คิดอย่างไร-เขียนอย่างนั้น…ต่อวิวาทะ! คนวัดด้วยกัน “เจ้าคุณประสาร-สุรพศ”

“เปรียญสิบ” ชอบใจคำวิจารณ์ของ “สุรพศ ทวีศักดิ์” ที่ระบุว่า “ที่มองว่ามหาวิทยาลัยสงฆ์ในปัจจุบัน ไม่ปรากฏผลงานทางภูมิปัญญาพุทธที่สังคมรู้จักเลย ไม่มีนักวิชาการพุทธที่โดดเด่นที่มีบทบาทปัญญาชนสาธารณะนำเสนอพุทธธรรมเชิงก้าวหน้าร่วมอภิปรายปัญหาศีลธรรม สังคม การเมืองและอื่นๆ แม้แต่ปัญหาระบบโครงสร้างของพุทธศาสนากับรัฐที่ถูกคนรุ่นใหม่ตั้งคำถามมากขึ้นๆ ก็ไม่มีนักวิชาการพุทธ ทั้งพระและฆราวาสสามารถร่วมอภิปรายถกเถียงอย่างเป็นที่ยอมรับทางสาธารณะเลย..”

ในขณะที่ “เจ้าคุณประสาร” พระราชวัชรสารบัณฑิต ท่านอธิบายออกมาเป็น “ฉากๆ” ถือว่า “ถูกต้อง” แล้ว และก็อธิบายภายใน “ขอบเขต” ที่พระคุณเจ้ารับผิดชอบในมุมมองของ “เปรียญสิบ” เหมาะสมโดยประการทั้งปวงเช่นกัน

การ “วิวาทะ” ในเชิงคำถาม อันเป็น “เชิงวิชาการ” ระหว่าง “สุรพศ-เจ้าคุณประสาร” ถือว่าเป็นความสวยงามระหว่าง “คนวัด” ด้วยกัน และมองในแง่บวก “มหาวิทยาลัยสงฆ์” เองก็ได้ตอบคำถาม “สิ่งที่สังคมไทย” เขาสงสัยว่า..มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง ทำอะไรเพื่อสังคมไทยบ้าง ให้คุ้มค่าภาษีที่ประชาชนเสียให้ปีละไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท

ส่วนจะฟังขึ้นหรือไม่ขึ้น..อยู่ที่มุมมองว่ามองแบบมี “สติควบคู่ปัญญา” หรือมองแบบมี “อคติ” ควบคู่กับความโง่เขลา..บางครั้งเราต้องเชื่อสุภาษิตไทยบ้างว่า ซีซอให้ควายฟัง..ก็ไร้ประโยชน์

“เปรียญสิบ” เติบโตและเพาะสะสมความรู้มาจาก “มหาวิทยาลัยสงฆ์” ได้มาจากคณาจารย์ที่ร่วมกินข้าว “ก้นบาตร” กินข้าวชาวบ้านเหมือนกับ “สุรพศ” และ “เจ้าคุณประสาร”

หลังสึกออกมา “รับใช้สังคม” ไม่เคยประพฤติ “นอกรีตนอกรอย” ตั้งอยู่ใน “ศีลธรรมและกฎหมายบ้านเมือง”

กล้าบอกว่า ชาวบ้านเลี้ยงมา “ไม่เปลืองข้าวสุก” และ “คุ้มค่าภาษี” ที่ประเทศชาติมอบให้

คำถามในลักษณะที่ “สุรพศ ทวีศักดิ์” ถามนี่ มิใช่ “ครั้งแรก” ที่ถูกตั้งคำถาม ในสัมมนาเชิงวิชาการใน “มหาวิทยาลัยสงฆ์” หลายครั้ง

หลายคนก็ตั้งคำถามแบบนี้ว่า เวลาสังคมไทยต้องการ “ความชัดแจ้ง” ทางหลักธรรมพุทธศาสนา หรือจุดยืนทางจิตวิญญาณ ไฉน!! มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง เงียบดังป่าช้า

ครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกที่ “เจ้าคุณประสาร” กล้าถือธงนำ “ตอบ” ในขณะที่ “คณาจารย์” อื่น ๆ ทั้ง 2 สถาบัน “จำศีล” หมกอยู่ในถ้ำเหมือนเดิม

“เปรียญสิบ” เคยตั้งคำถามแม้กระทั่งว่า..มหาวิทยาลัยสงฆ์ยังเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์อยู่หรือไม่ คณะสงฆ์ยังเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณเป็นที่พึ่งของสังคมไทยได้อยู่อีกหรือไม่ หรือแม้กระทั่งที่ว่า มหาเถรสมาคมจำเป็นอยู่อีกหรือไม่ รวมทั้งแนวคิดของ “สุรพศ ทวีศักดิ์”

“เปรียญสิบ” ก็เห็นด้วยในการแยก “ศาสนาออกจากรัฐ” แต่ไม่เห็นด้วยที่จะแยก “คณะสงฆ์ออกจากสถาบันกษัตริย์” อันนี้ “จุดยืน” มั่นคงเสมอมา แม้ตอนปฎิรูปกิจการพระพุทธศาสนา แลกเปลี่ยนความคิดกับ “เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง-ไพบูลย์ นิติตะวัน” ก็แสดงจุดยืนแบบนี้

ความจริง “มหาวิทยาลัยสงฆ์” และ “สถาบันสงฆ์” ได้ศิษย์เก่าอย่าง “สุรพศ ทวีศักดิ์” ออกมาโลดแล่น เปิดโลกทัศน์ใหม่ ๆ ให้กับ “สังคมไทย” ถือว่า คุ้มค่า ทั้ง “ข้าวชาวบ้าน” และ “ภาษี” จากประชาชนที่มอบให้มหาวิทยาลัยสงฆ์คือ “มมร” ถิ่นเพาะปฐมความรู้สู่โลกกว้างของ “สุรพศ ทวีศักดิ์”

เพียงแต่ “มหาวิทยาลัยสงฆ์”…“ใกล้เกลือกินด่าง”

ซึ่งเป็นไปดังที่ “อุทิส ศิริวรรณ” ว่าไว้ มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง ไม่นิยมใช้ศิษย์เก่า ทำงาน และ ศิษย์เก่าจำพวกหัวแข็งไม่สยบต่อกรอบแบบพวกเราก็ “เหินห่าง” จากสถาบันที่เพาะเลี้ยงพวกเรามาเช่นกัน

มหาวิทยาลัยสงฆ์ยุคนี้!! ก้าวหน้าไปไกลมาก ทั้งในด้านวัตถุ ความรู้ และเครือข่าย รวมทั้ง การต่างประเทศ ไม่เหมือนยุคที่ “เปรียญสิบ -สุรพศ” เคยอาศัยหนีความยากไร้ ไร้ค่าเทอม ไร้ค่าหอ มาเพาะหาความรู้เลี้ยงชีพได้ ดังสมัยก่อน

มหาวิทยาลัยสงฆ์ยุคนี้!! “มมร” ไม่รู้ แต่สำหรับ “มจร” มี หลายประเทศ..อยากจะเชื่อมสัมพันธ์กับเรา คณะสงฆ์หลายประเทศต้องการนำไปเป็นแบบอย่าง..แต่ทำไม่ได้ เพราะประเทศเหล่านั้น ขาดทั้งกำลังคน กำลังทรัพย์และการสนับสนุนจากรัฐบาล..

ความเจริญก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยสงฆ์ดังที่ว่ามานี้..สังคมภายนอกส่วนใหญ่ หากไม่ติดตามข่าวสารจริง ๆ น้อยมากจะทราบ เพราะคณะสงฆ์ “อ่อนประชาสัมพันธ์” ในภาพรวม แต่เก่งประชาสัมพันธ์ “ยกตน” พีอาร์สำนักตนเอง  ยิ่งเจอจำพวกคนไทยยุคนี้ อ่านมาก รู้มาก เก่งแต่ในคอมพิวเตอร์ แล้ว “เฟ้อฝัน” กลายเป็น “นักอุดมคติ” สวนทางกับ..โลกความจริง!! อย่าว่าแต่ “มหาวิทยาลัยสงฆ์” จะเจอตั้งคำถามแบบนี้

ดีไม่ดีอนาคต “สถาบันศาสนา” อาจเจอคำถามว่า ศาสนาจำเป็นต่อสังคมไทยอยู่อีกหรือไม่..คณะสงฆ์มีประโยชน์อะไรต่อสังคมบ้าง.. สำหรับ “เปรียญสิบ” แน่นอน “จำเป็น” และ พระสงฆ์มีประโยชน์!!

คำถามเหล่านี้.. สถาบันสงฆ์ มหาเถรสมาคม มหาวิทยาลัยสงฆ์ ไม่เพียงแค่ “ตั้งหลัก” เพื่อตอบเท่านั้น แต่ต้องทำให้สังคมไทยเห็นว่าสถาบันสงฆ์ “จำเป็น” ต่อสังคมไทยและประเทศชาติ คุ้มค่ากับกินอยู่ฟรี

นั่นคือ..อันแรก วิถีชีวิตพระภิกษุต้อง “พอเพียง” ยึดหลักพระธรรมวินัย ไม่ให้สังคมมองว่าบวชแล้ว “ร่ำรวย” วัดควรเป็นสถานที่ “ปลดทุกข์” ทางใจให้โลกปัจจุบันได้ ขณะเดียวกันสถาบันสงฆ์ต้องรู้จัก “พีอาร์” โครงการต่างๆ  ที่ทำอยู่หลายโครงการที่มีประโยชน์ทั้งต่อคณะสงฆ์และประเทศชาติบ้าง เช่น โครงการศีล 5 วัดประชารัฐสร้างสุข อปต. ศูนย์ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในชุมชน หรือแม้กระทั้งธรรมนูญพระสงฆ์ที่ปัจจุบันกำลังจัดตั้งสถานที่ “พักฟื้นช่วงสุดท้าย” ของผู้ป่วยติดเตียง ผู้ตกทุกข์ได้ยาก

หมดยุควางเฉย นิ่ง ไม่สนใจ ทำตัวเป็น พระโพธิสัตว์ก็ไม่ใช่ ไปนิพพานก็ไม่เชิง การปล่อยให้สถานการณ์  “ชั่วช่างชี-ดีช่างสงฆ์”..มีแต่ทำลายพระพุทธศาสนา!!

………………

คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง

โดย…“เปรียญสิบ”: [email protected]

Leave a Reply