วันที่ 2 มกราคม 2566 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ Dr. Suvit Maesincee อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ความว่า ให้ “พรหมวิหาร ๔”
พรหมวิหาร แปลว่า ธรรมของพรหมหรือของท่านผู้เป็นใหญ่ พรหมวิหารเป็นหลักธรรมสำหรับทุกคน เป็นหลักธรรมประจำใจที่จะช่วยให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างประเสริฐและบริสุทธิ์ หลักธรรมนี้ได้แก่
เมตตา ความปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข
กรุณา ความปราถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
มุทิตา ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี
อุเบกขา การรู้จักวางเฉย
คำอธิบายพรหมวิหาร ๔
๑. เมตตา : ความปราถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข ความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา ความสุขเกิดขึ้นได้ทั้งกายและใจ เช่น ความสุขเกิดการมีทรัพย์ ความสุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์เพื่อการบริโภค ความสุขเกิดจากการไม่เป็นหนี้ และความสุขเกิดจากการทำงานที่ปราศจากโทษ เป็นต้น
๒. กรุณา : ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ความทุกข์ คือ สิ่งที่เข้ามาเบียดเบียนให้เกิดความไม่สบายกาย
ไม่สบายใจ และเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายประการด้วยกัน พระพุทธองค์ทรงสรุปไว้ว่าความทุกข์มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
– ทุกข์โดยสภาวะ หรือเกิดจากเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของร่างกาย เช่น การเกิด การเจ็บไข้ ความแก่และความตายสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่เกิดมาในโลกจะต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งรวมเรียกว่า กายิกทุกข์
– ทุกข์จรหรือทุกข์ทางใจ อันเป็นความทุกข์ที่เกิดจากสาเหตุที่อยู่นอกตัวเรา เช่น เมื่อปรารถนาแล้วไม่สมหวังก็เป็นทุกข์ การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ รวมเรียกว่า เจตสิกทุกข์
๓. มุทิตา : ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี คำว่า “ดี” ในที่นี้ หมายถึง การมีความสุขหรือมีความเจริญก้าวหน้า ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดีจึงหมายถึง ความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้น ไม่มีจิตใจริษยา ความริษยา คือ ความไม่สบายใจ ความโกรธ ความฟุ้งซ่านซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดีกว่าตน เช่น เห็นเพื่อนแต่งตัวเรียบร้อยแล้วครูชมเชยก็เกิดความริษยาจึงแกล้งเอาเศษชอล์ก โคลน หรือหมึกไปป้ายตามเสื้อกางเกงของเพื่อนนักเรียนคนนั้นให้สกปรกเลอะเทอะ เราต้องหมั่นฝึกหัดตนให้เป็นคนที่มีมุทิตา เพราะจะสร้างไมตรีและผูกมิตรกับผู้อื่นได้ง่ายและลึกซึ้ง
๔. อุเบกขา : การรู้จักวางเฉย หมายถึง การวางใจเป็นกลางเพราะพิจารณาเห็นว่า ใครทำดีย่อมได้ดี ใครทำชั่วย่อมได้ชั่ว ตามกฎแห่งกรรม คือ ใครทำสิ่งใดไว้สิ่งนั้นย่อมตอบสนองคืนบุคคลผู้กระทำ เมื่อเราเห็นใครได้รับผลกรรมในทางที่เป็นโทษเราก็ไม่ควรดีใจหรือคิดซ้ำเติมเขาในเรื่องที่เกิดขึ้น เราควรมีความปรารถนาดี คือพยายามช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ในลักษณะที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
“ พรหมวิหาร ๔ ” ต้องใช้ให้เป็น
“ถ้าหากว่าความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไปกระทบเสียต่อธรรม คุณจะต้องหยุด เมตตาออกไปไม่ได้ กรุณาออกไปไม่ได้ มุทิตาออกไปไม่ได้ ไปขวนขวายไม่ได้ ต้องหยุดขวนขวาย การหยุดขวนขวายนี้ เรียกว่า “เฉย” คือ เอาธรรมไว้ ไม่เอาคน หรือวางคนไว้ ว่าไปตามธรรม นี่คือ “อุเบกขา”
“อุเบกขา” ก็คือหยุดการขวนขวายที่จะไปช่วยคนนั้น เพื่ออะไร เพื่อไม่ก้าวก่ายแทรกแซงกฎแห่งธรรม ทั้งกฎธรรมชาติ และกฎหมาย เราต้องหยุดต้องงด แล้วให้กฎออกมาแสดงตัว
เราไม่แทรกแซงเพื่ออะไร เพื่อให้กฎธรรมชาติและกฎหมายนั้นแสดงผลออกมา ถ้ามนุษย์เข้าไปขัดขวางกฎแห่งธรรม สังคมก็เรรวนหมด จึงต้องให้ธรรมเข้ามาจัดการ
หมายความว่า กติกา กฎเกณฑ์ หลักการ ความถูกต้องชอบธรรมเป็นอย่างไร ก็ปฏิบัติไปตามนั้น นี่คือข้อ ๔ ที่เรียกว่า “อุเบกขา”…
พรหมวิหาร ๔ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา สามข้อแรกรักษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ระหว่างมนุษย์ แต่ข้อที่สี่รักษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรม ซึ่งก็คือรักษาฐานของสังคมไว้
ฉะนั้น ถ้ามนุษย์อยู่ในหลักการ ๔ ข้อนี้ ก็จะมีดุลยภาพให้สังคมอยู่ในความพอดี
ยามอยู่ดี ไม่มีอะไรผิด ก็ช่วยกันอย่างดี มีน้ำใจ แต่คุณต้องรับผิดชอบต่อความจริง คือ ต่อธรรม ต่อกฎเกณฑ์กติกา ไม่ให้หลักการเสีย ถ้าเสียเมื่อไร ก็หยุด ไม่เอาด้วย ว่าไปตามกฎแห่งธรรม”
สามข้อแรกใช้ความรู้สึกมาก เมตตา กรุณา มุทิตา เป็นเรื่องของความรู้สึกที่ดี ไม่ต้องการ “ปัญญา” มากนัก ปัญญาใช้บ้างนิดหน่อย
แต่ข้อที่สี่ เห็นได้ว่าปัญญาเป็นใหญ่ เพราะเราจะปฏิบัติข้อสี่ได้ เราต้องรู้ว่าอะไรเป็นความจริงถูกต้องดีงาม ธรรมเป็นอย่างไร กฎ กติกาว่าอย่างไร…”
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )
ที่มา : ธรรมนิพนธ์ “จะอยู่อย่างเป็นเหยื่อ หรือขึ้นเหนือไปนำเขา”
Leave a Reply