วันที่ 21 ก.ย.2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยทางพระพุทธศาสนา มีปรัชญาของมหาวิทยาลัยว่า “ศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนา บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ พัฒนาจิตใจและสังคม” มีพันธกิจในการผลิตบัณฑิต วิจัยและพัฒนา ส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการวิชาการแก่สังคมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมในด้านการจัดการศึกษาตามหลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาพระพุทธศาสนามีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบัณฑิตให้มีความรอบรู้และเชี่ยวชาญในพระพุทธศาสนา สามารถวิเคราะห์ วิพากษ์และวิจัยวิชาการด้านพระพุทธศาสนาได้อย่างแตกฉาน
เพื่อผลิตบัณฑิตให้มีคุณธรรมจริยธรรม เป็นผู้นำสังคมด้านจิตใจและปัญญา และเพื่อผลิตบัณฑิตให้สามารถนำพุทธธรรมไปประยุกต์ใช้ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและพัฒนาชีวิตและสังคม นอกจากนี้ยังมุ่งพัฒนานิสิตให้มีคุณสมบัติที่พึงประสงค์ 9 ประการ ได้แก่มีปฏิปทาน่าเลื่อมใส รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงทางสังคมมีศรัทธาอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนามีความสามารถในการแก้ปัญหา มีความใฝ่รู้ใฝ่คิด มีน้ำใจเสียสละเพื่อส่วนรวม มีโลกทัศน์กว้างไกล มีความเป็นผู้นำด้านจิตใจและปัญญาและมีความมุ่งมั่นพัฒนาตนให้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมจริยธรรม
วิทยาเขตสุรินทร์เป็นส่วนงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในเขตอีสานใต้ ได้เปิดดำเนินการเรียนการสอนหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาพระพุทธศาสนา เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังที่กล่าวมา จึงจัดกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนานิสิต ให้นิสิตที่กำลังศึกษาระดับปริญญาโท ในภาคการศึกษาที่ 1/2563 เดินทางไปศึกษาวัฒนธรรมพุทธในอารยธรรมขอม-ทวารวดีอีสานใต้ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ-ประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน2563 โดยมีความคาดหวังว่านิสิตจักได้รับประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับวัฒนธรรมพุทธศาสนาในพื้นที่อีสานใต้ตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นด้านประวัติศาสตร์ ปรัชญา ความเชื่อ การเมือง การศึกษา บทบาท คุณค่า อิทธิพล ตลอดถึงวัฒนธรรมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวพุทธในแหล่งข้างเคียงและสามารถนำประสบการณ์ดังกล่าวมาวิเคราะห์ สังเคราะห์และประเมินได้อย่างลึกซึ้ง อันจะส่งผลให้พระพุทธศาสนามีความเข้มแข็งมั่นคงสืบไป
ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้นิสิตได้ศึกษาวัฒนธรรมพุทธในอารยธรรมขอม ทวารวดีอีสานใต้ เพื่อให้นิสิตได้เห็นแบบอย่างองค์กรชุมชนที่นำหลักพุทธธรรมไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ในสังคม บนพื้นฐานอุดมคติพุทธปรัชญา และเพื่อบูรณาการรายวิชาและการส่งเสริมพัฒนานิสิตให้บรรลุวัตถุประสงค์การเรียนการสอนที่หลักสูตรกำหนด
ลักษณะกิจกรรม สิกขาจาริกที่โรงเรียนสิงห์วงศ์ ตำบลหนองไทร อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ วัดเขาอังคาร ตั้งอยู่บนเขาพระอังคาร บ้านสายบัว หมู่ที่ 14 ตำบลเจริญสุขอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ปราสาทเมืองต่ำ ปราสาทอโรคยาศาลาบ้านโคกเมือง และอัคคิศาลาบ้านบุ จังหวัดบุรีรัมย์ ฟังการบรรยายจากผู้ทรงคุณวุฒิและเสวนาแลกเปลี่ยนทรรศนะระหว่างคณาจารย์และนิสิต
สำหรับโรงเรียนสิงห์วงศ์นั้นดำเนินการก่อสร้างและการขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียน โดยพระครูปริยัติภัทรคุณ เจ้าอาวาสวัดสิงห์วงศ์ เจ้าคณะอำเภอนางรอง ได้ดำเนินการขออนุญาตใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์ ป่าชุมชนเชิงเขาอังคาร (ป่าช้าเก่า) หมู่ที่ 11 บ้านหนองทะยูง ตำบลหนองไทร เนื้อที่จำนวน 81 ไร่ ซึ่งที่ดินตั้งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ โดยได้รับความเห็นชอบจากสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไทร และได้รับอนุเคราะห์จากสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ อนุญาตให้วัดสิงห์วงศ์ใช้ประโยชน์ในที่ดิน เพื่อดำเนินการจัดสร้างศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาและวิชาสามัญสำหรับพระภิกษุสามเณร เด็ก เยาวชนทั่วไป และทางวัดได้จัดสร้างอาคารเรียนโรงเรียนพระปริยัติธรรมและโรงเรียนการกุศลขึ้น เพื่อเป็นสถานที่ฝึกอบรม พัฒนาเด็ก เยาวชนให้เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมจริยธรรม สัมมาปฏิบัติพร้อมกับจัดสร้างสวนธรรมสำหรับพุทธศาสนิกชนผู้ปฏิบัติธรรมทุกคน
เมื่อสร้างอาคารเรียนเสร็จ ได้ดำเนินการขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา แต่ยังไม่สามารถขอรับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนาได้ จึงได้ดำเนินการขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียนเอกชนในระบบ และได้รับอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนเอกชนในระบบ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 โดยมีนางประภาวัลย์ สิงหภิวัฒน์ เป็นผู้รับใบอนุญาต และมีวัตถุประสงค์ในการขออนุญาตจัดตั้งมีลักษณะเป็นโรงเรียนการกุศล เพื่อจัดการศึกษาสงเคราะห์แก่เด็กและเยาวชน บุตรหลานผู้มีรายได้น้อย เพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรม แก่สังคม และเพื่อสนองกิจพระพุทธศาสนาด้านการศึกษาสงเคราะห์
การบริหารจัดการของโรงเรียน ในวาระเริ่มแรกได้เชิญ นางสาวสมมารถ รอดจากเข็ญ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน และ นางระวีวรรณ บุญไพศาลบันดาล เป็นผู้จัดการ รวมถึงคณะกรรมการบริหารและคณะครูได้ดำเนินการบริหารจัดการมาโดยลำดับ ในปีการศึกษา 2561 ดสิงห์วงศ์ได้ดำเนินการ ขอจดทะเบียนมูลนิธิ และได้รับการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิวัดสิงห์วงศ์ขึ้นเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2561 จึงได้ขอเปลี่ยนแปลงผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนจากนางประภาวัลย์ สิงหภิวัฒน์ เป็นมูลนิธิวัดสิงห์วงศ์ โดยมี พระครูปริยัติภัทรคุณ เป็นผู้ทำการแทนผู้รับใบอนุญาต มีคณะกรรมการบริหารและ คณะครูได้ดำเนินการบริหารจัดการมาถึงปัจจุบัน
มีการบูรณาการรายวิชาอาทิ นิเทศศาสตร์ในพระไตรปิฎก เมื่อศึกษาศึกษาความหมาย และขอบข่ายของนิเทศศาสตร์ คำสอนในพระไตรปิฎกที่เกี่ยวกับหลักการ รูปแบบวิธีการสื่อคำสอนของพระพุทธเจ้า และสาวก และจริยธรรมกับการสื่อสาร เรียบร้อยแล้ว ลงพื้นที่ศึกษา 1. ข้อมูลทั่วไปด้านการสื่อสารที่ปรากฎในสถานที่แห่งนั้น 2.ต้นเรื่องของการสื่อสารทางธรรมที่ปรากฏในสถานที่ แห่งนั้นคืออะไร 3. วัตถุประสงค์หลักของการสื่อสารทางธรรมในสถานที่ แห่งนั้นคืออะไร 4.วิธีการหรือกระบวนการในการสื่อสารทางธรรมในสถานที่แห่งนั้นคืออะไร
โดยมีวิธีการศึกษาคือ 1. ให้นิสิตใช้วิธีการศึกษาจากเอกสารวิชาการที่เกี่ยวข้อง และใช้วิธีการศึกษาด้วยวิธีการสังเกต การสอบถาม การสัมภาษณ์ และการร่วมเสวนา ทั้งภาคสนาม และระหว่างการเดินทาง จากประเด็นในการศึกษา ทั้งนี้ ต้องครบทั้ง 4 ประเด็นที่กำหนด ตามหัวข้อที่ได้รับมอบหมาย 2. ให้นิสิตเขียนสรุปสาระสำคัญใน 4 ประเด็นหลัก จำนวน 1-5 หน้ากระดาษ A4 3.ให้นิสิตถ่ายภาพสถานที่ ตามที่ได้รับมอบหมายพร้อมกับรูปภาพของนิสิต และแทรกในเนื้อหางานจำนวน 3 ภาพด้วย 4.จัดส่งทางอีเมล์
Leave a Reply