อดีตผู้ว่า สตง. ร่อนหนังสือถึงเลขาธิการ ครม.กำหนดคุณสมบัติ ผอ.สำนักพุทธ

วันที่ 18 เมษายน 2565 จากกรณีที่ นายสิปบวรแก้วงาม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้นำเอากระทู้ของนายกรัฐมนตรีมาตอบหนังสือของ นายพิศิษฐ์  ลีลาวชิโรภาส  อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งผิดต่อประมวลจริยธรรมข้าราชการ พลเรือน พ.ศ. 2564

นายพิศิษฐ์ ได้ทำหนังสือถึงนายสิปบวร อีกครั้งโดยชี้ให้เห็นว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา ได้เกิดปัญหากับวงการคณะสงฆ์มาอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งโอนย้ายมาจากหน่วยงานอื่น แล้วไม่เข้าใจงานของคณะสงฆ์ ซึ่งเป็นงานเฉพาะด้านที่มีความละเอียดอ่อน จะเห็นได้จากกรณีการนำกระทู้ของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการตอบกระทู้ทางการเมืองมาตอบหนังสือทางราชการ สะท้อนให้เห็นความไม่ประสีประสาทางราชการ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้เห็นปัญหาของคณะสงฆ์มากมาย อันเกิดจากสำนักพุทธ ฯ โดยเฉพาะการกล่าวหาพระผู้ใหญ่ในหลายกรณี หนังสือของอดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินฉบับดังกล่าว ยังได้เสนอแนะคุณสมบัติผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ต้องเป็นมหาเปรียญ 6 ประโยคขึ้นไป และต้องได้รับความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคมก่อน จะได้เข้าใจงานของคณะคณะสงฆ์อย่างถูกต้อง คุณสมบัติดังกล่าวสามารถกำหนดได้ เพราะเป็นข้าราชการที่ทำงานเฉพาะด้าน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้คนที่ไม่เข้าใจงานคณะสงฆ์ เข้ามามีอำนาจหน้าที่สำคัญทางศาสนา ทำให้เกิดความเสียหาวงการพระพุทธศาสนา ดังเช่นที่ผ่านมา

โดยนายพิศิษฐ์ ได้ระบุในหนังสือดังกล่าวว่า ขอเรียนให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้รับทราบว่า การตอบหนังสือถึงข้าพเจ้าดังกล่าวที่อ้างถึงนั้น เป็นการตอบหนังสือในลักษณะเบี่ยงเบนประเด็นที่จงใจจะไม่กล่าวถึงสาระสำคัญ อีกทั้งยังขาดทักษะ ตลอดจนความเข้าใจที่ถูกต้องในการปฏิบัติราชการของผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติอันเป็นเหตุที่ข้าพเจ้าจำเป็นจะต้องชี้ให้เห็นถึงความผิดพลาดบกพร่องของการปฏิบัติราชการในสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติที่ปรากฏชัดเจนนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 เป็นต้นมาดังต่อไปนี้

1) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติขาดความรอบรู้อย่างชัดเจนในกิจการพระพุทธศาสนาและการปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่รู้หน้าที่ของตนที่จะต้องอุปถัมภ์ค้ำจุนพระพุทธศาสนา โดยต้องยึดหลักพระธรรมวินัยของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัด แต่พฤติการณ์ที่ปรากฏนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 เป็นต้นมา หน่วยงานราชการแห่งนี้กลับกลายเป็นหน่วยงานที่กล่าวหาพระเถระตามพระอารามหลวงต่าง ๆ อย่างมีวาระซ่อนเร้นเต็มไปด้วยอคติส่วนตน ดังเช่นกรณีที่ไปกล่าวหาพระเถระชั้นผู้ใหญ่ตามพระอารามหลวงต่างๆ ที่แฝงไว้ด้วยความมีเลศนัย โดยมิได้มีการหารือเจ้าคณะผู้ปกครองให้สามารถดำเนินการตามขั้นตอนของพระธรรมวินัยอย่างรอบคอบถี่ถ้วนให้เป็นที่ยุติเสียก่อน แล้วจึงจะเข้าไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวน การจงใจข้ามขั้นตอนในส่วนนี้ จึงเป็นการส่อแสดงถึงความมีวาระซ่อนเร้นบนความมีอคติส่วนตน ซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งนี้จะต้องไม่ปฏิบัติเยี่ยงนี้

2) การกล่าวอ้างถึงการตอบกระทู้ถามของนายกรัฐมนตรีที่ตอบกระทู้ถามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แล้วนำมาใช้เป็นการตอบในหนังสือที่ข้าพเจ้าได้ถามไปในทางราชการนั้น ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทราบบ้างหรือไม่ว่า การตอบกระทู้ถามเป็นเรื่องทางการเมืองในวงงานของสภาผู้แทนราษฎร ส่วนเรื่องที่ข้าพเจ้าได้ถามไปนั้น   เป็นเรื่องที่ได้ถามไปในทางราชการ จึงไม่สมควรที่จะนำเรื่องทางการเมืองมาใช้เป็นข้ออ้างในการตอบหนังสือของข้าพเจ้า พฤติการณ์แบบนี้จึงเป็นการฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือนในข้อ 2 (2) ที่ได้กำหนดไว้ในวรรคท้ายของข้อนี้ว่า “รับผิดชอบต่อหน้าที่ มีความพร้อมรับการตรวจสอบและรับผิด มีจิตสำนึกที่ดี โดยคำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม  สิทธิมนุษยชน และเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”

3) การปฏิบัติหน้าที่ราชการที่ไม่รอบรู้ในหน้าที่ของตน ทั้งที่มีการกำหนดไว้แล้วตามระเบียบการบริหารราชการและยังไม่ประสีประสากับโบราณราชประเพณีในด้านการพระพุทธศาสนา จึงเป็นผลทำให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในปัจจุบันถูกครอบงำจากผู้มีอำนาจแฝงนอกระบบราชการเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป จนทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายเกิดขึ้นในหมู่คณะผู้ปกครองสงฆ์หลายระดับดังปรากฏเหตุการณ์ที่เห็นได้อย่างชัดเจนจากหลายๆจังหวัดเมื่อไม่นานมานี้ วงการคณะสงฆ์จึงเกิดมีคำถามว่า ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร

4) ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเคยทราบมาก่อนหรือไม่ว่า คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้มีประกาศประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือนที่ลงนามโดยศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ก.พ. เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 และได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2564 จนถึงขณะนี้เป็นเวลาเกือบ 1 ปี ข้อเท็จจริงปรากฏว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นหน่วยงานราชการแห่งหนึ่งที่มีการปฏิบัติราชการฝ่าฝืนต่อข้อกำหนดในประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือนดังกล่าวในหลายๆ ข้ออย่างต่อเนื่องตลอดมา ประกอบด้วย ข้อ 2 วรรคท้ายที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว ข้อ 3 วรรคท้ายที่ได้กำหนดว่า “…ใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากอคติ และไม่ยอมกระทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสมเพียงเพื่อรักษาประโยชน์หรือสถานภาพของตนเอง” ข้อ 6 ที่กำหนดไว้ว่า “ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม ปราศจากอคติ และไม่เลือกปฏิบัติโดยการใช้ความรู้สึกหรือความสัมพันธ์ส่วนตัว…” และข้อ 7 กำหนดว่า   “.ไม่อ้างหรือใช้อำนาจโดยปราศจากเหตุผล…” และเมื่อมีการฝ่าฝืนอยู่เนืองๆ โดย  ไม่นำพาต่อประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือนอาจเป็นเหตุให้มีผู้ร้องให้สอบสวนเอาความผิดทางวินัยข้าราชการและ/หรืออาจเลยไปถึงการขอให้ดำเนินการเอาความผิดที่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 อีกทางหนึ่งด้วย

5 ) ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า นับตั้งแต่มีการจัดตั้งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติขึ้นมาทำหน้าที่แทนกรมการศาสนา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการแต่เดิม ปรากฏว่า   ได้สร้างความร้าวฉานให้เกิดขึ้นในหมู่คณะสงฆ์จนทำให้พุทธศาสนิกชนเกิดความเสื่อมศรัทธา เหตุเพราะมีปัจจัยหลักจากการที่ผู้มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมิได้ปฏิบัติราชการสนองตอบต่อเจตนารมณ์ในการตั้งส่วนงานราชการแห่งนี้ ดังนั้นในฐานะที่ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคมตามที่กฎหมายกำหนดอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งรีบแก้ไขข้อบกพร่องประการสำคัญนี้อย่างเร่งด่วน โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติดังนี้

5.1 เป็นผู้ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างเป็นที่ประจักษ์ปราศจากข้อสงสัย
5.2 เป็นผู้ที่เคยผ่านการบวชเรียนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 พรรษา และผ่านการสอบเปรียญธรรมไม่น้อยกว่า 6 ประโยค
5.3 เป็นผู้ที่มหาเถรสมาคมมีมติให้ความเห็นชอบ

นอกจากนั้น นายพิศิษฐ์ ยังได้ทำหนังสือถึง นายภูมินทร ปลั่งสมบัติ รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีปฏิบัติการแทนเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และ นายอนุชา นาคาสัย รัฐมนตรีประจำสำนนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ อีกด้วย

Leave a Reply