คณะสงฆ์ต้องกู้ภาพลักษณ์ “เอาแต่ได้”

ตอนที่แล้วรับปากไว้ว่าจะเล่าเรื่องตาม ปลัดกระทรวงมหาดไทย คุณสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ไปร่วมประชุมคณะสงฆ์จังหวัดเชียงราย เพื่อไปกระชับ “MOU” ที่กระทรวงมหาดไทยไปลงนามไว้กับมหาเถรสมาคม

การเดินทางแม้จะไปทำข่าวเรื่องเกี่ยวกับคณะสงฆ์ เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา แต่การอำนวยความสะดวกการเดินทางทั้งหมด “ปลัดเก่ง” คุณสุทธิพงษ์ จุลเจริญ  เป็นเจ้าภาพ มิใช่คณะสงฆ์เป็นเจ้าภาพ ที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูด เพราะฟังตอนประชุมเจ้าคณะจังหวัดเชียงรายบ่นงุบงิบ ๆ เรื่อง การประชาสัมพันธ์ ทำนองคณะสงฆ์ทำงานมาก แต่ไม่ค่อยมีสื่อช่วยเผยแพร่ผลงานคณะสงฆ์

แหม่!! เรื่องนี้ต้องถึงหู พระเทพเวที เจ้าคณะภาค 6  หน่อย ให้ไปบอกหน่อยว่า “ทุกอย่าง” มีค่าใช้จ่าย ชีวิตโยมมิใช่แบบพระ ทุกอย่างมี  “ต้นทุน”

สำหรับประเด็นสำคัญของการทำ “บันทึกความร่วมมือ” หรือ MOU” ระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับคณะสงฆ์ก็เพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” โดยใช้หลัก “บวร” ในการทำงานร่วมกัน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งเรื่อง 5 ส. เรื่องจิตอาสา รวมทั้งการสร้างความรู้รักสามัคคีในชุมชนหมู่บ้าน

คณะสงฆ์อย่ามองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเฉพาะฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ นำโดย สมเด็จพระมหาธีราจารย์อย่างเดียว  ฝ่ายปกครอง ฝ่ายเผยแแผ่ ฝ่ายสาธารณูปการ ควรใช้โอกาสนี้ มาช่วยกันขับเคลื่อนฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ด้วย

โดยเฉพาะฝ่ายปกครอง ต้องสั่งการเป็นลายลักษณ์อักษรให้พระระดับในพื้นที่เข้ามีส่วนร่วมด้วย เพราะมีเสียงกระซิบว่า บางพื้นที่ “เกียร์ว่าง”

ทั้ง ๆ ที่งานสาธารณสงเคราะห์นี้คืองาน “กอบกู้” ชื่อเสียงของคณะสงฆ์  ที่สังคมคนรุ่นใหม่มองว่าเป็น “จำพวกเอาแต่ได้”  หรือบางคนมองว่าพระภิกษุสามเณรเราเป็น “กาฝากสังคม”  ก็มี

“เปรียญสิบ”  ขึ้นไปจังหวัดเชียงรายคราวนี้ได้พูดคุยกับ พระภิกษุ 2-3 รูป เป็น “พระชาวบ้าน” หรือหากจะว่าตรง ๆ ก็คือ “พระสาย NGO” ดูแลป่าไม้ สิ่งแวดล้อมการเป็นอยู่ของชาวบ้าน รวมทั้ง ชุมชนหมู่บ้านที่รัฐจัดสรรที่ดินให้

ยอมรับไม่เคย “รับรู้” มาก่อนว่าสถาบันสงฆ์เรามีพระที่ทำงานดูแลป่าไม้เป็นหมื่นไร่ พันไร่ ทั้งบริหารจัดการที่ดินให้ชาวบ้านได้เข้ามาพึ่งพาอีกนับร้อยราย

เคยรับรู้บทบาทพระสงฆ์เราแบบนี้ แต่ในหนังสือ ซึ่งเป็นเรื่องอดีต!!

ฟังการบรรยายของพระในพื้นที่บ้าง ของพระพิพัฒน์วชิโรภาส ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทยบ้าง ที่บินตรงมาจากอุบลราชธานี เล่าฉายภาพการทำงานเพื่อประชาชนแล้วเหนื่อยแทน แต่คิดไปอีกที ท่านเหล่านี้คงบำเพ็ญตนเป็น “พระโพธิสัตว์” มากกว่าบำเพ็ญตนเพื่อไปสู่ “นิพพาน”  เป็นผู้ให้อย่างแท้จริง !! เป็นพระกลุ่มเล็ก ๆที่กู้ภาพลักษณ์เอาแต่ได้อย่างแท้จริง!!

ไม่เหมือนพระสงฆ์ในเมืองใหญ่ ๆ  ที่ส่วนใหญ่มุ่งบำเพ็ญตนไปสู่แต่ “พระนิพพาน” ไม่มีเวลาไปดูแลทุกข์สุขของชาวบ้าน ซึ่งก็น่าอนุโมทนาอีกแบบ หากทำจริง!!

ไปคราวนี้ได้เห็นศักยภาพของคำว่า “ช้างเหยียบนา พระยาเหยียบเมือง” ได้เห็นบทบาทของปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ช่วยคณะสงฆ์อย่างจริงจัง ได้เห็นบทบาทของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่รู้เรื่องคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี เช่น ชื่อ  พระพิพัฒน์วชิโรภาส เจ้าหน้าที่แยกออกท่านก็บอกให้ที่ประชุมทราบ หรือ ตอนประชุมพระสงฆ์นั่งอยู่ด้านล่างจะให้ท่านขึ้นบนเวทีท่านก็ไม่ยอม บอกให้จัดใหม่ยกโพเดียมลงด้านล่าง เพราะฆราวาสไปพูดยืนค้ำหัว สูงกว่าพระไม่ได้ ดังนี้เป็นต้น

คิด ๆ ดูแล้ว ความเอาใจใส่ในกิจการพระพุทธศาสนา กิจการคณะสงฆ์ ของปลัดกระทรวงมหาดไทยท่านนี้ เสียดายว่าพระสงฆ์ส่วนมากยังไม่ตื่น ไม่รุก ไม่เชื่อมให้เกิดงานระดับนโยบายสาธารณะ

แบบนี้อย่าโทษศาสนาอื่นที่เขาเห็นโอกาส??

และสุดท้าย..”เปรียญสิบ”เชื่อว่าการดำเนินงานด้านสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์แบบนี้จะกอบภาพลักษณ์จะกอบกู้ความศรัทธาของคณะสงฆ์ที่คนส่วนหนึ่งตราหน้าว่า….เอาแต่ได้

กลับคืนมาได้ ไม่มากก็น้อย??

…………………………

คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง

โดย….“เปรียญสิบ” : [email protected]

Leave a Reply