ตามไปดู!! ปฎิบัติการพลิกฟื้นคืนชีวิตให้ “ดอยแม่แจ่ม”

คำว่า พัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ หรือ BCG Economy Model และ โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคกหนองนา จริง ๆ มันคือเรื่องที่ต่อเนื่องกัน การน้อมนำเอาทฤษฎีใหม่มาประยุกต์สู่โคกหนองนา มันเน้นหนักเรื่องของการที่จะทำให้เราอยู่รอดปลอดภัย เพราะเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วมา ทั่วโลกรวมทั้งประเทศเราประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทรวงมหาดไทย ในฐานะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญของรัฐบาลที่มีหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับประชาชน จึงร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีอาหารกินแบบ พอกิน พอใช้ พออยู่ และพอร่มเย็น และก็มีคุณภาพชีวิตที่ดี มั่นคงอย่างยั่งยืน ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

“แต่การที่จะก้าวไปสู่ความมั่งคั่งได้ มันจำเป็นต้องมีการรวมกลุ่มที่เกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งของเราเน้นที่การรวมกลุ่มในการที่จะทำให้พี่น้องประชาชนที่ร่วมกันทำโคกหนองนามีกระบวนการผลิต การมีผลผลิตที่สามารถนำมารวม เพื่อให้มีปริมาณมาก ๆ เพื่อนำไปสู่การแปรรูปหรือการขายส่ง ขายปลีกที่มีปริมาณมากพอที่ตลาดมีผู้บริโภคจำนวนมากสามารถที่จะมาเป็นลูกค้าได้ ดังนั้นถามว่าเป็นเรื่องเดียวกันไหม คล้าย ๆ กันนะ เป็นการต่อยอดเป็นการขยายผลเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าทฤษฎีใหม่ มันมีขั้นที่จะสามารถทำให้เศรษฐกิจพอเพียงมีขั้นต้น ขั้นกลาง แล้วขั้นก้าวหน้า เขตเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนขั้นก้าวหน้านั่นเอง..”

การทำโครงการการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียง เชื่อมโยงสอดคล้องกับวาระแห่งชาติเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อนำมาเป็นกรอบและทิศทางในการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย พร้อมทั้งการสร้างความพร้อมรับมือภัยพิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งในระดับพื้นที่ สร้างงานสร้างรายได้ สร้างความมั่นคงทางน้ำ อาหาร พลังงานให้กับครัวเรือนและชุมชน และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 “ตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นที่ประจักษ์ คือ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้น้อมนำเอาศาสตร์พระราชาด้วยการนำทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา มาพลิกพื้นที่ธรรมชาติที่ถูกทำลายจนเสื่อมโทรม เป็นภูเขาหัวโล้นเต็มไปด้วยสารเคมี หน้าแล้งมีแต่หมอกควัน หน้าฝนมีแต่โดนน้ำชะล้างดินพังทลาย จัดทำเป็นวาระแก้ปัญหาป่าไม้ และวาระการงดใช้สารเคมีทำการเกษตร เน้นทำเกษตรอินทรีย์ และเกษตรผสมผสานแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และร่วมกันกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ดำเนินการฟื้นป่า จัดทำฝายชะลอน้ำตามร่องน้ำภูเขาทุกหมู่บ้าน จนทำให้อำเภอแม่แจ่มในปัจจุบันหลายพื้นที่กลับกลายมามีชีวิตชีวาจากเขาหัวโล้นเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ หรือแม้กระทั้งที่จังหวัดเชียงราย พระอาจารย์วิบูลย์ ธมฺมเตโช ท่านก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยให้หลักบวรในการทำงานร่วมกันแล้วให้ประชาชนมีความสุข ต่อยอดถึงขั้นก้าวหน้าได้..”

นี่คือการพูดคุยบางช่วงบางตอนระหว่าง “ทีมข่าวพิเศษ” กับ สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ที่ริเริ่มดำเนินการทำโครงการ “โคก หนอง นา”  มาตั้งแต่ต้น และปัจจุบันกำลังจะต่อยอดสู่นโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่

ซึ่งสรุปง่าย ๆ ก็หมายความว่า หลังจากกระทรวงมหาดไทยโดยกรมการพัฒนาชุมชนดำเนินการโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา ซึ่งมีครัวเรือนเข้าร่วม 25,179 ครัวเรือน แบ่งเป็นขนาด 15 ไร่จำนวน 337 แปลง ขนาด 1ไร่และ 3 ไร่ 24,842 แปลง จาก 73 จังหวัด 575 อำเภอ และ 3,246 ตำบล ปูพรมครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว ซึ่งตอนนั้นมีเป้าหมายเพียงแค่พออยู่ พอกิน พอร่มเย็นทำบุญทำทานเหลือเก็บ ระดับขั้นต้นและขั้นกลาง ตามหลักทฤษฎีบันได 9 ขั้นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์รัชกาลที่ 9 และตอนนี้กำลังจะต่อยอดเป็น “ขั้นก้าวหน้า” คือ นำผลิตแปรรูปออกมาจำหน่าย เพื่อสร้างความมั่งคั่ง ตามนโยบายของรัฐบาลในการชูยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อนำประชาชนไปสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” เพื่อแก้ปัญหาความยากจนทุกช่วงวัย ในขณะเดียวกันการดำเนินงานโคก หนอง นา ผลพลอยได้ก็คือว่า “ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก” สามารถฟื้นฟูดิน ฟื้นฟูน้ำ ฟื้นฟูป่า กลับคืนสู่สภาพเดิมได้ สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติที่เรียกร้องให้ทุกประเทศทั่วโลก ร่วมกันดำเนินการตามมาตรการ SDGs ทั้ง 17 ข้อ  ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์และสภาพแวดล้อมด้วยเช่นกัน

“ทีมข่าวพิเศษ” หลังจากได้พิกัดพื้นที่ภาคเหนือเป็นที่เรียบร้อยแล้วได้ปรึกษาหารือกับ รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อกำหนดบุคคลเป้าหมายพร้อมกับขออำนวยความสะดวกแจ้งพื้นที่  แล้วทีมงานจะลงไปเก็บข้อมูลภายใต้เงื่อนไขคือ ไม่มีต้องมีเจ้าหน้าที่รัฐตาม เว้น คนนำทาง หากคนนำทางไม่มี ขอแค่เบอร์โทรศัพท์เกษตรกรบุคคลเป้าหมายเพียงพอ เพื่อไปดูพื้นที่และฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนจริง ๆ ในขณะเดียวกันทุกครั้งที่ทีมงานลงไปในลักษณะแบบนี้หากประชาชนเจ้าของพื้นที่ต้องการพูดคุยกับ “ปลัดกระทรวงมหาดไทย” สุทธิพงษ์ จุลเจริญ สามารถต่อสายพูดคุยได้ทันที แต่ถ้าปลัดกระทรวงมหาดไทยไม่สะดวก ก็ขอให้ฝากเบอร์ทิ้งไว้ หลังเสร็จสิ้นภารกิจท่านจะโทรไปหาเอง อันนี้คือ “คำฝาก” ก่อนลงพื้นที่จริง ที่ สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยบอกไว้กับทีมข่าวพิเศษ ก่อนจะลงพื้นที่จริงเพื่อติดตามการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงมหาดไทยในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับประชาชน

“อำเภอแม่แจ่ม” เป็น 1 ใน 25 อำเภอ ของจังหวัดเชียงใหม่ ดินแห่งนี้เดิมเป็นที่อยู่อาศัยของชนชาติพันธุ์ลัวะหรือละว้า ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่เป็นชนชาติ กะเหรี่ยง ละว้า ม้ง และคนเมือง (ไตยวน) ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในตัวอำเภอที่เป็นที่ราบลุ่มน้ำแม่แจ่ม อยู่ท่ามกลางแห่งขุนเขาที่ล้อมรอบ อำเภอแม่แจ่มจึงเป็นเมืองแห่งความหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ผ่านมาป่าไม้ต้นน้ำถูกทำลายจนเสื่อมโทรม เป็นภูเขาหัวโล้น เกษตรกรทำพืชเชิงเดี่ยวใช้สารเคมี หน้าแล้งมีแต่หมอกควัน หน้าฝนน้ำป่าไหลหลากชะล้างดินพังทลาย ปัจจุบันมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าไปพื้นฟูพลิกฟื้นคืนชีวิตให้กับธรรมชาติที่สวยงามของแม่แจ่ม

“พัทธนันท์ พิทาคำ”  นายอำเภอแม่แจ่ม บอกกับทีมงานว่า อำเภอแม่แจ่ม มี 7 ตำบล ทุกตำบลมีศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงโคกหนองนาขนาด 15 ไร่ ครบทั้ง  7 แห่ง ทุกแปลงเป็นครูพาทำหมด ปัจจุบันพวกเขาช่วยเหลือกันดี ส่วนขนาด 1 ไร่ที่เป็นครัวเรือนต้นแบบอีก 556 แปลง บางแปลงอาจมีบ้างที่ไม่ได้ทำต่อ แต่ส่วนใหญ่ทำกันต่อเนื่อง อำเภอแม่แจ่มต้นเหตุของปัญหาคือขาดการพัฒนาระบบชลประทานอย่างมีประสิทธิภาพ แม่แจ่มมีพื้นที่ 1,700,000 ไร่ เป็นป่าสงวน 1,400,000  เขตอุทยาน 300,000 มีโฉนดแค่ 23,000 เกษตรส่วนใหญ่เป็นชาวเขา อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า มีพื้นที่ทำกินในพื้นที่ป่า เกิดปัญหาการบุกรุกทำลายป่า หมอกควันไฟป่า ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เยอะ เพราะข้าวโพดใช้น้ำฝน พอฤดูแล้งบนดอยมันขาดระบบการบริหารจัดการน้ำ น้ำไม่มีใช้ ทีนี้ถามว่าจะแก้ปัญหาให้แม่แจ่มยังไงเรามีหลายโมเดล มีภาคเอกชน เข้ามาปลดล็อคก็คือ เอางบมาช่วยทำบ่อคอนกรีตยอดดอยเป็นบ่อแห้งแล้วกระจายน้ำไปหาแล้วพื้นที่บริเวณนั้นราษฎรรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจ แล้วตั้งมั่นว่าจะไม่ปลูกข้าวโพด ก็เปลี่ยนไปปลูกไม้ผลปลูกอย่างอื่นแทนจนสามารถรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจพวกเขาก็จะอยู่ได้  เราก็เลยมองว่าแนวทางแก้ปัญหาให้แม่แจ่ม ก็คือต้องพัฒนาระบบน้ำช่วยการเกษตร

“โคกหนองนาก็เป็นการบริหารจัดการน้ำตามศาสตร์พระราชาซึ่งพอเอามาใช้ได้ส่วนหนึ่ง แต่จริง ๆ ที่ดีที่สุดต้องเป็นอ่างเก็บน้ำคอนกรีตบนดอยแล้วปล่อยลงไป ส่วนโครงการแก้จน ต้องมองปลายทางด้วย คือว่าเรามีการสำรวจข้อมูลครัวเรือน สำรวจปัญหาความต้องการมาแล้ว สมมติว่าแม่แจ่ม 20,000 ครัวเรือน ต้องการสร้างบ้านมีความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย 8,000 กว่าครัวเรือนถามว่าปลายทางตอบได้ไหมว่างบประมาณอันไหนที่จะมาช่วยซ่อมแซมที่จะมาช่วยสร้าง หากจะแก้ปัญหาแม่แจ่มอย่างน้อย 2 เรื่องต้องแก้ หนึ่ง ระบบชลประทาน สอง ระบบสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า  ซึ่งต้องไปปลดล๊อคเขตพื้นที่ป่ากับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดการระบบน้ำกับกรมชลประทานหรือกรมทรัพยากรน้ำ ขนาดบ่อน้ำบาดาล ชาวบ้านจะเจาะจะขุดต้องให้อธิบดีกรมอนุมัติ มีเทศบาลตำบลหนึ่งได้งบมาจากกระทรวงพลังงานติดตั้งโซล่าเซลล์ 13 ล้านบาท แต่ติดปัญหาพื้นที่อยู่ในป่า ป่าไม้ไม่อนุญาตให้ติดตั้ง เป็นไปได้ไหมว่าเรื่องเหล่านี้ควรให้จบอยู่แค่ผู้ว่าราชการจังหวัด จะได้ทันการในการช่วยเหลือชาวบ้านได้จริงๆ ”

 หลังจากพูดคุยกับนายอำเภอแม่แจ่มมีเจ้าหน้าที่ “กรมการพัฒนาชุมชน” พาไปดูแปลงตัวอย่างตามพิกัดที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทยชี้เป้าไว้  ขับรถขึ้นเนินเขาลัดเลาะไปตามถนนลูกรังตามภูเขาที่มีแต่เขาหัวโล้นหลายลูกมองไปไกล ๆ ด้านล่างเห็นอำเภอแม่แจ่มและทิวเขายาวเหยียด คิดดูแล้วภารกิจทั้งการให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุขและฟื้นฟูสภาพป่าของกระทรวงมหาดไทยถือว่าเป็นงานหนักที่จะต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน เพราะการจะพลิกสภาพเขาหัวโล้นให้กลับคืนสู่ความเป็นธรรมชาติที่สมบูรณ์ต้องใช้เวลาพอสมควร

“ลุงบุญมา แหลมคม” ชายชราวัย 70 กว่าปี อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1  ต.บ้านทับ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่เป็น “ผู้นำต้นแบบ” ในการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เล่าให้ทีมงานฟังเบื้องหลังการทำโคก หนอง นา ว่า  ครอบครัวอยู่ที่นี่มาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย ประกอบอาชีพหลักทั้ง ไร่ข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ ปลูกฟักทอง ข้าวไร่ ไร่หมุนเวียน เลี้ยงสัตว์ หมุนเวียนอยู่แบบนี้จนวันหนึ่งประมาณปี 2560  คิดว่า ชีวิตเราเริ่มแก่ขึ้นเรื่อย ๆ หากทำไร่ข้าวโพดตลอดแบบนี้ไม่ไหวแน่ อีกทั้งการทำไร่ข้าวโพดมันต้องใช้สารเคมีก่อให้เกิดมลพิษมีผลเสียต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก รวมถึงเรื่องสำคัญคือ ยิ่งทำยิ่งจน หนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็ปรึกษากับหลายคน สรุปคือ เลิกทำไร่ข้าวโพด ช่วงแรกก็มีบริษัทบางหน่วยงานโน้นนี้บ้างบอกให้ปลูกตัวนี้ตัวนั้นแล้วจะมารับซื้อสุดท้ายหายหมด ผลผลิตออกมาแล้วไม่มีที่ขาย  ตอนหลังก็คิดถึงปรัชญาเศรษกิจของในหลวง ปลูกพืชแบบผสมผสานตอนแรกก็ยังไปได้ไม่ค่อยดีนัก เพราะมันไม่มีน้ำ ตอนหลังโครงการ โคก หนอง นา เข้ามา

“ผมมีที่ดินทั้งหมด 19 ไร่ เป็นของกรมป่าไม้ เข้าร่วมโครงการโคกหนองนา 15 ไร่  เดิมปลูกข้าวโพดเป็นภูเขาหัวโล้น ตอนนี้คุณจะเห็นว่ามีบ่อน้ำ 9 บ่อ ตอนนี้มีต้นไม้ใหญ่แล้ว มีไผ่ มีปลา ใครจะคิดว่าบ่อน้ำที่ขุดไว้เชิงดอยจะเก็บน้ำได้ตลอดปี หน้าแล้งก็มีเหลือใช้ สาเหตุเพราะมีป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ทุกวันนี้มีรายได้จากขายกล้วย เลี้ยงหมู วัว และไก่ ส่วนเรื่องการต่อยอดตอนนี้เรามีผลิตภัณฑ์จากใบตองตึง ซึ่งได้รับงบสนับสนุนจากกระทรวงมหาดไทยในการซื้อเครื่องมือในการผลิต ตรงนี้เราไม่มีตลาด ซึ่งจำเป็นต้องขอให้กระทรวงมหาดไทยเข้ามาช่วยเหลือ”

ลุงบุญมา เดินไปเล่าไปด้วยความภาคภูมิใจในสิ่งที่ตนเองทำ เดินไปตามไหล่เขาด้วยความคล่องแคล่ว ท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าว แต่ยังดูแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจในการที่จะยืนหยัดสู้ตามอุดมการณ์ของตนเองที่จะเจริญรอยตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งลุงบบุญมาบอกว่า “บางคนว่าผมบ้า” หากทำแบบนี้ไม่พอกิน คนที่เคยมาร่วม บางคนก็ถอยห่างออกไป เลิกลาไปประกอบอาชีพอื่นก็มี  ทีมงานเดินสำรวจพื้นที่แปลงโคกหนองนา ที่ตอนนี้อุดมสมบูรณ์ด้วยผลผลิตพืชพรรณนานาชนิด  ช่วงต้นฤดูฝนแบบนี้มีใบเขียวขจี หน่อไม้ กล้วยออกผลผลิตสามารถกินได้ ทำอาหารได้ และขายได้แล้ว ในขณะที่ในบ่อน้ำก็มีปลาหลากหลายชนิดทั้งปลานิล ปลาหมอ และปลาทับทิม รวมทั้งมี คอกวัว และเล้าหมู ไว้เพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว

ก่อนจากกัน ลุงบุญมา แหลมคม ย้ำอีกรอบอยากคุยกับปลัดกระทรวงมหาดไทย “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” เพื่อขอความช่วยเหลือหาตลาดผลิตภัณฑ์จากใบตองตึง ซึ่งทางเราได้ต่อสายให้ทั้ง 2 ท่านได้มีโอกาสพูดคุยกัน สุดท้ายปลัดกระทรวงมหาดไทยได้ขอให้ลุงบุญมาฝากตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากใบตองตึงให้ทีมงานไปมอบให้กับท่านที่กระทรวงเพื่อหาทางช่วยเหลือต่อไป

หากจะว่าไปแล้วข้าราชการกระทรวงมหาดไทยก็เปรียบเสมือน “พระโพธิสัตว์” คือ มีหน้าที่ในการช่วยเหลือแก้ทุกข์ แก้ความเดือดร้อนให้กับประชาชน ใครก็ตามได้เข้ามาทำงานกระทรวงนี้ถือว่าเป็นคนมีบุญ กำลังบำเพ็ญกุศลเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้พ้นจากความทุกข์ ที่สุขอยู่แล้วก็ให้สุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป สมดังที่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีของกระทรวงมหาดไทยทรงมีพระราชปณิธานว่า หน้าที่ของคนกระทรวงมหาดไทยคือ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับประชาชน

เป้าหมายคนสุดท้ายตามที่ รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทยแนะนำไว้คือ “สมชาย ยั่งสันติวงศ์” เป็นคนไทยเชื้อสายม้ง บอกกับเราว่า ตนเองเป็นคนศรัทธาศาสตร์ของพระราชามานานแล้ว ทำมานานกว่า 10 ปี เดิมก็ปลูกพืชเชิงเดี่ยวจำพวกกะหล่ำปลี ตอนหลังก็มาทำโรงเรือนปลูกผักจำพวกมะเขือเทศปลอดสารพิษ ที่ตำบลปางหินฝนนี้ ตอนแรกคนไม่เข้าใจคำว่า โคก หนอง นา เยอะ ว่ามันคืออะไร เพราะมันเป็นภาษาภาคกลาง เพราะที่นี่ไม่มี หนอง เราก็ต้องอธิบายนิยามให้กับท้องถิ่นว่า คำว่า โคก ก็คือที่ดอน ที่เนินเขาเอาไว้เป็นที่สร้างบ้าน ส่วนหนอง ก็คือ ระบบน้ำ เรื่องการวางแผนการจัดการน้ำว่าเราจะเก็บอย่างไร เก็บที่ไหนบ้าง ต้นทุนน้ำทำอย่างไรให้มีน้ำกินน้ำใช้ตลอดปี เรื่องของ นา เราไม่มีนาบนดอยหรอก นา ก็คือ เป็นที่ทำกินของเรา เราก็ต้องมาอธิบายแบบนี้ เอามาปรับเป็นภาษาถิ่นให้ได้ เขาจึงเข้าใจ ทำให้คนเข้ามาสมัครกันเยอะ รอบแรกคนอาจจะยังไม่เข้าใจ แต่รอบสองมานี้คนอยากได้น้ำ คนอยากได้งบประมาณมาช่วย อยากมีพี่เลี้ยงมาดูมาแนะนำ มีตัวอย่างแปลงที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ โดยมีภาครัฐอย่างกรมการพัฒนาชุมชนมาเป็นพี่เลี้ยงเขา ประชาชนเห็นความสำเร็จเลยอยากมาร่วมเยอะ

“ตอนนี้แปลงโคกหนองนาของผม อยู่ในขั้นก้าวหน้าคือแปรรูป ส่งขายแล้ว มีทั้งกาแฟ ผัก พันธุ์ไม้นานาชนิด ปลาในบ่อก็นำมาทำอาหารเลี้ยงคนส่งขายได้แล้ว ตอนนี้กำลังจะทำมะเขือเทศอบแห้ง อุปกรณ์ที่กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยมอบให้ครบหมดแล้ว ฐานทั้ง 9 ฐานของผมไม่เหมือนที่อื่น ผมจะทำห้องนอนไว้ทุกห้องเพื่อเป็นโฮมสเตย์รองรับนักท่องเที่ยว คนมาดูงานหารายได้ ทุกวันนี้แปลงระดับ 15 ไร่ทั้ง 7 ตำบลในอำเภอแม่แจ่มพวกเรานัดเจอเอามื้อสามัคคีกันทุกเดือนสลับกันไป หากพูดถึงการทำเขตเศรษฐกิจพอเพียงรวมตัวกันในพื้นที่เรายังไม่เกิด แต่อนาคตไม่แน่ เพราะในวงระดับ CLM มีการพูดคุยกันอยู่ตลอดและต่อเนื่อง..”

สำหรับแนวทางโครงการขับเคลื่อนแนวทางเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ที่กระทรวงมหาดไทยจะขับเคลื่อนประกอบด้วย 1)กำหนดพื้นที่เป้าหมาย/พื้นที่ปฏิบัติการ 2) พัฒนาและปรับปรุงพื้นที่เป้าหมาย/พื้นที่ปฏิบัติการ 3) บ่มเพาะพัฒนาบุคลากร 7 ภาคี คือ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคสื่อมวลชน และเร่งสร้างผู้ประกอบการใหม่ 4) สร้างงาน สร้างรายได้แก่ชุมชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก 5) ส่งเสริมการเรียนรู้เชิงประจักษ์ผ่านการฝึกปฏิบัติร่วมในรูปแบบจิตอาสาพัฒนาและจิตอาสาภัยพิบัติ 6) ต่อยอดผลผลิตเพื่อพัฒนาธุรกิจร่วมกับภาคเอกชน ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) 7) จัดทำแพลตฟอร์มขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) ด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ 8) สร้างนวัตกรรมจากฐานการวิจัยเพื่อพัฒนาตลาดและธุรกิจในพื้นที่ และ 9) สร้างการรับรู้และจดจำ และการสื่อสารสังคมเชิงรุก การขับเคลื่อนในพื้นที่จะแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ระดับครัวเรือน ระดับชุมชน/ตำบล ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด ผ่านแนวทางระบบเกษตรสองขา  “พอเพียง แบ่งปัน แข่งขันได้” โดยใช้รูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” มาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการดำเนินการ ผ่านกลไกการมีส่วนร่วมและภาคีการพัฒนาจากทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนาให้บรรลุเป้าหมายตามบริบทของพื้นที่ที่กำหนดร่วมกัน และส่งผลต่อการยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิต การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มพื้นที่จัดเก็บคาร์บอนและความสมดุลของสิ่งแวดล้อม เป็นการนำการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกต่อไป จะต้องติดตามว่าจะเข้าถึงประชาชนและสัมฤทธิ์ผลเหมือนโคก  หนอง  นา โมเดล หรือไม่??

Leave a Reply