดำเนินการใช้มาตรการทางกฎหมาย นอกจากนี้ ในด้านการจัดการแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อม จังหวัดฉะเชิงเทราได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบของชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีแนวทางแก้ไขปัญหา โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่คลองแสนแสบทั้ง 6 แห่ง จัดทำเทศบัญญัติ ข้อบัญญัติ สำหรับการใช้บ่อดักไขมัน/ถังบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยน้ำทิ้งจากครัวเรือน อาคาร ลงสู่คลองแสนแสบ พร้อมขับเคลื่อนกิจกรรมอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) โดยปัจจุบันมีสมาชิก จำนวน 659 คน และได้จัดทำโครงการ/กิจกรรม รักษาความสะอาดคูคลองอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน/จิตอาสาในพื้นที่ รณรงค์ปลูกฝังจิตสำนึก และสร้างความตระหนักรู้ให้กับชุมชนในการอนุรักษ์คลองแสนแสบ

นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า คลองเปรมประชากรในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีระยะทาง 8 กิโลเมตร พบปัญหาการรุกล้ำลำน้ำ 104 แห่ง ขณะนี้รื้อถอนไป 100 แห่ง คงเหลือสะพาน 4 แห่ง พร้อมทั้งได้ดำเนินการขุดลอก ปรับภูมิทัศน์เสร็จสิ้นแล้ว และขณะนี้จังหวัดพระนครศรีอยุธยายังคงดำเนินกิจกรรมจิตอาสารักษ์คลองเปรม และจัดเก็บผักตบชวาอย่างต่อเนื่องทุกเดือน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทำให้ประสบความสำเร็จอย่างดี พร้อมทั้งได้ดำเนินการจัดทำแผนปรับปรุงคุณภาพน้ำโดยชุมชนเริ่มจากการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียจากต้นทาง

 นายพงศธร กาญจนะจิตรา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า จังหวัดปทุมธานีได้ดำเนินการพัฒนาคลองเปรมประชากรตามแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากรในพื้นที่ 6 ตำบล 2 อำเภอ ซึ่งได้ดำเนินการก่อสร้างบ้านเรือนประชาชน โดยเฟสแรก 151 หลัง ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว 139 หลัง ส่วนที่เหลือจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2565 และสำหรับการก่อสร้างเขื่อนตามแนวคลองเปรมประชากร ดำเนินการแล้วเสร็จ 93.08 % จะเสร็จสิ้นในเดือนตุลาคม 2565 และในด้านการพัฒนาฟื้นฟูคุณภาพน้ำ จังหวัดปทุมธานีได้มีการจัดทำโครงการขุดลอกคลองและปรับปรุงวัชพืช ตั้งแต่เดือนมีนาคม – กรกฎาคม 2565 รวม 10 ครั้ง และมีการพัฒนาฟื้นฟูรูปแบบจิตอาสา เดือนละ 2 ครั้ง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้กรุงเทพมหานครและจังหวัดฉะเชิงเทรากำหนดระยะเวลา (Timeframe) ในการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำและสิ่งรุกล้ำลำน้ำให้มีรายละเอียดที่ชัดเจนขึ้น เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ พร้อมกำชับจังหวัดฉะเชิงเทรา ใช้กลไกคณะกรรมการขับเคลื่อนการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมฯ ด้วยการจัดประชุมเป็นประจำทุกเดือน และประสานองค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทราร่วมขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาคลองแสนแสบร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 6 แห่ง นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำให้จังหวัดฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา และจังหวัดปทุมธานี ขับเคลื่อนแนวทางแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมในพื้นที่จังหวัด ทั้งการประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำข้อบัญญัติ เทศบัญญัติการใช้บ่อดักไขมัน/ถังบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยน้ำทิ้งจากครัวเรือน อาคาร ลงสู่คลองสาธารณะ การรับสมัครอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) อย่างน้อยครัวเรือนละ 1 คนให้ครบทุกครัวเรือน เพื่อมีอาสาสมัครช่วยกันดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมและคัดแยกขยะจากต้นทางตั้งแต่ครัวเรือน พร้อมจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนทุกครัวเรือน เพื่อทำให้น้ำเสียจากเศษอาหารได้กลายเป็นปุ๋ยหมักของครัวเรือน ไม่ไหลลงสู่ลำน้ำสาธารณะ ครบทุกครัวเรือน ให้แล้วเสร็จภายใน 12 ส.ค. 65 เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคล 90 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และให้ประสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ในการจัดตั้งหน่วย อถล. หรือจิตอาสาเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ โดยร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ เพื่อให้คนในชุมชน นักเรียน นักศึกษา ได้มีส่วนร่วมช่วยตรวจเช็กคุณภาพน้ำ และร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่บูรณาการขับเคลื่อนสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน/จิตอาสา ด้วยการปลูกฝังสร้างจิตสำนึก และสร้างความตระหนักรู้ให้กับชุมชนในการอนุรักษ์น้ำในลำคลองจนเป็นวิถีชีวิต เช่น ทำกิจกรรมอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำลำคลองร่วมกันของคนในชุมชน งานประเพณี วัฒนธรรม และพัฒนาปรับปรุงบริเวณที่พักอาศัย ทำหน้าบ้าน-หลังบ้าน และริมคลองให้สวยงาม ด้วยการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บ้านเมืองสะอาด พื้นที่ชุมชนสวยงาม แม่น้ำลำคลองมีคุณภาพน้ำที่ดีขึ้น และให้กรมประชาสัมพันธ์ ได้จัดทำแผนการสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่จังหวัดเพื่อส่งเสริมสร้างจิตสำนึกให้พี่น้องประชาชนมีความรักความผูกพันกับสายน้ำผ่านกิจกรรมต่าง ๆ  อันจะส่งผลให้การดำเนินการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่คลองสาธารณะเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ยังผลให้พี่น้องประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่ทำผิดกฎหมาย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

Leave a Reply