ปลัด มท.ลุยเชียงของติดตามอำเภอนำร่องแก้จนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง สร้างความมั่นคงได้อย่างยั่งยืน

 

วันที่ 5 พฤศจิกายน 2565 ที่ว่าการอำเภอเชียงของ จ.เชียงราย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจติดตามภายใต้โครงการอำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการ ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยมี นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายบัญชา เชาวรินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายกนก ศรีวิชัยนันท์ ปลัดจังหวัดเชียงราย นายวิรุฬห์ สิทธิวงศ์ นายอำเภอเชียงของ หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และคณะทำงาน Change for Good ของกระทรวงมหาดไทย ร่วมรับมอบนโยบาย

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายที่ได้ให้การสนับสนุนทีม Change for Good จากส่วนกลางซึ่งเป็นการรวมตัวกันของตัวแทนจากทุกส่วนราชการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจมาขับเคลื่อนโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ อันเป็นการทลายมิติของคำว่าหน่วยงาน เฉกเช่นที่นายอำเภอเชียงของได้ขับเคลื่อนร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่อำเภอเชียงของ ซึ่งการเรียกว่าทีม Change for Good นั้น เพื่อเตือนใจว่าเราจะช่วยกันสร้างสิ่งที่ดีให้กับพี่น้องประชาชน เป็นฐานในการขับเคลื่อนปณิธาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้เพิ่มมากขึ้น และขณะเดียวกันคำว่า Change for Good มีนัยสำคัญที่ทั่วโลกยึดเป็นเป้าหมายหลักในการเตือนให้มนุษยชาติได้ดำรงชีวิตโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ดังถ้อยแถลงของ ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ว่าประเทศไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 ในที่ประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 โดยในครั้งที่ 27 จะจัดที่ประเทศอียิปต์

“สิ่งสำคัญที่ต้องอยู่ควบคู่กับการทำงานได้ตลอดเวลา นั่นคือ อุดมการณ์ (Passion) ที่ไม่ว่าเราจะอยู่ในตำแหน่งใด เราสามารถนำอุดมการณ์นั้น มาเป็นคำขวัญ เป็น MOTTO เชิญชวนให้คนในองค์กรมีแนวทางการทำงานทิศทางเดียวกัน ทำไปพร้อมกัน ดังภาษิตโบราณที่ว่า คนพายเรือถ้าจ้ำพร้อมกันเรือก็จะวิ่งเร็ว แต่ถ้าจ้ำกันคนละทีสองทีเรือก็จะอยู่อย่างนั้น ไปไหนไม่รอด ซึ่งกระทรวงมหาดไทยและจังหวัดเชียงราย ต่างมีอุดมการณ์ ทีเป้าหมายที่เหมือนกัน คือ การทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุขเพิ่มพูนมากขึ้น” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ได้กล่าวต่ออีกว่า การบูรณาการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี อันประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อมวลชน ภาคีเครือข่ายที่สำคัญ คือ “ภาคสื่อมวลชน” อันหมายถึงตัวพวกเราทุกคน ไม่ใช่เพียงแค่ผู้มีอาชีพเป็นผู้สื่อข่าวหรือเป็นนักข่าว เพราะตัว R หรือ Report คือ การรายงาน สื่อสาร การบอก การเล่า มีความสำคัญกับทุกสังคม ทุกครอบครัว เช่น เวลาเราทำงานอะไรก็ไปบอกเล่าคนในครอบครัวให้ได้รับรู้รับทราบว่าเรามาทำอะไร หรือสังคมที่ทำงาน ถ้าเราไม่รายงานเลย ผู้บังคับบัญชาก็ไม่รู้ เพื่อนร่วมงานก็ไม่รู้ ผลสัมฤทธิ์หรือประโยชน์ในวงกว้างก็เกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้น “การเป็นผู้สื่อข่าว” จึงเป็นวิธีการทำงานที่จะทำให้ผู้บังคับบัญชาได้รับรู้รับทราบสิ่งที่เราทำ และอยากทำในสิ่งที่เรานำเสนอที่เรารายงาน “ซึ่งถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญของผู้ใต้บังคับบัญชา” ไม่ใช่เป็นลูกน้องที่เป็นนกแก้วนกขุนทอง เราต้องเป็นคนที่คิด คิด แล้วก็คิด ที่จะ Change for Good ด้วยการพูดคุย นำเสนอ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่น โซเชียลมีเดียต่าง ๆ ถ้าทุกคนช่วยกันสื่อสารสิ่งดี ๆ สิ่งที่เป็นประโยชน์ สิ่งที่สร้างสรรค์ไปยังเพื่อนของเราทุกคนได้รู้ มันก็จะเกิดพลานุภาพ เกิดพลังแรงขับเคลื่อนจนกระทั่งเกิดการ Change for Good

“เราต้องหล่อเลี้ยงสิ่งที่เรียกว่า “อุดมการณ์” หรือ “Passion” ที่มีใจที่อยากทำสิ่งดี ๆ ให้กับพี่น้องประชาชน คนมหาดไทยต้องทำงานไม่ใช่ทำเพราะเป็นหน้าที่ แต่ทำจาก Inner ของตัวเอง มีองค์ความรู้ในการที่จะขับเคลื่อนงานด้วยการคิด ริเริ่ม ต่อยอด การทำงานได้ มีภาวะผู้นำและเป็นผู้ประสานงานที่ดี นั่นคือ ต้องมีคุณสมบัติ คือ “มีใจ มี Passion มีองค์ความรู้ มีภาวะผู้นำ เป็นผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน” จนสามารถประสานงานกับภาคีเครือข่ายและพี่น้องประชาชนได้ ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานหลัก “บวร” “บรม” “ครบ” ซึ่งจะเห็นตัวอย่างได้จากคนมหาดไทยที่เป็นผู้นำในพื้นที่จังหวัด อำเภอ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ต้องช่วยกันเป็น “ผู้นำต้องทำก่อน” เพื่อสร้างคนที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ในทุกหน่วยงาน ทุกอำเภอ ทุกจังหวัด นอกจากนี้ ต้องตระหนักว่าเราเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ต้องน้อมนำพระราชปณิธานของพระองค์ที่ทรงแน่วแน่ในการทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นเครื่องมือ เพราะสิ่งที่นายอำเภอกำลังขับเคลื่อนอยู่นี้ คือ การ “แก้ไขในสิ่งผิด” ด้วยความรักสามัคคี ด้วยการบูรณาการ ต้องคุยกันบ่อย ๆ เพื่อที่จะมีเป้าหมายเดียวกัน และไม่ลืมคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ต้องพออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น รู้จักแบ่งปัน ทำบุญทำทาน ช่วยเหลือเกื้อกูล มีจิตสาธารณะ จิตอาสา” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวต่ออีกว่า ขอให้จังหวัดเชียงราย อำเภอเชียงของ และทุกอำเภอ ได้สร้างองค์รวมเหล่านี้ให้เกิดขึ้นในชุมชน ในตำบล/หมู่บ้าน ให้เกิดการพึ่งพาตนเอง ด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการปลูกผักสร้างความมั่นคงด้านอาหาร การเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู เลี้ยงจิ้งหรีด เลี้ยงไส้เดือน เลี้ยงกบ สืบสานรักษาภูมิปัญญาบรรพบุรุษ และบูรณาการให้ระบบนิเวศกลับคืนมา ด้วยการส่งเสริมองค์ความรู้พัฒนาคนในพื้นที่ให้คนพึ่งตนเอง รักษา อนุรักษ์ หวงแหน สิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) โครงการ 1 อปท. 1 ถนนสวยงาม และทางนี้มีผลผู้คนรักกัน รวมถึงการทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ ประเพณีวัฒนธรรม ภาษา การแต่งกาย ยังคงอยู่คู่กับสังคมพื้นที่ ดังพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ว่า “ความรู้คู่คุณธรรม” ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้พวกเรามีภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ เราต้องมีเหตุมีผล เป็นนักยุทธศาสตร์ ที่มี passion ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข มีภาวะผู้นำ กล้าพูดในที่ชุมชน กล้าเสนอความคิดเห็นในที่ประชุม กล้าที่จะนำเสนอสิ่งที่ดี ทำงานเป็นทีม ไม่แบ่งแยกส่วนเป็นไซโล หาจุดแข็งของพื้นที่ให้เจอ รวมทั้งน้อมนำแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพื่อให้แม่ ๆ ผู้ประกอบการ ช่างทอผ้า ได้มีอาชีพ มีรายได้ และสืบทอดไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน “ผ้าไทย ถ้าใส่กันทุกคน มันก็จะสนุก เพราะมีความหลากหลายรูปแบบ ตามแฟชั่นนิยม ตามที่เราชอบ” ซึ่งผ้าไทยใส่ให้สนุกนั้น เราต้องช่วยกันพัฒนาผู้ประกอบการให้สร้างสรรค์ชิ้นงานทำให้ผ้าไทยใส่ได้ในคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส ไม่ใช่แต่เพียงพิธีการ เพื่อให้เกิดความต้องการ (demand side) ไปขับเคลื่อน supply side ซึ่งจะทำให้ส่งผลดีทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ คือ คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนของพี่น้องประชาชน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกอย่างจะเกิดได้ก็จากการบูรณาการ บูรณาการเกิดจากการพูดคุย ปรึกษาหารือ การปรึกษาหารือจะดีได้ต้องไม่อายที่จะเสนอความเห็น ซึ่งการจะเสนอความเห็นที่ดี เราต้องช่วยกัน Change for Good เสาะแสวงหาสิ่งที่ดี โดยไม่ต้องอาย ไม่ต้องกลัวซ้ำใคร เพราะเราพูดจากใจ จาก Passion จากความปรารถนาดี ที่อยากให้ประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน ซึ่งประชาชนจะมีความสุขอย่างยั่งยืนได้ต้องอยู่กับ “ทีมอำเภอที่อยู่ในพื้นที่” เราจึงต้องช่วยกันสร้างทีมเหล่านี้ให้มากขึ้น ให้เข้มแข็ง สร้างทีมให้ครบทั้ง 18 อำเภอ ครบทุกตำบล หมู่บ้าน เพื่อพวกเราทุกคนจะได้มองบ้านเมืองนี้ได้อย่างมีความภูมิใจและความสุขว่าเราได้ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

“งานในปีงบประมาณ 2565 ดำเนินการเสร็จแล้ว แต่มัน “สำเร็จ” หรือยัง … เราทำให้ชาวบ้านเริ่ม “อยู่รอด” ได้ ต่อไปเราจะทำอย่างไรให้เขารู้จักความ “พอเพียง” จนสามารถที่จะยกระดับไปสู่ความ “ยั่งยืน” ได้จริง ซึ่งทุกสิ่งที่เราร่วมกันทำอยู่นี้ คือการมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกนั่นเอง” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวย้ำในช่วงท้าย

Leave a Reply