“กระทรวงวัฒนธรรม” ชวน “แต่งไทยไปลอยกระทง”

วันที่ 27 พ.ย. 66 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลมุ่งขับเคลื่อน Soft Power โดยเฉพาะด้านเฟสติวัลเทศกาลประเพณีและด้านท่องเที่ยว สอดคล้องกับเป้าหมายของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ในการส่งเสริมคุณค่าเทศกาลประเพณีของชาติและเทศกาลอื่นๆด้านวัฒนธรรมให้เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ จึงได้ร่วมจัดงาน Thailand Winter Festivals ที่เป็นงานเฟสติวัลและเทศกาลประเพณีในกรุงเทพฯและจังหวัดต่างๆ ซึ่งรวมถึงงานเทศกาลประเพณีลอยกระทงที่วธ.บูรณาการกับหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนจัดงานขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในหลายพื้นที่ อาทิ งานสืบสานตำนานยี่เป็ง ลอยกระทง 4 ชาติ ประทีปบ้านล้านดวง จังหวัดเชียงราย งานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย งานลอยกระทงสายน้ำแห่งวัฒนธรรม ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร งาน “SOOKSIAM ลำนำ วันเพ็ญ” ณ เมืองสุขสยาม ไอคอนสยาม ชั้น G กรุงเทพฯ งานร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทย งานประเพณีลอยกระทง จังหวัดนครปฐม เป็นต้น ซึ่งมีกิจกรรมส่งเสริมและรณรงค์ให้ประชาชนแต่งกายชุดไทยไปลอยกระทงเพื่ออนุรักษ์ความเป็นไทย การประกวดกระทง การประกวดนางนพมาศ การแสดงพื้นบ้าน การจำหน่าย และจัดแสดงผลิตภัณฑ์อาหารพื้นบ้าน รวมทั้งมุ่งยกระดับงานประเพณีลอยกระทงให้เป็นงานระดับนานาชาติ นอกจากนี้ วธ.จัดกิจกรรมร่วมสืบสานประเพณีลอยกระทงผ่านบัตรอวยพรอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงวัฒนธรรม “ลอยกระทง สายน้ำแห่งวัฒนธรรม Loy Krathong : River of Culture” ตั้งแต่วันนี้ ถึง ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ ได้ที่ลิงค์ : https://ecard.m-culture.go.th

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า การจัดงานประเพณีลอยกระทงที่วธ.ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆจัดขึ้นมุ่งเน้นประเด็นคุณค่าสาระของวัฒนธรรมประเพณี วิถีอัตลักษณ์ท้องถิ่น ได้แก่ 1. จัดกิจกรรมเน้นคุณค่าและสาระของวัฒนธรรม ประเพณี การท่องเที่ยวและสุขภาพ โดยคำนึงถึงความเหมาะสม ความหลากหลายของแต่ละท้องถิ่น 2. ส่งเสริมให้จังหวัดต่างๆ ร่วมจัดกิจกรรมทางศาสนา ความเชื่อ ในประเพณีลอยกระทงอย่างเหมาะสม 3. รณรงค์ให้ประชาชนสืบสานคุณค่าสาระและสิ่งที่ควรทำของประเพณีลอยกระทง รักษาความสะอาดแม่น้ำ ลำคลอง ประดิษฐ์กระทงด้วยวัสดุในท้องถิ่นหรือวัสดุที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม 4. สนับสนุนศิลปินพื้นบ้านในการจัดกิจกรรมการละเล่น และการแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น 5. ผู้เข้าร่วมงาน ควรคำนึงถึงหลักสิทธิ มนุษยชน เช่น การไม่คุกคามทางเพศ การไม่เล่นประทัด พลุ ดอกไม้ไฟในที่สาธารณะ 6. ขับขี่ยานพาหนะและใช้ถนนหนทางให้ปฏิบัติตาม กฎหมาย กฎจราจรอย่างเคร่งครัด

นายเสริมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า 7. การดำเนินการจัดงานตามคำแนะนำในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด โรคติดเชื้อของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และการรักษาความปลอดภัยในด้านอื่น ๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 8. ส่งเสริมภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณีลอยกระทงทั้งในระดับท้องถิ่น ประเทศ และระหว่างประเทศ 9. ส่งเสริมภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน ในการเผยแพร่คุณค่าสาระของประเพณีลอยกระทงที่แท้จริงของต่อชาวต่างชาติ 10.ส่งเสริมในการสร้างความตระหนักรู้ ต่อประชาชนเกี่ยวกับประเพณีลอยกระทงในประเทศไทยในฐานะที่เป็นมรดกภูมิปัญญาของชาติ สร้างความภาคภูมิใจและหวงแหนในประเพณีลอยกระทงต่อประชาชน 11.รณรงค์ให้ประชาชนสร้างอัตลักษณ์ความเป็นไทยในการเข้าร่วมกิจกรรม ประเพณีลอยกระทง เช่น แต่งกายด้วยชุดสุภาพผ้าไทย ผ้าท้องถิ่น หรือชุดไทยที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น เป็นต้น 12. ส่งเสริมกิจกรรมที่มีความสร้างสรรค์ที่สามารถพัฒนาต่อยอดคุณค่าสาระลอยกระทง เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจของชุมชนและของประเทศ โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในชุมชน และยังคงอัตลักษณ์ของความเป็นท้องถิ่น ขณะเดียวกันประเทศไทยโดยวธ.เตรียมเสนอขึ้นทะเบียนเทศกาลประเพณีลอยกระทง เป็นรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ในปี 2567

Leave a Reply