“ปลัดเก่ง”มอบนโยบายให้อธิบดี – ผู้ว่าทั่วประเทศ เน้นย้ำ “ผู้ว่า-นายอำเภอ” ต้องฝึกคนในหน่วยงานเขียนข่าวสื่อสารกับประชาชนเป็น เพื่อให้เกิดพลังแห่งการมีส่วนร่วมในสังคม

วันนี้ (4 พ.ย. 64) เวลา 13:30 น. ณ ห้องประชุมราชบพิธ อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายและชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายของรัฐบาล และภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยมี รองปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดี ผู้ตรวจราชการกระทรวง ผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า วันนี้เป็นการประชุมมอบนโยบายและชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายของรัฐบาล และภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งผมมีแนวคิดในการขับเคลื่อนงานว่า “Change for good” ซึ่งหมายถึง การจะสร้างสิ่งดีให้เกิดขึ้น ต้องเป็นเป้าหมายที่สำคัญของชีวิตทุกคน ใครที่มีประสบการณ์ มีความรู้ ความสามารถ ไม่ว่าจะอยู่ภาคส่วนไหน และมีจิตอาสาช่วยงาน เมื่อทุกท่านเข้ามามีส่วนร่วมก็จะเกิดสิ่งดีและมีค่าแก่สังคม โดยได้เน้นย้ำการดำเนินงาน ได้แก่ เรื่องแรก คือ การขับเคลื่อนดำเนินงาน กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชปณิธาน ให้สังคมไทยของเราเป็นสังคมแห่งความรัก เสียสละ โดยสิ่งที่ทรงมีพระราชดำริพระราชทานให้กับสังคม เช่น โครงการจิตอาสาพระราชทาน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความเสียสละ ไม่มีผลตอบแทน โดยส่งเสริมบทบาทจิตอาสาภาคประชาชน และเสริมสร้างการรับรู้ความเข้าใจ บทบาทของจิตอาสาประเภทต่าง ๆ อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม “จิตอาสาคู คลอง” ต้องทำทันที ทำต่อเนื่อง เพื่อคืนสภาพแม่น้ำลำคลองให้ใสสะอาด สวยงาม ตามพระบรมราโชบายในการสืบสาน รักษา ต่อยอด เพื่อประโยชน์สุขของประชาราษฎร และการแก้ไขในสิ่งผิด เรื่องถัดมา คือ การขับเคลื่อนกิจกรรมโคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง เพื่อพัฒนาผู้ต้องขังที่กำลังจะพ้นโทษของกรมราชทัณฑ์ ให้ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตก่อนออกมาใช้ชีวิตในสังคม ด้วยการวางระบบการติดตามในการเข้าไปช่วยเหลือดูแล โดยประสานกับผู้บัญชาการเรือนจำในพื้นที่ในการจัดระบบจัดเก็บข้อมูลของผู้ผ่านการฝึกอบรมโครงการ โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความประสงค์ที่จะประกอบสัมมาอาชีพภายหลังจากพ้นโทษ เพื่อให้คนที่ทำผิดไปแล้ว ไม่ทำผิดซ้ำซาก เป็นสุจริตชนที่อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข เป็นการคืนคนดีให้กับสังคม คือ การช่วยเหลือสุจริตชนให้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในปี 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงมีพระชนมพรรษาครบ 70 พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จะทรงมีพระชนมพรรษาครบ 90 พรรษา เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติของพระองค์ท่าน ขอให้ทุกจังหวัดร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ด้วยการสำรวจสถานที่ที่พระองค์ได้ปฏิบัติพระราชกรณีกิจทรงงานให้กับประชาชนทั่วประเทศ เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสดังกล่าว รวมไปถึงการบำรุงรักษาสถานที่ตั้งแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ให้เป็น Landmark สำคัญของจังหวัด ด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เพื่อทำให้คนในท้องถิ่นหวงแหน ดูแลรักษาให้สวยงาม สะอาด เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อเป็นการปฏิบัติบูชาแด่พระองค์ท่าน นอกจากนี้ ให้พิจารณาจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติในวาระต่าง ๆ เพื่อร่วมกันสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนต่อไป ประการต่อมา ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ส่งเสริมการจัดการศึกษาของเด็กนักเรียนทั้งในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนา “ทักษะมือ” ตามพระราชดำริในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทั้งเรื่องงานฝีมือ การทำอาหาร เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ถือเป็น “อารยะการศึกษา” ที่ทุกประเทศในโลกพัฒนาพลเมืองของประเทศ รวมไปถึงร่วมกันส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขับเคลื่อนการดำเนินงาน “ศูนย์พักพิงสุนัขจรจัด” ตามพระดำริในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เพื่อส่งเสริมการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งเป็นโรคที่ยังไม่สามารถรักษาได้ และเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องขอความร่วมมือดำเนินการเพื่อความปลอดภัยของประชาชน และเป็นไปตามหลักมนุษยธรรม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า ในด้านการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ ซึ่งในขณะนี้ได้มีการผ่อนคลายผ่อนปรนกิจการ/กิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะการเปิดภาคเรียนของนักเรียน จึงขอให้ทุกจังหวัดรวบรวมผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการสถานการณ์ที่ดีขึ้นในพื้นที่รายงานมายังส่วนกลาง เพื่อรายงานไปยัง ศบค. ต่อไป และอีกประการสำคัญในการบริหารสถานการณ์ฯ คือ การบริหารจัดการการฉีดวัคซีน ให้กับประชาชนคนไทย และชาวต่างด้าวที่พักอาศัยในประเทศไทย ขอให้นำแอปพลิเคชัน jitasa.care ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่เกิดจากแรงบันดาลในของจิตอาสา ไม่มีค่าใช้จ่าย มาเป็นเครื่องมือในการสำรวจผู้ได้รับวัคซีน และผู้ที่ประสงค์จะรับวัคซีนแต่ยังไม่ได้ฉีด โดยให้อาสาสมัครในพื้นที่ ทั้ง อสม. อปพร. และจิตอาสาในพื้นที่ช่วยกันสำรวจและลงบันทึกข้อมูลในระบบดังกล่าว ซึ่งจะทำให้มีข้อมูลในการบริหารระดับพื้นที่ รวมถึงเป็นข้อมูลในการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ของ ศบค. ในภาพรวมได้อีกด้วย

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เน้นย้ำว่า การสื่อสารกับสังคม เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการบริหารงานของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ รวมถึงทุกหน่วยงานในระดับพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ทุกคนทำงานกันอย่างหนัก แต่ขาดการสื่อสารกับสังคม จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเน้นย้ำและกำชับข้าราชการทุกระดับในพื้นที่ สื่อสารสังคม สร้างการรับรู้ความเข้าใจเพื่อให้เกิดความร่วมมือของพี่น้องประชาชนในการร่วมขับเคลื่อนงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ของกระทรวงมหาดไทย

นอกจากนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวถึง การรณรงค์สวมใส่ผ้าไทย โดยให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ในการส่งเสริมให้ข้าราชการ ประชาชน แต่งกายด้วยผ้าไทยตามความเหมาะสมของท้องถิ่นเพิ่มขึ้นหรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรณรงค์เชิญชวนให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่สวมใส่ผ้าไทยที่เป็นภูมิปัญญาของคนในจังหวัดอย่างต่อเนื่องหลากหลาย และร่วมกันหาโอกาสสวมใส่ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี เพื่อร่วมสืบสานพระปณิธานในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ประกอบอาชีพทอผ้าในทุกภูมิภาค สานต่อพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ยังกล่าวต่อว่า ภารกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของกระทรวงมหาดไทย คือ การแก้ไขปัญหาความยากจน โดยใช้แนวทางการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Development Zones : Sedz) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Economy model) โดยน้อมนำหลักการเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา มาเสริมสร้างความเข้าใจและเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมโครงการ ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าว จะทำให้พื้นที่ของประชาชนเป็นพื้นที่ที่มั่นคง ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้โดยปลอดภัยจากสาธารณภัย ภัยแล้ง หรือวาตภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นตัวอย่างความสำเร็จในการดำเนินการพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ เช่น จังหวัดสุโขทัย กาฬสินธุ์ สุรินทร์ และจังหวัดกำแพงเพชร เป็นต้น ด้วยการปรับพื้นที่ ซึ่ง “โคก หนอง นา โมเดล” หากคิดเป็น 1 หลุมขนมครก จะสามารถเก็บกักน้ำได้ทั้งปี เมื่อมีป่าชุ่มชื้นจะสามารถเก็บกักน้ำใต้ดินได้เพิ่มขึ้นอีก สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ และที่สำคัญคือมีน้ำเก็บไว้ใช้ยามหน้าแล้ง สามารถปลูกพืชพันธุ์ได้ตลอดปี มีพอกิน พออยู่ พอใช้ โดยขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายพัฒนาการจังหวัด พัฒนาการอำเภอ ได้หารือร่วมกับนายอำเภอในพื้นที่ ดำเนินการประชาสัมพันธ์รับสมัครประชาชนเข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ ให้นำข้อมูลระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform : TPMAP) มาเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างเป็นระบบบนฐานข้อมูลที่นำไปสู่ความยั่งยืน

สำหรับในด้านการแก้ไขปัญหาด้านสาธารณภัย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เร่งรัดดำเนินการ ตามนโยบายของ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยบูรณาการทุกภาคส่วนในพื้นที่ ระดมสรรพกำลังเข้าให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชน เยียวยา ทำให้ชาวบ้านรู้สึกดี ช่วยกันซ่อม ช่วยกันทำความสะอาด อาคารบ้านเรือน และสาธารณสถานในพื้นที่ เช่น ที่จังหวัดจันทบุรี มีทหาร กลุ่มอาชีวะ อาสาช่วยกันซ่อม รวมถึงให้จัดทำคลินิกสาธารณภัยเพื่อช่วยเหลือประชาชน และเร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ความเข้าใจกับประชาชนในการดำเนินการบูรณาการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐและทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ในด้านการบริหารงานปกครองท้องที่ ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะนายกรัฐมนตรีของจังหวัด ต้องมอบหมายและเน้นย้ำให้นายอำเภอขับเคลื่อนการทำงานโดยให้ความสำคัญกับงานของทุกกระทรวง และกรม ในระดับพื้นที่ เพราะงานของทุกส่วนราชการที่ลงไปสู่พื้นที่ถือเป็นภารกิจของนายอำเภอด้วย ไม่ว่างานการพัฒนา หรืองานใดที่ช่วยทำให้ชาวบ้านมีความสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดูแลกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ยากไร้ ผู้ไม่มีจะกิน กลุ่มเปราะบาง นายอำเภอและปลัดอำเภอผู้รับผิดชอบประจำตำบลต้องบูรณาการความร่วมมือขององคาพยพที่อยู่ในท้องถิ่น ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน (อช.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้เป็นกำลังสำคัญในการที่จะมาร่วมกันขับเคลื่อนงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ประชาชน

       “ผู้ว่าราชการจังหวัด – นายอำเภอ ต้องฝึกข้าราชการทุกระดับในพื้นที่ เขียนข่าวเพื่อประชาสัมพันธ์สื่อสารกับสังคมให้เกิดความสุข และพลังแห่งการมีส่วนร่วม-ความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่” นายสุทธิพงษ์ ฯ กล่าวทิ้งท้าย

Leave a Reply